เปิดเทอมใหม่! ‘โรงตึ๊ง’ ฮอต! เตรียมเปิดแอพพ์ ‘จำนำ’ ออน โมบาย ดีแค่ไหนต้องพิสูจน์

เปิดเทอมใหม่…ทีไร ผู้ปกครองหลายคนมักอยู่ในอาการกุมขมับ เพราะต้อง “หมุนเงิน-วิ่งหาตังค์” เอามาจ่ายค่าเทอม ค่าหนังสือ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนให้ลูกๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาระหนี้สิน เพิ่มสูงขึ้น

คาดว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีค่าใช้จ่ายสะพัด 27,500 ล้านบาท

พร้อมระบุแหล่งเงินที่จะมาใช้จ่าย เงินออม 92% จากญาติ/เพื่อน 60% เล่นแชร์ 58% โรงรับจำนำ 54% บัตรเครดิต 19% บัตรกดเงินสด 7% กู้สถาบันการเงิน 7% และกู้เงินนอกระบบ 4%

Advertisement

จะเห็นได้ว่า 1 ในที่พึ่งของผู้ปกครอง คือ “โรงรับจำนำ”

ซึ่งจะเห็นเป็นภาพชินตา เมื่อโรงเรียนเปิดทีไร โรงตึ๊งจะคับคั่งไปด้วยผู้คนแทบหัวกระไดไม่แห้ง

ซึ่งปีนี้ “โรงตึ๊ง” ของรัฐ “สถานธนานุเคราะห์ (สธค.)” ที่มี 38 สาขาทั่วประเทศ ได้สำรองเงิน

Advertisement

เพิ่มสภาพคล่อง 500 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนในช่วงเปิดเทอม

อัตราดอกเบี้ย ก็คิดในเรตในอัตราต่ำ ดังนี้
-เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 บาทต่อเดือน
-เงินต้น 5,001-10,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 บาทต่อเดือน
-เงินต้น 10,001-20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 บาทต่อเดือน
-เงินต้น 20,001-100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน

สำหรับทรัพย์ที่นำมาจำนำส่วนใหญ่ อันดับแรกยังคงเป็น “ทอง” ถึง 95% รองลงมาคือ นาฬิกาข้อมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือช่าง ปากกา เครื่องดนตรี เครื่องมือการเกษตร รวมทั้ง เพชร-อัญมณี

ที่น่าสนใจคือ ของที่นำมาจำนำเพิ่มมากขึ้น คือ นาฬิกาข้อมือ

ส่วนของที่นำมาจำนำน้อยลงคือ โทรศัพท์มือถือ และกล้องดิจิทัล รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากจำนำไม่ได้ราคา เพราะทรัพย์ประเภทนี้ผลิตออกมาหลายรุ่นและต่อเนื่อง เสื่อมสภาพเร็ว และราคาในท้องตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่กลุ่มอาชีพที่นำทรัพย์มาจำนำ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มอาชีพรับจ้าง 86% รองลงมาเป็น พ่อบ้าน-แม่บ้าน 8% อาชีพค้าขาย 4% ที่เหลือเป็น ข้าราชการ นิสิตนักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ เกษตรกร

จะว่าไป “โรงรับจำนำ” ก็สะท้อนให้เห็น “สภาพสังคมไทย” ได้ไม่น้อย เป็นที่พึ่งของคนมีรายได้น้อย และคนที่ประสบปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า

ทว่า … เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จะให้โรงตึ๊งย่ำอยู่กับที่คงจะไม่ได้

โรงรับจำนำของรัฐ โดย สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม) จึงปรับปรุงระบบการดำเนินการให้ “ไฉไล” กว่าเดิม ด้วยการเตรียมเปิดตัวโครงการ Pawnshop on Mobile จัดทำ “แอพพลิเคชั่น” บนระบบมือถือ เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนและผู้ใช้บริการให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ

ที่เก๋..คือ แอพพ์ตัวนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลการรับจำนำได้ ไม่ว่าจะเป็น ดูรายละเอียดตั๋ว, ค้นหาตัวเลข , แจ้งเตือนวันกำหนดครบตั๋ว, e-cattalog ดูทรัพย์หลุดจำนำ, คำนวณดอกเบี้ย, ติดตามข่าวสาร, ค้นหาข้อมูลข่าวสาร

พร้อมเปิดให้บริการให้ดาวน์โหลดบนมือถือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป

อีกไม่นาน ก็จะได้เห็น “ระบบการจำนำ” ใหม่ไฉไลกว่าเดิม แต่จะรองรับบริการได้ดีแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image