อจ.ศิลปากร ย้อน คณะอักษรฯ อ้าง ‘ความคล่องตัว’ ก็แค่วลีที่เอื้อให้ยุบภาคปรัชญาได้ง่ายขึ้น

ภาพจาก Komkrit Tul Uitekkeng

ย้อน คณะอักษรฯ หลังร่อนหนังสือแจงยิบ อจ.ศิลปากร ระบุ ที่อ้างว่า เพื่อ ‘ความคล่องตัว’ ก็แค่เหตุผลลอยๆเอื้อให้ยุบภาคปรัชญาได้ง่ายขึ้น 

ความคืบหน้ากรณีที่มีข่าวว่า ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะถูกยุบลงเป็นเพียงสาขาวิชานั้น ย้อนอ่าน : อจ.ศิลปากร โพสต์จ่อถูกยุบภาควิชาปรัชญา ลดความสำคัญสายมนุษยศาสตร์-อักษรฯ

ล่าสุด นายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Komkrit Tul Uitekkeng ถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง โดยอ้างถึงเอกสารคำชี้แจงคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมแสดงความเห็นโต้แย้งต่อการชี้แจงดังกล่าว ว่า 

“ในวันนี้ คณะอักษรศาสตร์ ได้ออกคำชี้แจงปรากฏทั้งในเวปไซต์และเพจคณะ ในกรณียุบรวมภาควิชา กระผมมีข้อโต้แย้งและความคิดเห็นต่อการชี้แจงนี้

Advertisement

ประการแรก นับว่าดีที่คณะได้ให้ลำดับเหตุการณ์และภาพรวมที่เกิดขึ้น แต่ในส่วนท้ายของลำดับเหตุการณ์ซึ่งเป็นข้อชี้แจง กระผมมีข้อคิดเห็นดังนี้

1.ที่กล่าวว่า “ผู้บริหารได้เสนอแนวทางหลายแนวทางแก่คณาจารย์” นั้น #ไม่จริง เพราะแนวทางที่นำเสนอนั้น มีแนวทางเดียว คือให้ทุกภาควิชาลดลงเป็นสาขา ที่ว่าแนวทางหลากหลายนั้นมีเพียงแต่จะเลือกรวมสาขากันแบบไหนเท่านั้นเอง ดังมีเอกสารร่างแนวทางซึ่งผู้บริหารคณะนำเสนอต่อกรรมการประจำคณะเป็นหลักฐานยืนยัน (ตอนนี้ผมไม่ได้อยู่ที่คณะ แต่จะนำหลักฐานดังกล่าวมานำเสนอต่อไป) ไม่มีร่างอันใดเลยที่เสนอให้ยังคงมีภาควิชาอยู่ แต่แค่ให้สาขาไหนเลือกที่จะมีการรวมแบบไหนเท่านั้นเอง แม้จะบอกว่าเป็นเพียงแนวทาง แต่แนวทางนี้ไม่ได้หลากหลายจริงดังกล่าวอ้าง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อภาควิชาปรัชญายืนยันที่จะเป็นภาควิชาต่อ โดยทำบันทึกชี้แจงเป็นข้อๆ ประธานในที่ประชุมได้ซักไซ้ไล่เรียง และยังถามกระผมในฐานะตัวแทนภาควิชาปรัชญาเมื่อกระผมได้โต้แย้งจนจบว่า “ภาควิชาอาจารย์ตกลงจะเอายังไง” ผมจึงตอบไปว่า ผมไม่สามารถตอบแทนคนในภาควิชาได้ ต้องกลับไปประชุมภาควิชาเสียก่อน ประธานยังสำทับไว้ในตอนท้ายว่าให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดด้วย ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดเช่นนั้น

2.ที่คณะกล่าวว่าไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการบังคับให้ยุบภาควิชา อันนี้กระผมขอรับรองว่าถูกต้อง และไม่เคยกล่าวที่ไหนว่าคณะใช้กำลังอำนาจบังคับให้ยุบ แต่การที่คณะไม่ได้ทักท้วงหรือโต้แย้งระเบียบที่ทางมหาวิทยาลัยนำออกมา ทั้งๆที่เห็นได้ชัดว่า ระเบียบดังกล่าวย่อมกระทบต่อการเป็นภาควิชาของภาควิชาต่างๆในคณะโดยตรง กล่าวคือหากพิจารณาตามระเบียบของมหาวิทยาลัย ย่อมจะเหลือเพียงหนึ่งหรือสองภาควิชาเท่านั้นที่จะยังคงความเป็นภาควิชาไว้ได้ การไม่ทักท้วงเช่นนี้และยังเร่งดำเนินการโดยไม่จัดประชาพิจารณ์ สำรวจความเห็นหรือประชุมคณาจารย์ทั้งคณะวิชา ทั้งที่เรื่องนี้มิใช้แค่เรื่องการบริหารจัดการ แต่ย่อมมีผลกระทบทั้งต่อผู้สอน ผู้เรียน

Advertisement

การอ้างว่าเมื่อเป็นระเบียบแล้วต้องทำตามทันทีนับว่าเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง หากระเบียบนั้นมีปัญหา เราย่อมโต้แย้งและทักท้วงได้ แต่ผู้บริหารในฐานะตัวแทนของคนในคณะวิชากลับไม่ทักท้วงหรืออย่างน้อยเสนอสภาให้ชลอเรื่องนี้เพื่อการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งยังสนองต่อนโยบายนี้ทันที จะอ้างว่ามีเจตนาจะรักษา “ศาสตร์”ไว้โดยที่ยังไม่พิจารณาอย่างถ้วนถี่ได้อย่างไร

