สมเด็จพระเทพฯทรงเปิดงาน สัปดาห์หนังสือฯ พร้อมทอดพระเนตรบูธ สนพ.มติชน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14  พระราชทานพระราชดำรัส’ผู้รักการอ่านนับเป็นบุคคลผู้ใฝ่เรียนรู้อย่างแท้จริง’ พร้อมทั้งทรงเดินทอดพระเนตรบูธหนังสือ ซึ่งรวมถึงบูธของสำนักพิมพ์มติชนด้วย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “ความหวัง” โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะจัดงานเฝ้าฯรับเสด็จ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าภายในห้องบอลรูมประทับพระราชอาสน์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายหนังสือสูจิบัตร

นพ.ธีระเกียรติกราบบังคมทูลรายงานการจัดงานว่า การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 เพื่อประชาชนจะได้เลือกซื้อหนังสือมีคุณภาพ โดยจัดงานภายใต้แนวคิด “ความหวัง” หมายถึงความเป็นไปได้และความหวังในอนาคต เพื่อให้เกิดกำลังใจให้ความหวังถึงความสำเร็จ ความหวังถึงการต้องการให้ทุกคนสนใจการอ่าน แนวคิดนี้มาจากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ทรงเป็นนักอ่าน นักการทูตและอื่นๆ ทรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาด้านภาษา สิ่งแวดล้อม ปรัชญา วัฒนธรรม การจัดงานในปีนี้มีสำนักพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมออกงานกว่า 400 สำนักพิมพ์

ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูลนำผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ จำนวน 13 ราย และผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2559 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 91 ราย โดยมีหนังสือได้รับรางวัล 53 เรื่อง เป็นรางวัลดีเด่น 13 เรื่อง รางวัลชมเชย 40 เรื่อง โดยสำนักพิมพ์มติชนได้รับรางวัลหนังสือประเภทนวนิยาย รางวัลชมเชย ได้แก่เรื่อง ข้ามสมุทร ของนายวิษณุ เครืองาม และหนังสือรวมเรื่องสั้น รางวัลชมเชย ได้แก่เรื่อง ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ ของนายถนัด ธรรมแก้ว หรือนามปากกาภู กระดาษ

Advertisement

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเปิดงาน ความว่า ข้าพเจ้ายินดีที่มาเป็นประธานเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีปรากฏการณ์ความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีเกิดขึ้นตลอดเวลา การที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านรูปแบบต่างๆ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างบุคคล ชุมชนและภาคส่วนของสังคมได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น หนังสือและสื่อส่งเสริมการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะการอ่าน การใช้ภาษา ความคิด เป็นแรงจูงใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่จะพัฒนาตนเอง ผู้ที่รักการอ่านนับว่าเป็นบุคคลผู้ใฝ่เรียนรู้อย่างแท้จริง การส่งเสริมให้เยาวชนตลอดจนคนทั่วไปรักการอ่านจึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน การที่พวกเราทั้งหลายร่วมรณรงค์ต่อมาเป็นเวลานาน ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เกิดสังคมแห่งปัญญาและสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นในบ้านเมืองเรา

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการ โดยนางสุกัญญา งามบรรจง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ทูลเกล้าฯถวายรายชื่อหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2559 จากนั้นเสด็จฯทอดพระเนตรร้านค้าในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯตามพระราชอัธยาศัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังบูธมติชน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายของที่ระลึกจากสำนักพิมพ์ ซึ่งออกแบบโดยนายรักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสตรีตอาร์ตและกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง พร้อมหนังสือ ประกอบด้วยเรื่อง “Studies in Thai and Southeast Asian Histories” โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “เจ้าฟ้า เจ้าชาย ในพระพุทธเจ้าหลวง” โดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, “เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่องประวัติต้นรัชกาลที่ 6” โดยวรชาติ มีชูบท, “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” โดยเทพ บุญตานนท์, “นาคยุดครุฑ : ?ลาว? การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย” โดยกำพล จำปาพันธ์, “บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์” โดยอ็องรี มูโอต์ แปลโดยกรรณิกา จรรย์แสง, “ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา” โดยหวังหลง แปลโดยเขมณัฐฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง

Advertisement

จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตรหนังสือภายในบูธมติชน ก่อนจะเสด็จฯไปฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน ก่อนเสด็จฯกลับ โดยคณะผู้จัดงานได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมงานในเวลา 11.15 น.

น.ส.ปานบัวกล่าวว่า โดยปกติแล้วสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะไม่เสด็จฯเข้ามาทอดพระเนตรภายในบูธบ่อยนัก แต่ครั้งนี้ทรงสนพระทัยรูปแบบศิลปะสีสันสดใสที่ตกแต่งภายในบูธ จึงได้เสด็จฯเข้ามาทอดพระเนตรรูปภาพและบริเวณภายในทั้งหมด ส่วนตอนที่ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายของที่ระลึก ท่านทรงโปรดชั้นวางหนังสือ จึงได้ทูลท่านว่าปีนี้ได้ทำชั้นวางหนังสือ เพราะว่าเด็กๆ มักซื้อหนังสือไปแล้วไม่ค่อยมีระเบียบเลยอยากให้มีระเบียบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแย้มพระสรวล ก่อนตรัสตอบอย่างเป็นกันเองว่า ท่านเองก็ไม่มีระเบียบเหมือนกัน ท่านจึงโปรดตู้หนังสือเพราะน่ารัก นอกจากนี้ยังได้ทูลว่าปีนี้ได้เชิญอาจารย์ชาญวิทย์มารับเสด็จด้วย ท่านทรงตรัสตอบว่า “ดี”

