เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีการศึกษา 2561 โดยมีเป้าหมายคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย หรือเทียบเท่า ปีการศึกษา 2560 เข้าศึกษาหลักสูตรวิชาชีพครูระดับปริญญาตรี (5 ปี) ใน 164 หลักสูตร จากสถาบันผลิตครู 44 แห่ง เมื่อจบตามเกณฑ์ที่กำหนด จะส่งชื่อให้หน่วยงานผู้ใช้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย จำนวน 4,195 คน โดยแบ่งตามอัตราที่จะใช้ในการบรรจุ ดังนี้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3,935 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 161 คน กรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (กศน.) 10 คน การคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ดำเนินการตามระบบ TCAS รอบที่ 2 โดยใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ชั้น ม.6 และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) กรณีจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ผลการทดสอบความถนัดทั่้วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ซึ่งแต่ละสาขาวิชาจะกำหนดค่าน้ำหนักผลการทดสอบไม่เท่ากัน นอกจากนี้ สาขาดนตรีไทย ดนตรีสากล ดนตรีศึกษา นาฏศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะ และพลศึกษา มีการสอบภาคปฏิบัติด้วย
ดร.สุภัทรกล่าวต่อว่า ส่วนการสมัครเข้าร่วมโครงการ จะรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต https://muakru.thaijobjob.com ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 29 มีนาคม เวลา 23.59 น.ไม่เว้นวันหยุดราชการ ค่าสมัครสอบคนละ 180 บาท ชำระเงินได้ที่เคาน์เตอร์ บมจ.กรุงไทยทุกสาขา เมื่อสมัครเสร็จให้ส่งหลักฐานการสมัครด้วยตนเองที่ สกอ.หรือส่งทางไปรษณีย์ เลขที่ 328 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 จากนั้น สกอ.จะประสานสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นำคะแนนโอเน็ต, V-NET, GAT และ PAT ของผู้สมัครมาประมวลผล และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกวันที่ 20 เมษายน
ดร.สุภัทรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผู้จบมัธยมปลาย หรือเทียบเท่า ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม ไม่รวมคะแนนโอเน็ต 6 ภาคการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 3.00 ตามใบ ปพ.1 รวมทั้ง ต้องมีภูมิลำเนาตามสำเนาทะเบียนบ้านตรงกับสำนักงานเขตพื้นที่/ วิทยาลัย หรือสถานศึกษาสังกัด สอศ./สำนักงาน กศน.จังหวัด/ พื้นที่กลุ่มเขตที่จะบรรจุใน กทม.โดยต้องเลือกสาขาวิชาที่ต้องการจะศึกษา พื้นที่ที่จะบรรจุให้ตรงกับภูมิลำเนาของตนเอง และสถาบันอุดมศึกษาที่โครงการกำหนด สำหรับผลคะแนนภาษาอังกฤษ ไม่ใช้ในการรับสมัคร แต่เป็นเงื่อนไขสำหรับการส่งรายชื่อให้กับหน่วยงานต้นสังกัดก่อนการบรรจุเข้ารับราชการครู ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษเมื่อจบตามกรอบมาตรฐาน Common European Framework of Reference (CEFR) โดยวิชาเอกภาษาอังกฤษต้องมีทักษะภาษาอังกฤษระดับ C1 และวิชาเอกอื่น ต้องมีภาษาอังกฤษระดับ B1 โดยมีผลการสอบไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่ 1 กันยายน 2566 ถ้าไม่มีผลคะแนนภาษาอังกฤษ สกอ.จะตัดสิทธิไม่ให้บรรจุเข้ารับราชการครู ขอให้อ่านเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน ผู้ผ่านการคัดเลือกแสดงผลคะแนนของแบบทดสอบที่ได้มาตรฐาน ดังนี้
1.วิชาเอกภาษาอังกฤษ ต้องมีผลการทดสอบ TOEFL ITP ไม่ต่ำกว่า 550 หรือ TOEFL IBT ไม่ต่ำกว่า 79 หรือ IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.5 หรือ TOEIC ไม่ต่ำกว่า 700 หรือ CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 99 หรือแบบทดสอบอื่นๆ ที่มีการเทียบเคียงทักษะภาษาอังกฤษระดับ C1 ตามกรอบมาตรฐาน CEFR แล้ว 2.วิชาเอกอื่น ต้องมีผลการทดสอบ TOEFL ITP ไม่ต่ำกว่า 473 หรือ TOEFL IBT ไม่ต่ำกว่า 52 หรือ IELTS ไม่ต่ำกว่า 4 หรือ TOEIC ไม่ต่ำกว่า 500 หรือ CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 56 หรือแบบทดสอบอื่นๆ ที่มีการเทียบเคียงทักษะภาษาอังกฤษระดับ B1 ตามกรอบมาตรฐาน CEFR แล้ว
“นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่พิเศษ ตามที่ สกอ.จะกำหนดต่อไปในภายหลัง ขอรับทุนการศึกษาได้อีก 210 ทุน ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ขอให้ศึกษาจากประกาศการรับสมัครของ สกอ.เท่านั้น และควรทำเข้าใจอย่างละเอียด เพราะการสมัครเข้าร่วมโครงการจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก อีกทั้ง มีระยะเวลาในการสมัครค่อนข้างสั้น” ดร.สุภัทร กล่าว