ครูศรีสะเกษจี้เลิก ‘โอเน็ต’ ทำเด็กไม่มีจริยธรรม มีแต่ริษยา ทวงคืนกองทุน 2 หมื่นล้าน ลั่นเป็นเงินฌาปนกิจครูทั่วปท.

ศรีสะเกษ ครูประกาศก้องต้องยกเลิกการสอบโอเน็ตเพราะทำให้เด็กไม่มีจริยธรรม ทวงคืนกองทุน ชพค.กว่า 20,000 ล้านบาทให้ครูบริหารงานเองเพราะว่าเป็นเงินฌาปนกิจของครูทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ต.หนองครก อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวิสัย เขตสกุล ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในการเปิดเวที “ครีสะเกษคิด วันปิดภาคเรียน เพื่อเด็ก เพื่อครู เพื่อชุมชน” ได้มี นายสนอง ทาหอม แกนนำผู้นำครูคนสำคัญของประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหาร ร.ร.และคณะครูที่เป็นตัวแทนของสมาชิกชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษทุกสังกัด ได้มาร่วมกันจัดเวทีเพื่อหารือถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งประเด็นในด้านการคิดเพื่อเด็ก หลักสูตรในทุกระดับชั้น “ต้องกินได้ ใช้ได้” การวัดและการประเมินผล “ต้องตามสมรรถนะ และศักยภาพ” ประเด็นคิดเพื่อครู ในด้านความมั่นคงก้าวหน้าในวิชาชีพ การมีสวัสดิการสวัสดิภาพครู และประเด็นการคิดเพื่อชุมชน ในด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ร.ร.นิติบุคคลทุก ร.ร.โดยได้ผู้เข้าร่วมการจัดเวที ได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

นายวิสัย เขตสกุล ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยคณะสมาชิกของชมรมประกอบด้วยผู้บริหาร ร.ร.และครูทุกคนของ จ.ศรีสะเกษ ได้มีมติร่วมกันว่า จะเสนอให้การยกเลิกการสอบโอเน็ต เนื่องจากว่าตราบใดที่มีการสอบโอเน็ตหรือเอ็นที ตราบนั้น เด็ก น.ร.จะไม่มีสมองในการคิดเลย เพราะว่าเด็ก น.ร.จะต้องติวอย่างเดียว ไม่มีกระบวนการเรียนการสอน เด็ก น.ร.จะไม่มีจริยธรรมคุณธรรม เนื่องจากการสอบโอเน็ต เป็นการเป็นการสอบแบบคัดออก น็อคดาวน์ เป็นการทำให้เด็กเห็นแก่ตัว นี่คือผลร้ายที่จะเกิดต่อไปของประเทศที่จะมีแต่พลเมืองที่เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉาริษยา ถ้าจะจัดอันดับก็จะได้แค่ในห้องเรียน ซึ่งเป็นตัวร้ายมากจัดอันดับในห้องเรียน ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เอ็นทีสุดท้าย แล้วเด็กคนสุดท้ายคนที่ 40 – 45 จะทำอย่างไร คนที่ 1 จะทำอย่างไร การนำเอาผลสอบโอเน็ตมาใช้ในการจัดอันดับ จะเป็นการทำลายพลเมืองของชาติ การวัดประเมินผลจะต้องวัดจากความสามารถของเด็ก เครื่องมือวัดไม่จำเป็นต้องเป็นข้อสอบ ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยต้องปรับเกณฑ์การรับนักเรียนที่กาข้อสอบถูก ระบายข้อสอบถูกไปเข้าเรียน โดยจะต้องเปลี่ยนเป็นรับ น.ร.จากโครงการที่เด็กเสนอมา เช่น ขอเรียนครู คณะครุศาสตร์ จบไปแล้วจะสอนเด็กแบบนั้นแบบนี้ ให้เกิดผลดีอย่างไรหรือว่าการขอเรียนช่างก็เสนอโครงการเข้าไป ไม่ใช่ว่าทำการสอบทุกขั้นตอน หากไม่มีการสอบเด็ก น.ร.ก็ไม่ต้องไปติว การรับติวก็จะไม่มีระบบคุณธรรม จริยธรรมก็จะเข้าสู่ผู้เรียน

Advertisement

ประธานชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า เกี่ยวกับสวัสดิการสวัสดิภาพของครูคือกองทุน ชพค.ซึ่งครูทุกคนเป็นสมาชิกและมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของครูทุกคน แต่ว่ารัฐบาลกำลังจะเอาเงินของครู ซึ่งไม่ใช่งบประมาณแผ่นดินไปบริหารงาน เงินฌาปนกิจของหมู่บ้าน ชาวบ้านยังต้องบริหารงานกันเอง กองทุนช่วยเพื่อนครู ฌาปนกิจของครู ปรากฏว่า คณะกรรมการที่ตั้งมาใหม่ มีแต่คณะกรรมการในแท่งของผู้มีอำนาจมาบริหาร ตนอายชาวบ้านมากที่มีความสามารถเก่งกว่าครูมากสามารถบริหารเงินฌาปนกิจของหมู่บ้านได้ แต่ว่าครูไม่สามารถที่จะเข้าไปดูแลเงินฌาปนกิจของตนเองได้น่าสงสารครูทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งเพื่อเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนครู ตนจะให้ครูศรีสะเกษทุกคนร่วมกับเพื่อนครูทุกคนทั่วประเทศ ร่วมกันทวงกองทุน ชพค.คืนมา โดยจะให้ครูทุกคนเขียนไปรษณียบัตรส่งไปถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการอิสระ และคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาค เพื่อขอให้ครูทั่วประเทศเข้าไปบริหารงานเงินกองทุน ชพค.ด้วยตนเอง “ครูต้องทำเพื่อครู ไม่ใช่ให้คนจากส่วนราชการอื่นมาบริหารงานเงินกองทุนของครูอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image