“ส่วนการออกบูธมติชนคาดหวังว่าคนจะมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ในยุคนี้ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการอ่านหนังสือ และเนื่องจากเป็นงานหนังสือต้นปีจะเป็นดัชนีที่ชี้อะไรหลายอย่างในประเทศได้ เพราะฉะนั้นจึงรอดูว่าจะมีคนมางานมากน้อยแค่ไหน และสนใจหนังสือประเภทอะไร เพราะทุกปีงานสัปดาห์หนังสือจะเป็นสิ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม บริบททางการเมือง เพราะฉะนั้นจึงลุ้นมากว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร และหวังว่าจะยังมีแฟนหนังสือติดตามอยู่เหมือนเดิม” น.ส.ปานบัวกล่าว

ด้านนายชาญวิทย์กล่าวว่า ส่วนตัวได้ทูลเกล้าฯถวายหนังสือของมติชนที่พิมพ์ใหม่ รวมถึงเล่มหนึ่งที่ตนเป็นผู้เขียน มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านทรงตรัสถามว่าทั้งหมดนี้เป็นของอาจารย์ชาญวิทย์หมดเลยหรือ จึงตอบว่าของผมมีเล่มเดียว นอกนั้นเป็นของสำนักพิมพ์มติชน

นายชาญวิทย์ยังกล่าวอีกว่า การมางานหนังสือถือว่าสนุกทุกปี และการมีงานหนังสือขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่ดี น่าดีใจว่าเรามาเห็นหนังสือเยอะแยะเลือกเอาตามชอบใจ แต่กลุ้มใจที่แต่ละปีอ่านไม่ทัน โดยเฉพาะของสำนักพิมพ์มติชนและศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ซึ่งสนใจเป็นพิเศษ และใช้ในการบรรยายในการสอนหนังสือ ในด้านหนึ่งคือดีมากๆ อีกด้านหนึ่งคือเราตามไม่ทันแล้วต้องซื้อไปเก็บไว้ ส่วนมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพิ่งลงนามบันทึกความตกลงร่วมกับมติชนเนื่องในโอกาสที่มูลนิธิครบรอบ 50 ปี ขณะที่ผู้ก่อตั้งมูลนิธิคือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครบรอบ 100 ปี เราจึงถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองและพิมพ์หนังสืออีกด้วย

“โดยหนังสือใหม่เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับบทบาทของอาจารย์ป๋วยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนใหม่โดยอาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ซึ่งเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังสมัย อ.ป๋วย มองกลับไปว่าผลงานที่ อ.ป๋วยทำมานั้นเป็นอย่างไร อีกเล่มหนึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ รวมทีมอาจารย์หนุ่มสาวเอางานวิจัยใหม่มารวบรวมไว้ ขณะเดียวกันเราเอาหนังสือเก่าที่ยังอยู่ในความสนใจ เล่มหนึ่งของ ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่พิมพ์หลายครั้งแต่ขาดตลาดไปจึงนำมาพิมพ์ใหม่ อีกเล่มเขียนโดยผมเอง เป็นการเมืองไทยสมัยใหม่ ดูตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ รวมทั้งสิ้น 4 เล่ม” นายชาญวิทย์กล่าว

นายชาญวิทย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีหนังสือของมูลนิธิวางอยู่ที่บูธมติชนอีกหลายเล่ม มาร่วมงานกับมติชนก็ยกหนังสือชุดอาเซียนมา มีทั้งหมด 15 เล่ม โดย 10 เล่ม เป็นแต่ละประเทศของสมาชิกอาเซียน อีก 5 เล่มเป็นตัวเสริมมองภาพอาเซียนโดยรวม แถมด้วยประเทศติมอร์ตะวันออก ที่ในไม่ช้าคงเข้ามาเป็นสมาชิกอีกประเทศหนึ่ง

จากนั้นเวลา 13.00 น. ที่ห้องมีตติ้งรูม 2 สำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนา “Online Marketing การตลาดยุคใหม่สไตล์ไทย จีน ญี่ปุ่น” โดยเลอทัด ศุภดิลก, วรมน ดำรงศิลป์สกุล และเกตุวดี marumura ดำเนินรายการโดยถนอม เกตุเอม

ต่อมาเวลา 17.00 น.ที่บูธมติชน โซนพลาซ่า ได้จัดกิจกรรรม Meet and Greet ภูกระดาษ ผู้เขียนหนังสือดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ และเนรเทศ จากนั้นเวลา 18.00 น. Meet and Greet วรมน ดำรงศิลป์สกุล ผู้เขียนหนังสือหาวห่าว Marketing การตลาดจีนยุคใหม่ที่คุณต้องร้องโอ้โห!, เกตุวดี marumura ผู้เขียน สุโก้ย! Marketing ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น และเลอทัด ศุภดิลก ผู้เขียน เปิดร้านออนไลน์ให้ถูกใจ เปลี่ยน Like ให้เป็นล้าน ในเวลาเดียวกันที่บูธ x10 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ และประธานมูลนิธิชนบทแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ทั้งนี้ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 จัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม ถึง 10 เมษายน ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image