ดราม่า ‘ทีแคส’ žล่มซ้ำซาก ซอฟต์แวร์ 100 ล้าน..ก็เอาไม่อยู่

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ใช้งบกว่า 100 ล้านบาทเพื่อลงทุนกับระบบซอฟต์แวร์ สำหรับใช้ในการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือทีแคส ซึ่งเริ่มดีเดย์ครั้งแรกปีการศึกษา 2561 แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาในการรับสมัครทีแคสรอบ 3 รับตรงร่วมกัน เกิดระบบล่ม ระบบอืด จนถึงขั้นต้องขยายวันรับสมัครออกไปถึง 2 รอบ

จากเดิมกำหนดรับสมัครวันที่ 9-13 พฤษภาคม ระบบล่มตั้งแต่วันแรกของการรับสมัคร ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เช่น จะเรียนชาตินี้ ไม่ได้เรียนชาติหน้า อย่าล่มให้มันมาก, งวดนี้ออก 404 ให้ ทปอ.ทำนายกัน, TCAS61 ล่ม ล่ม ล่ม อนาคต‚เนี่ยจะล่ม ข้อดีของ TCAS61 คือสอนให้รู้จัก รอŽ เป็นต้น จนต้องขยายวันรับสมัครมาถึงวันที่ 14 พฤษภาคม (9-14 พฤษภาคม) แต่ระบบก็ยังไม่ดีขึ้น แม้จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง โดยนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธาน ทปอ. ถึงขั้นออกมาการันตีด้วยตัวเอง แต่ไม่ทันไร สุดท้าย ทปอ.ก็ต้องยอมรับว่า ระบบมีปัญหา ขาดความเสถียร เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าสมัครได้ จนต้องประกาศทดเวลาบาดเจ็บให้นักเรียนเป็นครั้งที่ 2 ออกไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม (9-19 พฤษภาคม)

ผลจากการขยับการสมัครทีแคสรอบ 3 (รับตรงร่วมกัน) ทำให้ต้องขยับปฏิทินการสมัคร ทีแคสรอบ 4 (แอดมิสชั่นส์) จากเดิมรับสมัคร 6-10 มิถุนายน เป็น 12-16 มิถุนายน ทปอ.รวมคะแนนและประมวลผลคะแนนจากเดิมภายในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นภายในวันที่ 2 กรกฎาคม ประกาศผลการคัดเลือกจากเดิม วันที่ 28 มิถุนายน เป็นวันที่ 4 กรกฎาคม

กระทบต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน เพราะการขยับปฏิทินเช่นนี้ยังทำให้มหาวิทยาลัยที่เปิดเรียนในช่วงเดือนมิถุนายน ขาดโอกาสในการรับเด็กเข้าเรียนเพิ่ม สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด ไม่คาดคิดว่าเด็กจะแห่มาสมัครพร้อมกันในวันแรกถึง 40,000-50,000 คนต่อวินาที ทำให้ระบบขัดข้อง ล่าช้า ทั้งที่ทาง ทปอ.คิดว่ามีการเตรียมความพร้อมมาแล้วอย่างดี ทั้งการลงทุนเรื่องซอฟต์แวร์มากกว่า 100 ล้านบาท และทีมจัดระบบ ซึ่งไม่ใช่มือใหม่ แต่เป็นทีมเดิมที่เคยผ่านการจัดระบบการรับนักศึกษาเข้าเรียนตั้งแต่ระบบเอ็นทรานซ์ ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (แอดมิสชั่นส์) จนมาถึงระบบทีแคส

Advertisement

งานนี้นายสุชัชวีร์ยอมรับความผิดพลาด พร้อมขอโทษน้องๆ โดยบอกว่าวันแรกที่เปิดรับสมัครทีแคสรอบ 3 (รับตรงร่วมกัน) ระบบคอมพิวเตอร์บริการรับสมัครตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 พฤษภาคม ผู้สมัครทยอยเข้ามาสมัครอย่างเป็นปกติ แต่พอเวลา 09.00 น. ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาสมัครพร้อมกันถึง 50,000 กว่าคนต่อวินาที โดยไม่คาดคิดดั่งคลื่นยักษ์ สึนามิ เกินกว่ากำลังที่ประตูระบบจะรับได้ ทำให้เว็บสมัครเกิดปัญหาขึ้นมาทันที ถึงแม้ระบบจะถูกกู้กลับมารับสมัครได้อีกครั้งในชั่วโมงถัดมา แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการรับสมัครในช่วงวันแรก ทปอ.จึงได้ประกาศขยายเวลาชดเชยไปอีก 1 วัน จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม และจากนั้นถัดมาอีก 2 วัน ก็ได้ขยายเวลาต่อถึงวันที่ 19 พฤษภาคม เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลของผู้สมัคร 

“ระบบสารสนเทศการรับบุคคลเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของ ทปอ. ได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษางานสารสนเทศที่มีประสบการณ์งานสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้าใจเรื่องกระบวนการรับสมัครมาตั้งแต่ครั้งการสอบเอ็นทรานซ์แบบเดิม ที่พัฒนาต่อเนื่องมาถึงระบบทีแคส ทันทีที่เกิดเหตุการณ์นี้ ผู้บริหาร ทปอ.และอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้นำผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานราชการและเอกชนชั้นนำ ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการจัดการแก้ไขระบบการรับสมัครออนไลน์ และระบบฐานข้อมูล เข้าร่วมสนับสนุนการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มกำลังระบบทันทีเต็มกำลัง โดยได้ดำเนินการปรับปรุงระบบทางเข้าหรือการล็อกอินให้รองรับได้มากขึ้น 3 เท่าตัว เพิ่มเซิร์ฟเวอร์จาก 4 เครื่อง เป็น 12 เครื่อง เมื่อผู้สมัครเข้าสู่ระบบแล้วยังใช้เทคนิคการสร้างระบบบ่อพักข้อมูลบนฐานข้อมูลหลัก ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้การเขียนข้อมูลลงระบบฐานข้อมูลมีความรวดเร็วขึ้น เพราะจะมีการพักข้อมูลที่จะเขียนลงในถังพักข้อมูล ก่อนที่จะนำข้อมูลของผู้สมัครลงไปบรรจุลงระบบฐานข้อมูลหลักต่อไป ทำให้สามารถแก้ปัญหาการแออัด และการติดคอขวด ช่วยให้เกิดการเลื่อนไหลมากยิ่งขึ้น และทีมงานยังปรับปรุงโปรแกรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ ทำให้การจัดการข้อมูลทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นŽ” นายสุชัชวีร์กล่าว

ทั้งนี้ ปีการศึกษา 2561 มีเด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ประมาณ 387,000 คน ทปอ.เปิดรับสมัครทีแคสรวม 5 รอบ ผ่านไปแล้ว 2 รอบ รอบที่ 1 แบ่งเป็นรอบที่ 1/1 พิจารณาจากพอร์ตโฟลิโอ เปิดรับ 107,765 คน ใน 75 มหาวิทยาลัย สมัคร 134,859 คน ยืนยันสิทธิ 39,847 คน คิดเป็น 37% รอบที่ 1/2 เปิดรับ 60,726 คน ใน 54 มหาวิทยาลัย สมัคร 64,828 คน ยืนยันสิทธิ 25,476 คน คิดเป็น 42% และรอบที่ 2 การรับแบบโควต้า โครงการพิเศษต่างๆ รับ 144,873 คน ใน 78 มหาวิทยาลัย สมัคร 224,124 คน ผ่านเคลียริ่งเฮาส์ 84,043 คน

Advertisement

เท่ากับว่ายอดรวมการสมัครทีแคสรอบ 1-2 มีเด็กมีที่เรียนแล้ว ประมาณ 149,000 คน ประมาณการณ์ว่ายังเหลือเด็กที่จบชั้น ม.6 และยังไม่มีที่เรียนอีกเกือบ 200,000 คน ที่จะสมัครระบบทีแคสรอบ 3 และทีแคสรอบ 4 รอบ (แอดมิสชั่นส์) ส่วนที่เล็ดลอดบางส่วน มหาวิทยาลัยสามารถตามเก็บตกได้ในรอบที่ 5 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย คือการรับตรงอิสระ ซึ่งจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม ดังนั้นต้องลุ้นกันต่อว่าเหลือเวลาอีก 3 วัน ทีแคสรอบ 3 จะมีดราม่าให้ระทึกกันต่ออีกหรือไม่ ที่สำคัญ ทปอ. เตรียมวางหมากแก้เกมรับทีแคสรอบ 4 (แอดมิสชั่นส์) ไว้อย่างไร โดยวันที่ 16 พฤษภาคม ทปอ.นัดแถลงด่วนคาดว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน

และคำถามที่ ทปอ. ต้องตอบให้เคลียร์ คือ งบที่ใช้ในการจัดซื้อซอฟต์แวร์เพื่อจัดทำระบบทีแคสครั้งนี้ไม่ใช่น้อยๆ แต่ทำไมยังมีการสะดุด ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียชื่อ ทปอ. ที่เป็นแหล่งรวมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image