อจ.ศิลปากร โพสต์จ่อถูกยุบภาควิชาปรัชญา ลดความสำคัญสายมนุษยศาสตร์-อักษรฯ

เมื่อวันที่ 20  มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Komkrit Tul Uitekkeng เปิดเผยว่า อีกไม่นาน… ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากร จะถูกยุบลงเป็นสาขาวิชา นี่เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งคงไม่ได้แสดงให้เห็นเพียงแค่การการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยฯ แต่แสดงถึงความพยายามจะลดความสำคัญของวิชาการสายมนุษยศาสตร์ – อักษรศาสตร์ลงจนหายไปในที่สุด การยุบหรือลดสถานะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสถาบันอื่นๆ แต่เราไม่เคยเรียนรู้จากประสบการณ์ของที่อื่นๆเลย ว่าจะเสียอะไรหรือได้อะไรมากกว่ากัน…

ปล. ไม่ใช่แค่ภาคปรัชญา แต่ทุกภาควิชาในคณะฯ และกำลังดำเนินการไปทุกๆคณะวิชาฯ

ทั้งนี้ นายคมกฤช ยังได้โพสต์รายละเอียดอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมการเพื่อยุบภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากร ให้เป็นเพียงสาขาวิชาเพิ่มเติมด้วยว่า

จุดเริ่มต้นของการถอยหลังลงคลอง…

Advertisement

มหาวิทยาลัยศิลปากรออกระเบียบ เรื่องการจัดการส่วนงานภายใน และการยุบเลิก ปีพ.ศ.2561 โดยตั้งเกณฑ์ว่า หากจะขอจัดตั้งเป็นภาควิชา ต้องมีเกณฑ์ดังนี้

1.มีอาจารย์มากกว่า สิบคน

2.มีหลักสูตรสองหลักสูตรขึ้นไป คือป.ตรีหนึ่ง ป.โทหนึ่ง

Advertisement

3.เลี้ยงตัวเองได้ และมีอาคารสถานที่เอง

หากไม่เข้าเกณฑ์ อาจลดลงเป็นสาขาวิชา ซึ่งมีเพียงหนึ่งหลักสูตรและจำนวนอาจารย์ตามเกณฑ์ สกอ.
บังคับใช้ และให้ดำเนินการให้เสร็จในปีนี้

เป็น “ภาควิชา” กับเป็น “สาขาวิชา ต่างกันยังไง ?

คำพูดสวยงามของผู้บริหารว่าไม่ต่างกัน แถมเป็นสาขาจะบริหารจัดการได้สะดวก ลดภาระ ซึ่งไม่จริง เพราะ…

1.ภาควิชามีสถานะเป็นหน่วยงาน แต่สาขาไม่มีสถานะเป็นหน่วยงาน ซึ่งแปลว่าความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ อำนาจในการต่อรอง โต้แย้ง จะลดลงมาก ด้วยสถานภาพที่ต่างกัน ซึ่งเกี่ยวพันกับเสรีภาพทางวิชาการด้วย

2.สาขาวิชาขึ้นตรงต่อคณะฯ นั่นหมายความว่า คณะสามารถเข้ามาแทรกแซงหรือจัดการได้ง่ายขึ้น

3.การ “ยุบเลิก”สาขาวิชาสามารถทำได้ง่าย เพราะขั้นตอนไม่ยาก ไม่ต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย ในทางกลับกัน หากประสงค์จะจัดตั้งภาควิชาจะทำได้ยากกว่าเพราะต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย เท่ากับสกัดการเกิดขึ้นของหน่วยงานไปในตัว

4.ส่วนการยุบเลิกภาควิชานั้นก็ทำได้ยากกว่าเช่นกัน ซึ่งแปลว่าการเป็นสาขาวิชา(ซึ่งถูกยุบง่าย)เปิดโอกาสเสี่ยงในการยุบ “ศาสตร์”นั้น แต่การคงอยู่ของภาควิชาเท่ากับรักษาการคงอยู่ของ “ศาสตร์” ในมหาวิทยาลัยไปด้วย

เช่น ศาสตร์ทางปรัชญาอยู่ในหลักสูตรของภาควิชาฯ แต่หากภาควิชาฯถูกยุบลงเป็นสาขาและไม่มีจำนวนอาจารย์เพิ่ม หลักสูตรก็จะโดนยกเลิกและศาสตร์ทางปรัชญาที่ถูกสอนในมหาวิทยาลัยจะค่อยๆลดลงจนหมด

5.หัวหน้าภาควิชา มีหลักเกณฑ์ในการตั้ง และมีการสรรหาตามระบบ แต่หัวหน้าสาขาไม่มีกลไก ซึ่งผู้บริหารอาจเลือกคนตามความต้องการของตัวเองได้ และขึ้นตรงกับผู้บริหารคณะ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในทางธรรมาภิบาลได้ เช่นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

6.หัวหน้าภาควิชาฯเป็นกรรมการบริหารคณะฯโดยตำแหน่ง แต่เมื่อภาควิชาถูกยุบลงเป็นสาขา ตำแหน่งกรรมการประจำคณะจะเปลี่ยน นั่นแปลว่าการบริหารจัดการคณะจะเปลี่ยนไปและอาจเกิดปัญหาในแง่ธรรมาภิบาลได้ เช่นแนวนโยบายของคณะที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากอาจมีการเลือกเฉพาะคนของตัว เพราะตัวแทนภาควิชาโดยตำแหน่งไม่มีอยู่ในกรรมการคณะ

