ศธ.บูรณาการข้อมูลหวังเพิ่มแต้มดัชนีชี้วัด ยกอันดับการแข่งขันปท.(คลิป)

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อยกอันดับความสามารถแข่งขันของประเทศ ว่า เพื่อยกอันดับขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งตัวชี้วัดใหญ่คือความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index หรือ GCI) โดย ศธ.จะต้องรวบรวมรายงานไปที่ Institute for Management Development (IMD) ที่เป็นองค์กรรับผิดชอบการจัดอันดับในระดับโลก อีกทั้งไทยมีเป้าชัดเจนเรื่องการยกระดับและพัฒนาทุกขีดความสามารถของประเทศ ดังนั้น การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานการพัฒนาทุกอย่าง ผลงานของ ศธ.โดยภาพรวมถือว่าจัดการศึกษาอยู่ในระดับที่ดี แต่ยอมรับว่าไม่สามารถตอบโจทย์ในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ จำเป็นต้องมาปรับรูปแบบการทำงานใหม่ เพราะที่ผ่านมาระดับความสามารถในด้านการแข่งขันของประเทศอยู่ในระดับล่าง

“ที่ประชุมวันนี้เห็นร่วมกันว่า ศธ.จะมีโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรวบรวมข้อมูล เพราะเห็นปัญหาที่พบคือ 1.ยอมรับว่าที่ผ่านมาการรวบรวมข้อมูลของ ศธ.ไม่ดีพอ แต่ละหน่วยงานรวบรวมข้อมูลของตนเท่านั้น หรืออาจจะเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ครบถ้วน และ 2.บางครั้งข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงกัน แต่ไม่บูรณาการข้อมูลร่วมกัน ทำให้รายงานข้อมูลไม่ครบถ้วน” นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันคือต้องปรับกระบวนการทำงาน ดังนี้ 1.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รับผิดชอบรวบรวมข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนที่ สศช.จะส่งต่อข้อมูลให้กับ IMD และจัดตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด มีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาบูรณาการข้อมูลร่วมกันมาเพื่อตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งไปให้สภาการศึกษา และ 2.ทบทวนตัวชี้วัดของ IMD ซึ่ง ศธ.รับผิดชอบตัวชี้วัดอยู่ 7 ตัวชี้วัด คือ อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา, ผลการทดสอบ Programme for International Student Assessment (PISA), ระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ, การสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน, การตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของการอุดมศึกษา, อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดย 7 ตัวชี้วัดนี้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ซึ่ง ศธ.ตกลงร่วมกับ สศช.ว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบหลักที่ ศธ.ที่ดำเนินการให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจ หาข้อมูล และจัดการข้อมูล บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่นมากขึ้น เพื่อส่งต่อของมูลไปที่สภาการศึกษาต่อไป

Advertisement

“เชื่อว่าหากบูรณาการข้อมูลดีขึ้น และทำให้ตัวชี้วัดต่างๆ มีคะแนนเพิ่มขึ้น ลำดับการจัดอันดับจะดีขึ้น และเร็วๆ นี้ จะจัดประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยผ่านสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อสร้างความเข้าใจ และให้ผู้ประกอบการรับรู้ผลการดำเนินงานของ ศธ.ว่าดำเนินงานและพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างไรบ้าง คาดว่าจะมีภาคเอกชนกว่า 200 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้การยกอันดับการศึกษาไทย” นพ.อุดมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image