ฮือฮา! หลักสูตรคูปองพัฒนาครู ‘0’ บาท 7 หลักสูตร สพฐ.เคาะ’126’หลักสูตร ดีเดย์ช็อปเม.ย.61

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการคูปองพัฒนาครู ว่า จากที่สพฐ.ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือคูปองพัฒนาครู ปีงบประมาณ 2560 แล้วได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนนักวิชาการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องคุณภาพของวิทยากร หลักสูตร ราคา การเดินทางของครู งบประมาณภาพรวมทั้งหมด รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานั้น ล่าสุดในปีงบประมาณ 2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้สั่งการให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้โครงการที่ตรงถึงตัวครู ลงสู่ผู้เรียน และเพื่อให้คุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นที่ห้องเรียนอย่างแท้จริง จึงสั่งการให้ สพค. โดยตนได้ดำเนินการลงสู่การปฏิบัติ หลังจากได้รับหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา จำนวน 906 หลักสูตร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 เป็นหลักสูตรที่ ครู สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยมศัย(กศน.)ต้องเลือกความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละหน่วยงานเอง สพฐ. จึงตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาหลักสูตร 2 คณะ ดังนี้

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า 1.คณะกรรมการประเมินและคัดเลือกหลักสูตร เพื่อประเมินความเหมาะสมในการนำหลักสูตรไปใช้ในการพัฒนาข้าราชการครูของสพฐ. โดยมีนางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน มีการกำหนดเกณฑ์จำนวน 7 ข้อ เพื่อใช้ในการพิจารณา ซึ่งได้ดำเนินการประชุมไปเมื่อวันที่ 6 – 8 มีนาคม ณ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา กรุงเทพฯ โดยมีหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองและส่งให้กับ สพฐ.ประเมิน จำนวน 906 หลักสูตร ผลการประเมินสอดคล้องกับการนำไปใช้ในการพัฒนาครู สพฐ. จำนวน 833 หลักสูตร ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาครู สพฐ ขณะนี้ จำนวน 73 หลักสูตร และ 2.คณะกรรมการประเมินความเหมาะสมราคาค่าลงทะเบียนหลักสูตร เพื่อประเมินราคาค่าลงทะเบียนให้สอดคล้องตามระเบียบกระทรวงการคลัง และมาตรการประหยัดของ สพฐ. โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน ซึ่งได้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 14 – 16 มีนาคม ณ โรงเรียนราชวินิต มัธยม กรุงเทพฯ หลักสูตรที่หน่วยพัฒนาแจ้งค่าลงเบียนจำนวน 821 หลักสูตร

Advertisement

“การอบรมพัฒนาครูในปีงบประมาณ 2561 ได้ปรับแนวทางให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการจัดอบรมในปีงบประมาณ 2560 อาทิ จากเดิมที่หน่วยพัฒนาเป็นผู้เลือกจังหวัดในการอบรม ก็เปลี่ยนมาเป็นเขตพื้นที่ฯ ดูยอดครูที่สมัครแล้วประสานหน่วยพัฒนา ให้มาจัดอบรมที่จังหวัดนั้นๆ โดยหน่วยพัฒนาเป็นผู้บริหารจัดการเองซึ่งแนวทางนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้จาก 906 หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาส่งมาให้สพฐ.พิจารณาปรากฏว่ามีแค่ 126 หลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือผ่านทั้งเรื่องเนื้อหาวิชาการและเรื่องราคา โดยมี 73 หลักสูตรที่ไม่ผ่านด้านเนื้อหาวิชาการ ฉะนั้นหลักสูตรอื่นๆ ที่เหลือซึ่งผ่านด้านเนื้อหา แต่ยังไม่ผ่านด้านราคา หน่วยพัฒนาจะต้องนำไปปรับราคาให้สอดคล้องกับระเบียบและจัดส่งมาให้สพฐ.พิจารณาใหม่อีกครั้ง” นางเกศทิพย์ กล่าว

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับ 126 หลักสูตรที่สพฐ.ประกาศให้ผ่านการพิจารณาในล็อตแรก มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 10,000 บาทซึ่งมี 1 หลักสูตร และต่ำสุดอยู่ที่ศูนย์บาทซึ่งมี 7 หลักสูตรประกอบด้วย 1.หลักสูตร “จิตศึกษา” เพื่อพัฒนาปัญญาภายในให้กับผู้เรียน จัดโดยโรงเรียนบ้านดอนมูล(สุวรรณสาราษฎร์บำรุง) จ.แพร่ 2.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูสอนภาษาญี่ปุ่น “แนวทางการจัดการเรียนรู้ไวยากรณ์ โดยใช้หลักการเรียนรู้ในทักษะศตวรรษที่ 21 รุ่นที่ 1 (ณ กรุงเทพฯ) 3.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูสอนภาษาญี่ปุ่น “แนวทางการจัดการเรียนรู้ไวยากรณ์ โดยใช้หลักการเรียนรู้ในทักษะศตวรรษที่ 21 รุ่นที่ 2 (ณ จังหวัดตรัง) 4.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูสอนภาษาญี่ปุ่น “แนวทางการจัดการเรียนรู้ไวยากรณ์ โดยใช้หลักการเรียนรู้ในทักษะศตวรรษที่ 21 รุ่นที่ 3 (ณ จังหวัดเชียงใหม่) 5. โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูสอนภาษาญี่ปุ่น “แนวทางการจัดการเรียนรู้ไวยากรณ์ โดยใช้หลักการเรียนรู้ในทักษะศตวรรษที่ 21 รุ่นที่ 4 (ณ จังหวัดอุบลราชธานี) 6.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูสอนภาษาญี่ปุ่น “แนวทางการจัดการเรียนรู้ไวยากรณ์ โดยใช้หลักการเรียนรู้ในทักษะศตวรรษที่ 21 รุ่นที่ 5 (ณ กรุงเทพฯ)และ7.โครงการอบรมครูสอนภาษาญี่ปุ่น “การอบรมเพื่อพัฒนาความสามารถภาษาญี่ปุ่น” โดยหลักสูตรที่ 2-7 จัดโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ทั้งนี้ทั้ง 126 หลักสูตรดังกล่าวสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://hrd.obec.go.th/, http://training.obec.go.th/, https://www.facebook.com/teacherhrd/ และ Obecline 2018 โดยคาดว่าครูสามารถเลือกหลักสูตรเพื่อรับการอบรมได้ไม่เกินเดือนเมษายนนี้

Advertisement

นางเกศทิพย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการคูปองพัฒนาครู เป็นการปฏิรูประบบการพัฒนาครูตามนโยบายของนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยเป็นการพัฒนาครูเพื่อเด็ก และดึงการมีส่วนร่วมของหน่วยพัฒนาเป็นพี่เลี้ยงช่วยครูพัฒนาผู้เรียนถึงห้องเรียน และเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image