สพฐ.เผย 787 หลักสูตรพัฒนาครูปี’61 เตรียมเปิดแม่พิมพ์ช้อปปิ้ง 23-27 เม.ย.

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการคูปองพัฒนาครู ประจำปีงบประมาณ 2561 ว่า หลังจากสถาบันคุรุพัฒนาส่งหลักสูตรของหน่วยพัฒนามาให้ สพฐ.พิจารณา 906 หลักสูตร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม สพฐ.โดยคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกหลักสูตร และคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมราคาค่าลงทะเบียนหลักสูตร ได้พิจารณาและประกาศให้หลักสูตรผ่านการรับรองจาก สพฐ.ในล็อตแรก จำนวน 126 หลักสูตรเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ได้ประกาศให้หลักสูตรผ่านการรับรองจาก สพฐ.อีก 661 หลักสูตร รวมเป็นจำนวน 787 หลักสูตร สามารถดูรายละเอียดได้ที่ OBECLINE2018, http://hrd.obec.go.th/, http://training.obec.go.th/ และ www.facebook.com/teacherhrd/

“ทั้ง 661 หลักสูตรอยู่ในกลุ่ม 906 หลักสูตรแรกที่สถาบันคุรุพัฒนาส่งมาให้ สพฐ.พิจารณา แต่ที่ไม่ได้ประกาศรับรองรอบแรก เนื่องจากราคายังสูง สพฐ.จึงเจรจาให้หน่วยพัฒนาลดราคาเพื่อเป็นไปตามระเบียบ เมื่อหน่วยพัฒนายอมลดราคา สพฐ.จึงได้ประกาศให้เป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองในล็อตที่ 2 จนถึงขณะนี้มีหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง 787 หลักสูตร ราคาเฉลี่ย 4,475 บาท หลักสูตรราคาสูงสุด 10,000 บาท ต่ำสุด 0 บาท จำนวน 7 หลักสูตร ขณะที่ สพฐ.จัดสรรเงินให้ครูเลือกหลักสูตรอบรม 10,000 บาท/คน/ปี เมื่อจำแนกหลักสูตรตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ ครูประถม 326 หลักสูตร ครู ม.ต้น 257 หลักสูตร ครู ม.ปลาย 127 หลักสูตร ครูปฐมวัย 72 หลักสูตร และการศึกษาพิเศษ 5 หลักสูตร” นางเกศทิพย์กล่าว

ผู้อำนวยการ สพค.กล่าวต่อว่า เมื่อจำแนกตามกลุ่มสาระ ดังนี้ วิทยาศาสตร์ 125 หลักสูตร บูรณาการสาระ 115 หลักสูตร ภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) 83 หลักสูตร ภาษาไทย 79 หลักสูตร การงานอาชีพและเทคโนโลยี 76 หลักสูตร คณิตศาสตร์ 71 หลักสูตร ปฐมวัย 59 หลักสูตร สุขศึกษาและพลศึกษา 58 หลักสูตร สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม 51 หลักสูตร กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 35 หลักสูตร อื่นๆ 14 หลักสูตร ศิลปะ 12 หลักสูตร และการศึกษาพิเศษ 9 หลักสูตร เมื่อจำแนกตามประเภทของหน่วยพัฒนา พบว่าสถาบันการศึกษามากที่สุด 56.63% รองลงมาคือนิติบุคคล 40.43% และส่วนราชการ 2.93%

นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า การจัดอบรมปีที่ 2 นี้ได้มีการปรับรูปแบบโดยให้เขตพื้นที่ฯเป็นผู้ประสานหน่วยพัฒนา เมื่อทราบยอดครูที่จะเข้าอบรมในแต่ละหลักสูตรแล้ว เขตพื้นที่ฯจะประสานหน่วยพัฒนาให้มาจัดภายในจังหวัดดังกล่าวหรือจังหวัดที่สะดวกของทั้งฝ่ายครูและฝ่ายหน่วยพัฒนา ซึ่งรูปแบบนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและที่สำคัญทำให้เป้าหมายที่ สพฐ.ต้องการให้ครูพัฒนาเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาเด็กต่อนั้นมีการขับเคลื่อนทั้งระบบ เพราะเมื่อเขตพื้นที่ฯมาดูแลเองแล้ว จะทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญจริงจังมากขึ้น และที่สำคัญจะทราบว่าครูเข้ารับการอบรมหลักสูตรใดบ้าง ได้นำความรู้ที่ได้อบรมไปพัฒนานักเรียนรวมถึงหน่วยพัฒนาเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาให้ครูภายหลังการอบรมหรือไม่ นอกจากนี้ สพฐ.ยังปรับรูปแบบของการนิเทศติดตามโดยเพิ่มเติมให้เขตพื้นที่ฯตั้งคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ขึ้นมาติดตามการอบรม พร้อมทั้งดึงครูที่เข้ารับการอบรมในแต่ละหลักสูตรมาร่วมเป็นกรรมการนิเทศติดตามหลักสูตรละ 10% วิธีนี้จะทำให้การประเมินผลเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนการประเมินรูปแบบอื่นๆ ยังคงมีอยู่

Advertisement

ด้านนายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.จะจัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ณ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี วันที่ 10 เมษายนนี้ โดยจะมีกลุ่มบริหารงานบุคคล กลุ่มบริหารการเงิน คณะกรรมการและหน่วยพัฒนาครู 209 แห่งที่หลักสูตรผ่านเข้าร่วมประชุม 700 คน คาดว่าจะเปิดระบบให้ครูช้อปปิ้งหลักสูตรประมาณวันที่ 23-27 เมษายน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image