มหาวิทยาลัยราชภัฏ ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร : โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ผมไม่แน่ใจนักว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละแห่งได้หยิบยกมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มาอ่านและตีความกันบ้างหรือไม่ ที่ระบุถึงเจตนารมณ์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างปัญญาของท้องถิ่น ที่สร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน…..” ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดั่งมาตรา 7 ที่ระบุไว้ดังนี้

“มาตรา 7 ให้มหาวิทยาลัยเป็นอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”

ส่วนในมาตรา 8 เป็นการระบุโดยสรุปว่า ในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 ได้กำหนดหน้าที่ตามภารกิจของมหาวิทยาลัยไว้หลายประการที่สำคัญ เช่น

(1) แสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ บนฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาสากล

Advertisement

(2) ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและผูกพันต่อท้องถิ่น อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน

(3) เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และนักการเมืองท้องถิ่น ให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรมจริยธรรม และความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

(4) เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพขั้นสูง

Advertisement

(5) ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

(6) ศึกษาวิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ผมจึงเห็นว่า มาตรา 7 และมาตรา 8 เป็นแนวทางที่ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏโดยส่วนใหญ่ก็มีการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศเฉกเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่หาความแตกต่างและความเป็นเอกลักษณ์ของ “ความเป็นราชภัฏ” ได้ยาก ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความได้เปรียบ โดยเฉพาะสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ที่มีทั้งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนมีพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และแหล่งเรียนรู้ที่มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นอีกมากมาย

แต่การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มักจะ “เดินหลงทาง” โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น นั้นก็คือ มุ่งเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ เหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไปเป็นหลักโดยไม่ได้คำนึงถึงภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 ที่มีความต้องการให้ใช้ทุนทางทรัพยากร ทุนของภูมิปัญญาท้องถิ่น และการสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ ทั้งในรูปของการให้บริการวิชาการและรูปของงานวิจัย เพื่อเสริมสร้างคุณค่า ความสำนึกในความเป็นไทย การสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

จึงทำให้ไม่สามารถสร้างความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยทั่วไปได้มากนัก

ที่สำคัญมหาวิทยาลัยราชภัฏตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู จนกระทั้งมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา การเติบโตของมหาวิทยาลัยนั้นมีลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่ ปรับสภาพแวดล้อม (Infrastructure) เป็นหลัก เป็นการให้น้ำหนักไปที่การลงทุน ประกอบกับรัฐบาลเองก็ให้งบประมาณมาเป็นการก่อสร้างตึกอาคารสถานที่เป็นจำนวนมาก และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีการแข่งขันการเข้าสู่ตำแหน่งอธิการบดีที่เข้มข้น ซึ่งทำให้ในบางแห่งมักจะมีปัญหาเรื่องการแย่งชิงอำนาจในการแข่งขันเข้าเป็นอธิการบดี หรือมีการสืบทอดอำนาจอยู่บ่อยๆ

ประกอบกับการแต่งตั้งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏในบางแห่งก็เช่นกัน ที่อาจจะแต่งตั้งจากกลุ่มคนรู้จักคนสนิทชิดเชื้อกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและอธิการบดี ส่งผลให้สภามหาวิทยาลัยในฐานะกำกับนโยบาย จึงทำหน้าที่ในเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นได้ไม่มากนัก เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกลายเป็น “กรรมการตรายาง” ให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏกำลังก้าวสู่ยุคที่มหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละแห่งต้องแสวงหาจุดต่าง และสร้างอัตลักษณ์ ที่เป็นจุดเด่นของตนเองให้เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ โดยเฉพาะการเน้นให้ผู้เรียนสำนึกในความเป็นไทย มีความรู้คู่คุณธรรม มีความรักต่อท้องถิ่น และความภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ และนี่คือบัณฑิตราชภัฏที่คาดหวัง

ส่วนการพัฒนาท้องถิ่นต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะการให้บริการทางวิชาการ และงานวิจัยที่ตอบโจทย์คนในท้องถิ่น ทั้งด้านการเกษตร การประกอบอาชีพ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ และการบริการในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ความเข้มแข็งของวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ที่สำคัญการน้อมนำพระราโชบายที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ “ให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ของตน” โดยเน้นการเข้าถึงประชาชนและต้องวิเคราะห์และรับทราบปัญหาความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นด้วย

โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2561 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เชิญนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ เพื่อน้อมนำพระราโชบายเรื่องการศึกษาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถ่ายทอดสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยมีองคมนตรี 4 ท่าน เป็นผู้ประชุมถ่ายทอด ซึ่งประกอบด้วย

(1) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
(2) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย
(3) พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข
และ (4) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ

ทั้งนี้ องคมนตรีทั้ง 4 ท่านได้เน้นย้ำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทำงานให้เข้าเป้า การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และให้มหาวิทยาลัยไปดำเนินการเน้นภารกิจที่สำคัญใน 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ (1) ภารกิจการพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน และ (2) ภารกิจการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพครู

สำหรับภารกิจการพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน ต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏรู้จักท้องถิ่นตนเองให้ดีขึ้น โดยการสร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น เพื่อเป็นประโยชน์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ตลอดจนการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นเพื่อร่วมวางแผนพัฒนาท้องถิ่นภายใต้บริบทของพื้นที่และยุทธศาสตร์จังหวัด รวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับทุกภาคส่วนในพื้นที่

ที่สำคัญการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ ทั้งการส่งเสริมการวิจัย การสร้างพื้นที่การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และด้านอื่นๆ ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) เพื่อเป็นต้นแบบที่มีกิจกรรมและโครงการที่เป็นต้นแบบ (Best Practice) ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสวัสดิการสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

ส่วนภารกิจการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งผมเห็นว่าในส่วนนี้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่แล้ว โดยเฉพาะการสอนหลักสูตรคุรุศาสตร์ที่ฝึกหัดความเป็นครู มีโรงเรียนฝึกหัดครูมาตั้งแต่ในอดีต ทั้งการสอนในห้องเรียนและลงมือปฏิบัติในวิชาชีพที่มีการฝึกสอนในโรงเรียนที่อยู่ในชุมชน นอกจากนี้มีการคาดหวังให้มีการพัฒนาครูประจำการเพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพของคนให้มีความเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เพื่อทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง เช่น งานจิตอาสา งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศล ซึ่งเป็นการทำด้วยความมีน้ำใจและความเอื้ออาทร

ตลอดจนการมุ่งสร้างพื้นฐานการผลิตบัณฑิตที่มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมที่สามารถแยกแยะสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงามได้

ผมจึงเข้าใจว่า สังคมกำลังจ้องมองไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏว่าจะมีอะไรโดดเด่นที่สามารถสร้างจุดต่าง ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม และในส่วนการทำภารกิจเพื่อตอบโจทย์ว่า จะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างไรก็เช่นกัน คนราชภัฏในแต่ละแห่งจะต้องระดมความคิดเห็นร่วมกันในการทำภารกิจของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ส่วนการผลิตบัณฑิตซึ่งก็น่าจะทำให้เป็นเอกลักษณ์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณสมบัติของบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ต้องส่งเสริมให้มีทักษะความสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างโดดเด่น ทั้งในแง่ของความสำนึกเป็นพลเมือง สำนึกความเป็นไทย มีความรักความผูกพันต่อท้องถิ่น

ผมจึงมีข้อเสนอต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การผลิตครู ให้เป็นครูที่มีความเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และการพัฒนาวิชาชีพครูให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง

นอกจากนี้แล้วในการทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีพื้นที่ปฏิบัติการชุมชน (Social Lab) เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งของคณาจารย์ บุคลากร และชุมชน โดยต้องทำให้มีความโดดเด่นในแต่ละด้านตามสภาแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถทำให้เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้ โดยเฉพาะการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมที่เป็นแบบอย่างได้เช่นกัน

ส่วนการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวนั้นผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องจัดให้มีกลไกในการดำเนินงานอย่างจริงจังเป็นกรณีพิเศษ เช่น อาจจะจัดตั้งสำนักงานศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสำนักศึกษาวิจัย ส่งเสริม สืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นตัวเร่งพัฒนางานทางวิชาการและการวิจัยด้านท้องถิ่น โดยให้มีการจัดทำทำเนียบกลุ่มอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานการให้บริการทางวิชาการและวิจัย

ผมคาดหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏตอบโจทย์ที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้อย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image