สพฐ.หารือ ป.ป.ช.เปิดช่อง ร.ร.ระดมทรัพยากรหลังรับ น.ร.ได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่1และ ม.4 ปีการศึกษา 2561 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า ปีนี้การรับนักเรียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และ สพฐ.ได้มีการสื่อสารกับทางเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูง ในประเด็นระเบียบการรับนักเรียนและขั้นตอนของการรับ โดยมีการกำหนดจำนวนห้องและจำนวนนักเรียนต่อห้องชัดเจน พร้อมหลักการที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การประกาศรายชื่อนักเรียนสำรอง เพื่อเป็นการควบคุมว่าเมื่อเกิดเก้าอี้ว่างลงหลังจากเด็กรายงานตัวแล้วจะเรียกใครเข้าไปแทนต้องเป็นคนที่มีรายชื่อขึ้นบัญชีสำรองเท่านั้น และอีกเรื่อง คือ การห้ามระดมทรัพยากร โดยเฉพาะการระดมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียน เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ความเห็นและชี้แล้วว่าเป็นการรับสินบน ซึ่งจะมีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการระดมทรัพยากรนั้น เนื่องจาศธ.มีประกาศห้ามระดมทรัพยากรในช่วงการรับนักเรียน แต่หลังจากรับนักเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะสามารถระดมทรัพยากรได้หรือไม่นั้น สพฐ.จะส่งคณะทำงานไปหารือกับ ป.ป.ช.ก่อนว่า นอกจากช่วงรับนักเรียนจะทำได้หรือไม่ อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าทำได้มีขอบข่ายแค่ไหน โรงเรียนต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งอาจต้องมีการกำหนดขั้นตอนวิธีการที่ชัดเจน  เพราะอาจจะหมิ่นเหม่ให้เกิดความเข้าใจผิดได้

“การรับนักเรียนปีนี้ สพฐ.ไม่มีแรงกดดันอะไรเลย เพราะทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบนโยบายและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไร มีแต่ปฏิบัติด้วยความเข้มงวด ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีบางโรงเรียนไม่ประกาศเงื่อนไขพิเศษ เพราะดูแล้วไม่มีเด็กเข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขพิเศษ โดยประกาศเฉพาะคะแนนสอบอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ  และผมก็เห็นด้วยกับโรงเรียน ถ้าเด็กไม่เข้าเกณฑ์ก็ไม่ต้องประกาศ ก็ต้องขอบคุณ ผอ.โรงเรียน และ ผอ.เขตพื้นที่ที่ช่วยกันดูแลปละปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”นายบุญรักษ์กล่าวและว่า ตนคิดว่าถ้าเรามีความมั่นคงในการปฏิบัติ เชื่อว่าทำให้จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ในประเทศได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอาจจะปฏิบัติได้ไม่เคร่งครัด เพราะหลักเกณฑ์อาจยังมีช่องโอกาสให้อยู่ เช่น ไม่มีประกาศรายชื่อสำรอง ไม่ควบคุมจำนวนนักเรียนต่อห้อง หรือ ไม่ควบคุมจำนวนห้อง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image