พูดง่ายๆว่าไม่ได้สั่งยุบภาคแต่เอื้อให้การยุบภาคเป็นไปได้ง่ายขึ้น

3.การที่คณะวิชาอ้างว่า การยุบภาควิชาลดสถานะเป็นสาขาไม่นับว่าเป็นการยุบเลิกหลักสูตรนั้นก็ถูกต้อง แต่อาจมองไม่เห็นว่านั่นคือส่วนหนึ่งของการเพิ่มความเสี่ยงในการยุบเลิกหลักสูตร เนื่องจากสถานะของสาขาวิชานั้นมีโอกาสที่จะถูกยุบเลิกได้ง่ายกว่าภาควิชา

4.ที่กล่าวอ้างว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและเพื่อความ “คล่องตัว” เรื่องนี้เป็นกล่าวลอยๆ โดยไม่มีการชี้แจงว่า คล่องตัวที่หมายถึงแปลว่าอะไร นอกจากที่ชัดเจนว่า การยุบลงเป็นสาขานั้น ง่ายหรือคล่องตัวที่จะ “รวม” หรือ “ยุบเลิก” มากกว่าภาควิชา เพราะไม่ต้องนำเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น นอกจากนี้ การมีหัวหน้าสาขาวิชายังไม่ชัดเจนในเรื่องระเบียบและแนวทางปฏิบัติ ทั้งเป็นไปได้ที่คณบดีจะมีอำนาจแต่งตั้ังหัวหน้าสาขาวิชาโดยตรง (ดังที่อธิการบดีเคยเปรยไว้ว่า ควรเลือกคนที่ “ทำงานเข้ากันได้”) อันนี้คงเป็นความคล่องตัวดังกล่าวกระมัง

5. แม้ว่าคณะกล่าวว่าจะให้อิสระแก่ภาควิชาในการเลือกรูปแบบและนำเสนอต่อมหาวิทยาลัย แต่การให้อิสระเช่นนี้ เป็นอิสระภายใต้กฏเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่คณะไม่ทำหน้าที่ท้วงติงแต่ประการใด เป็นอิสระที่ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง อีกทั้งคณะไม่ควรมีหน้าที่เป็นเพียงแค่ตัวกลางในการนำเรื่องส่งผ่านไปยังมหาวิทยาลัย แต่ควรท้วงติงเพื่อประโยชน์ของคณะเองแต่ต้น

6.การแสดงออกของภาควิชา ทั้งการประท้วงเชิงสัญลักษณ์(ปิดป้ายหน้าภาควิชา โดยปิดคำว่าภาควิชาและเอาคำว่าสาขาไปแปะแทน) การชี้แจงทั้งในเอกสารที่นำเสนอต่อกรรมการประจำคณะ การชี้แจงในเฟสบุ๊คส่วนตัวและสื่อ มิได้มีเจตจำนงจะให้เกิดความเข้าใจผิดแก่คณะหรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่เห็นว่าเรื่องนี้มิใช่เรื่องที่ต้องรับรู้เฉพาะผู้บริหารอย่างเงียบๆภายใน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบ จึงสมควรรับรู้ในวงกว้างทั้งคณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป โดยนำเสนอทั้งข้อคิดเห็นและหลักฐาน

ดังนั้น หากพิจารณาถึงความไม่ชัดเจนของเกณฑ์ดังกล่าว เช่น “เลี้ยงตัวเองได้” ซึ่งอธิการบดีกลับไม่ชี้แจงเรื่องนี้ (แม้แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่แน่ว่าจะเลี้ยงตัวเองได้) หรือเรื่องความไม่ชัดเจนในเรื่อง เกณฑ์การเลือกหัวหน้าสาขาวิชา ตำแหน่งของกรรมการประจำคณะ ฯลฯ หากยังไม่มีความชัดเจนก็ควรจะต้องทักท้วงและให้เรื่องนี้ชลอไว้ก่อน ไม่ใช่เร่งให้ดำเนินการโดยไม่พิจารณาอย่างรอบด้าน และนำเอา”ศาสตร์”ไปสู่ความเสี่ยง

มีใครทั้งที่เห็นว่ายังมีหลายเรื่องไม่ชัดก็ดันทุรังจะทำ แล้วอ้างว่าเป็น “ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ” ผมคิดว่าคณะควรจะกลับไปทำหน้าที่ในการท้วงติงเกณฑ์นี้ในที่ประชุมคณบดีและสภามหาวิทยาลัย ชี้แจงแสดงให้เห็นความแตกต่างและลักษณะเฉพาะของอักษรศาสตร์ ซึ่งแตกต่างกับทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ควรใช้เกณฑ์เดียวกัน (อธิการบดีพูดเองในที่ประชุมว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจอักษรศาสตร์เท่าไหร่ นี่ชัดเจนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่มีความเข้าใจธรรมชติที่แตกต่างกันของศาสตร์ทางอักษรศาสตร์กับศาสตร์อื่นอย่างไร) และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบด้านอีกครั้ง

ทำดังนี้จึงควรอ้างว่า คณะวิชามีความห่วงใย “ศาสตร์” ที่เรามีเราสอนกันอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่ใช้คำพูดสวยหรูที่ไม่มีความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image