‘กอบศักดิ์’ยันแก้กม.ยุบรวมวท. ผุด ‘ก.อุดมศึกษาและวิจัย’ทันก่อนเลือกตั้ง (คลิป)

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต ตอนหนึ่งว่าการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทุกคนเห็นด้วยที่จะต้องแยกอุดมศึกษา ออกจากศธ.  เป้าหมายเพื่อผลิตกำลังคน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การออกแบบโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา เราพยายามทำให้เป็นกระทรวงที่เล็ก แต่มีความสำคัญ มีวิสัยทัศน์ในการสร้างคน ยกระดับงานวิจัย มีความคล่องตัว ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำงานได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย กระทรวงนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 หน้าที่สำคัญคือเป็นตัวเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย กับนโยบายของประเทศ สร้างคนที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ยกระดับประเทศออกจากกับดักผู้มีรายได้ปานกลาง หรือประเทศที่ไม่เจริญ ทำงานเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัย  สร้างสินค้า ลดการนำเข้า และมีหน้าที่สำคัญในการประสานงานเรื่องงบประมาณ ดูจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ว่าตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งรัฐให้งบฯ ผลิตบัณฑิต หัวละ1.2-1.5 แสนบาท แต่ต่อไปทุกหลักสูตรจะเป็นแบบนี้ ถ้าผลิตไม่ตอบโจทย์มหาวิทยาลัยก็ต้องหาเงินเอง โดยขณะนี้ศธ.ได้ส่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแล้ว

“กระบวนการจัดตั้งกระทรวงการอุดมฯ เดินมาค่อนทางแล้ว แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน นายกฯ สั่งการให้รวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ มาตั้งเป็นกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่งเรื่องนี้เราเคยคิดตั้งแต่ร่างกฎหมายช่วงแรก แต่ติดเรื่องเงื่อนเวลาที่จำกัด และเรามีเป้าหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษาเกิดก่อนเลือกตั้ง เพราะเชื่อถ้าว่าหลังเลือกตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไม่เกิดแน่นอน  แต่เมื่อนายกฯให้ปรับใหม่เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย ผมคิดว่าอาจจะใช้เวลามากขึ้น และอาจไม่ทันตามกำหดน แต่ผมคุยกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยืนยันว่า สามารถทำได้ทัน โดยใช้เวลาปรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 2-3 เดือน ซึ่งถ้าผ่านช่องทางคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ คิดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็ว ผมเองก็ไม่ทันข้อง หากรวมกันได้จะเป็นการเสริมพลัง และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมากรวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วย”รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.กล่าวและว่า ส่วนกระทรวงใหม่จะมีคำว่า “อุดมศึกษา” หรือ “วิจัย” ขึ้นก่อนนั้น มองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และการวมกันก็ไม่ได้ทำให้วิสัยทัศน์ที่วางไว้เปลี่ยนไป ส่วนการรวมกันจะทำให้เกิดแรงต้านจากคนภายใน วท.หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการวธ. ต้องไปทำความเข้าใจ เพราะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมปรับมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษาแล้ว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image