มหา’ลัยไทย 4.0 : สู่ยุค ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’??

ขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่ยุคของการ “ปฏิรูป” ประเทศในด้านต่างๆ รวมถึง “การปฏิรูปการศึกษา” ทั้งระบบอีกครั้ง

การปฏิรูปการศึกษาที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กำลังทำอยู่ ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดในเวลานี้ น่าจะเป็นเรื่องการแยก “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา” (สกอ.) ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และยุบรวมกับ “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” จัดตั้งเป็น “กระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย” หลังจากเคยยุบรวม “ทบวงมหาวิทยาลัย” ไปอยู่กับ ศธ.ในการปฏิรูปการศึกษาใหญ่เมื่อกว่า 10 ปีก่อน

โดยคาดหวังว่า “สถาบันอุดมศึกษา” ตามโครงสร้างใหม่ จะเป็นตัวจักรสำคัญในการผลิตองค์ความรู้ นวัตกรรม งานวิจัย บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันได้ในเวทีโลก

แต่จากหลายกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ชักไม่แน่ใจว่า “สังคม ” และ “ประเทศชาติ” จะ “คาดหวัง” กับสถาบันอุดมศึกษาไทยได้จริงหรือไม่?? หรือคาดหวังได้มากน้อยแค่ไหน??

Advertisement

การแย่งกัน “รับ” นักศึกษารอบแล้วรอบเล่า ชนิด “ใครมือยาวสาวได้สาวเอา” จนสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระทั่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้อง “จัดระเบียบ” ระบบการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 หรือทีแคส จำนวน 5 รอบ

แต่ก็ไม่วายมีเสียงบ่นว่ามหาวิทยาลัยบางแห่ง “แหกคอก” ยัง “แอบ” รับนักศึกษาเอง เนื่องจากตัวเลขนักศึกษาไม่เข้าเป้า!!

ที่เป็นปัญหา “เรื้อรัง” กรณีบัณฑิตในหลายสาขาวิชาที่เป็น “วิชาชีพ” รวมตัวกันร้องเรียนต่อ สกอ.หรือ ศธ.เพราะใช้วุฒิการศึกษาเพื่อเรียนต่อ หรือทำงานไม่ได้ เนื่องจากหลักสูตรไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะจัดการเรียนการสอนโดย “ไม่” เป็นไปตามเงื่อนไข

Advertisement

แต่ที่น่าจะกลายเป็นปัญหาวิกฤตในอนาคตอันใกล้ คือ “ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา” และ “ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา” ยัง “สกัด” ไม่ให้ “สภาวิชาชีพ” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลหลักสูตร ทั้งการรับรองหลักสูตร หรือการจัดการเรียนการสอน แต่ให้เป็น “อำนาจ” ของ “สภามหาวิทยาลัย” โดยตรง

ทำให้ “สมาพันธ์สภาวิชาชีพ” ซึ่งมีสมาชิก 11 สาขา ยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และนายกรัฐมนตรี เพราะขนาดมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อ “รับประกัน” เบื้องต้นว่าผู้เรียนจะมี “มาตรฐาน” ตามเกณฑ์ที่กำหนด ไปจนถึงการจัดสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ยังมีผู้ผ่านการสอบรับใบอนุญาตฯ เพียง 10% ในแต่ละวิชาชีพ

ฉะนั้น หากไม่มีสภาวิชาชีพคอยกำกับดูแล มหาวิทยาลัยจะยิ่งเมินเฉยต่อคุณภาพหรือไม่ และตัวเลขบัณฑิตถูก “ลอยแพ” อาจพุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะสถาบันอุดมศึกษาอาจ “ปัด” ความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าบัณฑิตเหล่านั้น พ้นความรับผิดชอบของสถาบันไปแล้ว

ปัญหานี้ยังไม่รวมถึง การที่ไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีเงื่อนไขเปิดกว้างให้ “7 อาชีพ” เข้ามาทำงานได้ โดยต้องให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร เทียบโอน หรือให้เรียนเพิ่มเติมให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับไทย แต่เมื่อกฎหมายใหม่ขวางไม่ให้สภาวิชาชีพมีส่วนเกี่ยวข้อง จะทำให้ชาวต่างชาติเข้ามา “แย่งงาน” ได้โดยไม่มีเงื่อนไข

ล่าสุด กรณีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดรับสมัครนักศึกษาที่ถูก “รีไทร์” กลับเข้าเรียนปริญญาตรี โดยจ่ายค่าสมัคร 300 บาท และสอบสัมภาษณ์เท่านั้น

โดยผู้บริหารอ้างว่าต้องการเปิด “โอกาส” ให้นักศึกษา เนื่องจากสาเหตุที่พ้นสภาพอาจเพราะปรับตัวไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรียนไม่ได้ และเพื่อให้นักศึกษามีงานทำ และอาชีพที่ดีในอนาคต

ประเด็นนี้ ทำให้นักวิชาการ และสังคม วิพากษ์ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่าจะ “กระทบ” ต่อ “คุณภาพ” บัณฑิต และอุดมศึกษาไทยทั้งระบบ!!

เพราะแม้จะเป็นการให้โอกาส แต่ “ขั้นตอน” การรับกลับเข้าเรียน กลับไม่มีมาตรฐาน ทั้งยัง “เทียบโอน” หน่วยกิตเดิมได้

หากเป็นเช่นนี้ ทำไมมหาวิทยาลัยไม่ “ยกเลิก” ระเบียบข้อบังคับเรื่องการรีไทร์ให้รู้แล้วรู้รอดไป

ไม่ต้องรอให้นักศึกษาถูกรีไทร์ และมหาวิทยาลัยก็ใจดีรับกลับเข้าเรียนใหม่ ซึ่งทำให้นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่าย “ซ้ำซ้อน”

หรือแนวทางนี้เป็นเพียงกลยุทธ์เพื่อหา “รายได้” เพิ่มของมหาวิทยาลัยไทย 4.0 ในยุคที่จำนวนนักศึกษาลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย

เพื่อความ “อยู่รอด” ของตัวเองเป็นหลัก

ท้ายที่สุด “นักศึกษา” ก็กลายเป็น “เหยื่อ” ของสถาบันอุดมศึกษาที่ไร้ซึ่งจรรยาบรรณ และเห็นแก่ได้ อยู่วันยังค่ำ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image