หนุน รธน.ให้เรียนฟรี 12 ปีเริ่ม’อนุบาล’ นักวิชาการแนะรัฐสานต่อ’เรียนฟรี 15 ปี’ ชี้ช่วยคนยากไร้พ้นวงจร’โง่-จน-เจ็บ’

นายสุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงการปฏิรูปการศึกษาที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยร่นการจัดการศึกษาฟรี 12 ปี ลงมาในระดับปฐมวัย เพื่อรองรับคนยากจน เนื่องจากระดับมัธยมปลายจะได้รับการดูแล เพราะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนที่มีฐานะจะจ่ายเอง จึงจะทำให้ความทัดเทียมเกิดขึ้นได้ ส่วนอนาคตหากรัฐบาลมีเงินก็ขยายเป็น 15 ปีได้ ว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ร่นลงมาดูแลเด็กระดับอนุบาล 3 ปี ซึ่งไม่มีปัญหา และไม่รู้สึกห่วง ข้อกำหนดต่างๆ เป็นเพียงการวางกรอบกว้างๆ ไว้ว่ารัฐต้องดูแลในเรื่องใดบ้าง แต่ยังต้องมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และกฎหมายลูกอื่นๆ มารองรับ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดลงไปได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าส่วนสำคัญที่จะทำให้การศึกษาพัฒนาได้จริงๆ คือการจัดการเรียนการสอนที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับผู้ปกครอง และนักเรียนชั้น ม.4-6 และนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อาจรู้สึกว่าเสียสิทธิที่เคยได้รับ ดังนั้น ควรจะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ว่านักเรียนปัจจุบันที่กำลังศึกษาอยู่ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ให้ได้รับสิทธิเดิม จนกว่าจะจบ ม.6 และเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้กับเด็กที่เข้าเรียนระดับอนุบาล ในปีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว หรือหากในอนาคตรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ ก็ขยายเป็น 15 ปีได้ ส่วนโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพนั้น ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น หากจะต้องเนินการต่อ ควรต้องปรับวิธีการให้เหมาะสม” นายสุมิตรกล่าว

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า ค่อนข้างพอใจภาพรวมเรื่องการศึกษาที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการศึกษาจะไปแทรกอยู่ในส่วนอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญด้วย ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเทศมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และไม่มีแนวโน้มจะลดลง ดังนั้น ต้องมาดูว่าอะไรที่ปรับลดค่าใช้จ่ายได้ และต้องยอมรับว่าปัจจุบันการศึกษาระดับอนุบาลมีความจำเป็น เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องตัดระดับมัธยมปลายออกไป แต่ก็ยังมีกองทุนการศึกษาที่มาช่วยดูแลเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนต่อได้ ส่วนสายอาชีวศึกษาในขณะนี้ ชัดเจนว่ามีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยมีโครงการประชารัฐ ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษา เป็นการลดภาระของภาครัฐในการผลิตคนสายอาชีวะไปได้มาก สำหรับโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพนั้น รัฐบาลควรจะเดินหน้าต่อ เพราะถือเป็นขั้นพื้นฐานของการจัดการศึกษา ไม่ใช่โครงการประชานิยม เพราะถ้าเด็กยากจนแล้วยังไม่ได้เรียนอีก ก็จะกลับไปสู่วงจรเดิมคือ โง่ จน เจ็บ แต่หากมีการศึกษาก็จะพัฒนาไปข้างหน้าได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image