ปฏิบัติการ “ดัดหลัง” นักชักดาบ “กยศ.” เริ่มที่ “กรมบัญชีกลาง” เพื่ออนาคต “ลูกหนี้” รุ่นใหม่

ในที่สุด นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ประกาศ “นำร่อง” หักหนี้เงินกองทุน กยศ.จาก “บัญชีเงินเดือน” สำหรับข้าราชการ โดยจะเริ่มจากข้าราชการ “กรมบัญชีกลาง” เป็นหน่วยงานแรก จากนั้นจะทยอยทำกับส่วนราชการอื่นๆ คาดว่าภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการจะเสร็จเรียบร้อย

โดยผู้จัดการกองทุน กยศ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสัมมนา “การหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ตาม พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ.2560 สำหรับกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างผ่านระบบจ่ายตรง” เพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคราชการกว่า 220 แห่ง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ในวันแรงงานแห่งชาติ ที่ผ่านมา

“ปัญหา” การชำระหนี้คืนกองทุน กยศ.นับเป็นปัญหา “เรื้อรัง” มายาวนานตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากมีผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ.บางส่วน เมื่อเรียนจบ ทำงานแล้ว และมีเงินเดือนถึงเกณฑ์ที่ต้องผ่อนชำระหนี้เงินกู้ กยศ.ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี กลับ “หลีกเลี่ยง” ที่จะชำระหนี้ ทำให้จำนวนเงินที่กลับคืนสู่กองทุน กยศ.น้อยกว่าที่ควรเป็น ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินที่จะต้องจัดสรรงบเพิ่มเติมในแต่ละปีแล้ว ยังส่งผลให้รุ่นน้องๆ ที่ครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน และต้องการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.เพื่อให้ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป มีโอกาสเข้าถึงการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.ลดลงอีกด้วย

ประเด็นดังกล่าว กองทุน กยศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความพยายามที่จะรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ “รุ่นพี่” ที่กู้เงินกองทุน กยศ.และเรียนจบออกไปแล้ว ชำระหนี้คืนกองทุน แต่ดูเหมือนการรณรงค์ที่ผ่านมาจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ฉะนั้น มาตรการทางกฎหมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการเรียก “ไกล่เกลี่ย” ไปจนถึงการ “ฟ้องร้อง” จึงถูกนำมาใช้ควบคู่กับการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แม้จะได้ผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

Advertisement

แนวคิดการนำ “ระบบหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ และพนักงานเอกชน” จึงเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดย กยศ.จะใช้วิธีเชื่อมการชำระหนี้กับระบบของ “กรมสรรพากร” โดยกรมสรรพากรจะเชื่อมระบบกับ “นายจ้าง” อีกทอดหนึ่ง และนายจ้างจะทำหน้าที่หักเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นหนี้กองทุน กยศ.แต่หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนนำส่งให้กองทุน กยศ.นายจ้างจะต้องรับภาระจ่ายหนี้แทน

การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้บริษัทเอกชน และหน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของข้าราชการ และพนักงานเอกชน ต้องมีหน้าที่หักหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาของข้าราชการ หรือพนักงานเอกชนด้วย และให้นำส่งกรมสรรพการพร้อมกับภาษี หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือนนั้นๆ
ซึ่งเดิมคาดว่าระบบดังกล่าวจะเริ่มนำมาใช้หักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ทั้งรายเก่า และรายใหม่ เป็นรายเดือนได้ในไตรมาสแรกของปี 2561 แต่ล่าสุดผู้จัดการกองทุน กยศ.ประกาศนำร่องหักหนี้เงินกองทุน กยศ.จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการกรมบัญชีกลางก่อน จากนั้นจะทยอยหักหนี้จากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการส่วนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันข้าราชการทั้งประเทศมี 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ กยศ.ถึง 2 แสนคน

ในส่วนของพนักงานเอกชน คาดว่าระบบจะแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปี 2562

Advertisement

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกหนี้ กยศ.ที่อยู่ในช่วงการชำระหนี้ ซึ่งจบการศึกษามาแล้ว 2 ปี มีทั้งหมด 3.54 ล้านราย ในจำนวนนี้ 2.17 ล้านราย หรือ 64% ผิดนัดชำระหนี้ และ 1.36 ล้านราย หรือ 36% ชำระหนี้ปกติ มีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2547-2560 จำนวน 1.1 ล้านราย

ต้องรอดูว่า ระบบ “หักหนี้” เงินกองทุน กยศ.จาก “บัญชีเงินเดือน” จะ “ดัดหลัง” รุ่นพี่ที่นิยม “เบี้ยวหนี้” ได้ถาวรหรือไม่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image