กรมศิลป์เล็งส่งเศษอิฐ วัดพระธาตุ ตรวจอายุที่ห้องแล็บต่างประเทศ

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้รับรายงานจากนายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 ว่าได้นำเศษชิ้นส่วนของอิฐเก่าที่อยู่ฐานล่างสุดของพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ไปตรวจสอบเพื่อเป็นหลักฐานขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก และพบว่ามีความเก่าแก่ยุคสุโขทัยซึ่งใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์ของพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ได้กล่าวถึงศาสนาในนิกายหินยานลังกาวงศ์ ซึ่งเป็นศาสนาในยุคแรกๆ ของไทย ดังนั้นจึงได้เร่งสั่งการให้นายอาณัติ ทำรายงานเรื่องดังกล่าวส่งมาที่กรมศิลปากร

“เศษอิฐดังกล่าว จะถูกส่งไปตรวจในแล็บต่างประเทศหลายแล็บ เพื่อกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิธีกำหนดอายุใหม่ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ จะกำหนดอายุของโบราณได้ชัดเจน และหากพบว่าอายุของพระบรมธาตุเจดีย์ มีอายุมากกว่า 1,000 ปีจริง ข้อมูลดังกล่าวนี้ จะมีผลที่ดีต่อการเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกด้วย” นายอนันต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดพระมหาธาตุฯ ตามตำนานระบุว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.854 มีศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว และสร้างเจดีย์องค์เล็กๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้ ต่อมาปี พ.ศ.1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงสาญจิ และในปี พ.ศ.1770 พระองค์จึงได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image