ป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย! ‘คณะวิศวะ จุฬาฯ’ นำเครื่องมือสแกนตรวจสอบความแข็งแรงของต้นไม้

จากกรณีต้นไม้หักโค่นลงมาทับนิสิตที่นั่งเล่นกับเพื่อนที่โต๊ะม้าหิน บริเวณตึกวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปลวกกินต้นไม้นั้น ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการตรวจติดตามดูแลต้นไม้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก
และหนึ่งในวิธีการตรวจสอบความแข็งแรงของต้นไม้ในรอบรั้วจุฬาฯ ได้แก่ การสแกนต้นไม้ด้วยเครื่องสแกนโดยใช้รังสีแกมมาพลังงานต่ำ
รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เครื่องมือสำหรับสแกนต้นไม้ดังกล่าวแต่เดิมใช้ในการตรวจสอบความหนาแน่นของท่อน้ำที่อยู่ในผนังปูนของโรงไฟฟ้า ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบความหนาแน่นของต้นไม้ได้ หลักการทำงานของเครื่องฯ เป็นการส่งผ่านรังสีแกมมาซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและมีอำนาจในการทะลุทะลวงวัตถุได้สูง เมื่อใช้รังสีแกมมาส่งผ่านบริเวณด้านข้างของลำต้น ความเข้มของรังสีจะลดลงเมื่อความหนาเพิ่มขึ้น หากต้นไม้มีโพรง ความเข้มของรังสีจะเพิ่มขึ้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเครื่องมือนี้สแกนต้นหางนกยูงฝรั่งและนนทรี รวม 6 ต้น ภายในมหาวิทยาลัย ผลการสแกนพบว่า ต้นไม้ส่วนใหญ่มีเนื้อไม้บริเวณกลางต้นเหลืออยู่ 60-70% มีต้นไม้ 2 ต้น ที่มีเนื้อไม้เหลืออยู่ 45% ส่วน 30% เป็นต้นไม้ที่หักก่อนอยู่แล้ว
พร้อมกันนี้ รศ.นเรศร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคนิคการสแกนด้วยรังสีแกมมาพลังงานต่ำสามารถใช้ตรวจสอบการมีโพรงและขนาดของโพรงในต้นไม้ได้ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานเนื่องจากรังสีแกมมาที่ใช้มีพลังงานต่ำ ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะพัฒนาเครื่องสแกนดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

DSC_8087

DSC_8090

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image