7.การแบ่งเป็นภาควิชา เป็นการแบ่งที่มีลักษณะ “สากล” กล่าวคือ มหาวิทยาลัยลัยส่วนใหญ่ในโลกใช้กัน แต่การลดลงเป็นสาขาวิชา นอกจากไม่เป็นสากลแล้ว อาจเกิดปัญหาในกรณีการทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยอื่นๆได้ คือไม่มีความสอดคล้องกัน

8.ที่ว่าการยุบลงเป็นสาขาภาระจะลดลงเป็นเรื่องไม่จริง เพราะการทำงานยังคงเดิม เช่น สาขาก็ยังคงต้องจัดทำรายงานประจำปี เพียงแต่ไม่ต้องส่งถึงสภามหาวิทยาลัยเหมือนภาควิชา ต้องโดนประเมินเหมือนกัน ส่วนการจัดทำหลักสูตรข้ามสาขา ก็เป็นไปได้ยากด้วยเกณฑ์จากสกอ.ในเรื่องคุณวุฒิอาจารย์ อีกทั้ง ค่าตอบแทนของภาควิชาฯซึ่งโดยมากเป็นงบประมาณแผ่นดินจัดสรรโดยมหาวิทยาลัย ในคณะที่หัวหน้าสาขาวิชาเป้นงบรายได้ของคณะ

10 .อธิการบดีเป็นคนพูดเองว่า เกณฑ์ในการเป็นภาคฯอิงจาก “คณะสายวิทยาศาสตร์” ซึ่งมีธรรมชาติต่างจากฝั่งศิลปะและมนุษยศาสตร์(อักษรศาสตร์)ตั้งแต่แรก เช่น ทางฝั่งนั้นมีการจัดแบ่งการบริหารเป็นส่วนๆแต่ต้น แต่ทางอักษรศาสตร์ใช้ทรัพยากรส่วนกลาง จำนวนนักศึกษา อาจารย์และหลักสูตรก็ต่างกัน จึงไม่ควรเอาเกณฑ์จากสาขาที่ต่างกันมาใช้ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติที่ต่างกัน และไม่เคยทำประชาพิจารณ์

11.อาจตีความได้ว่า เพื่อสนองนโยบายในการลดจำนวนหลักสูตรทางมนุษยศาสตร์หรือศิลปะให้น้อยลง เพราะสายวิชาเหล่านี้ “ไม่ทำเงิน” และไม่ตอบสนองนโยบายรัฐ ดังนั้นระเบียบการยุบเลิกอันนี้ ในระยะยาวคือการ “สลาย” ศาสตร์ทางมนุษย์ศาสตร์และศิลปะลงนั่นเอง(ซึ่งจะค่อยๆเกิดขึ้นช้าๆ) และนี่คือมหาวิทยาลัย “ศิลปากร” แปลว่า ผู้กระทำการสร้างสรรค์ศิลปะ?

12.แม้อธิการจะย้ำว่า จะเป็นภาควิชาหรือจะเป็นสาขาอยู่ที่คณะเองจะตัดสินใจ แต่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ตั้งเกณฑ์ ออกระเบียบซึ่งวางกลไกให้เกิดภาควิชาในฝั่งมนุษยศาสตร์และศิลปะได้ยาก เท่ากับมหาวิทยาลัยจงใจให้เกิดการยุบเลิกภาควิชาในทางฝั่งนี้ใช่หรือไม่

13.การยยุบเลิกเช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสุดท้ายต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการกลับคืนสภาพสู่ภาควิชาฯ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยและคณะไม่เคยพิจารณาบทเรียนเหล่านี้ก่อนการออกระเบียบบ้างหรือ?

13.ฝั่งคณะอักษรศาสตร์เองยิ่งน่าเศร้า เพราะแม้หากเลือกจะปฏิบัติตามระเบียบนี้ ยังมีทางเลือกหลายแบบ เช่น ให้ภาควิชาฯที่ยังสามารถเป็นภาควิชาตามเกณฑ์ได้ รักษาความเป็นภาควิชาฯไว้ ส่วนภาคที่อาจมีปัญหาก็อาจเลือกให้รวมกันแต่คงสถานะของภาควิชาไว้ได้ หรือต่อรองกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อขอระยะเวลาเพิ่ม (แต่ผู้บริหารคณะไม่คิดจะต่อรอง กลับสนองนโยบายอย่างเร่งด่วน) กลับเลือกการยุบลงเป็นสาขา และยังพยายามโน้มน้าวให้สาขาต่างๆยุบรวมลงเป็นสาขาเดียวกัน เช่น พยายามโน้มน้าวให้ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์รวมกัน หรือ สาขาอื่น โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ(อาจตีความได้ว่าเพื่อประหยัดงบฯ หรือสะดวกในการที่คณะจะเข้ามาจัดการได้ง่าย)

อีกทั้งการรวมสาขาวิชาก็มีปัญหาที่มองเห็นได้ทันที เช่น หากรวมสาขาที่มีอาจารย์น้อยและมากเข้าด้วยกัน ฝั่งที่มีอาจารย์มากกว่าก็ย่อมมีเสียงมากกว่าเสมอในการประชุมหรือลงมติ

14. นโยบายของมหาวิทยาลัยเช่นนี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อใครนอกจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อออกนอกระบบกลับพยายาม “รวมอำนาจ” ไปสู่ศูนย์กลางในการบริหาร ผิดหลักการของอุดมศึกษาที่ควรมีอิสระและกระจายอำนาจสู่ส่วนงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมิได้คำนึงถึงพันธกิจในการให้การศึกษามากกว่าการหากำไร อีกทั้งลืมรากเหง้าว่ามหาวิทยาลัยของตนเองมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร นี่คือเรื่องน่าอับอายที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image