‘ภาวิช’ ชี้เพิ่มเงินเดือนอาชีวะ7% แก้ปัญหาปลายเหตุ 

นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาอาชีวศึกษา โดยมีข้อเสนอคือเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับผู้จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นประมาณ 7% และเสนอให้ทุนเรียนฟรีในสาขาที่ขาดแคลนและพื้นที่พิเศษ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ว่า ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา มีข้อสังเกตดังนี้ 1.เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 2.สร้างปัญหาเพิ่มเติมในอนาคต และ3.ทุกสถาบันอาชีวศึกษาเผชิญปัญหาการแย่งเด็กในระบบระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เนื่องจากการเรียนอาชีวะเริ่มต้นเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมาเรียนต่อในสายอาชีวะ แต่ในสภาพความเป็นจริงคือโรงเรียนสายสามัญไม่ยอมปล่อยเด็กจบม.3 ออกมา เป็นต้น จุดนี้ กอปศ.จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่เพียงเเค่เพิ่มเงินเดือน 7% เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นเท่านั้น

“สอศ.ตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี 23 แห่ง เท่ากับว่าเป็นการตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมอีก 23 แห่งและสถาบันเหล่านี้อยู่นอกระบบอุดมศึกษา แต่อยู่ในระบบอาชีวะ เป็นอีกประเด็นที่สอดคล้องกับข้อเสนอที่ต้องการให้กระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัยควบรวมอาชีวศึกษาเข้ามาด้วย เพราะหากไม่เอาอาชีวะมาด้วย จะทำให้การศึกษาไทยไปไม่รอด และสถาบันอาชีวศึกษา 23 แห่งจะมีปัญหาในเรื่องของความอ่อนแอ เช่น ในระบบอุดมศึกษาที่มีข้อกำหนดว่าจะต้องมีอาจารย์ที่จบปริญาเอกจำนวน 30% แต่สถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญา มีอัตราอาจารย์ที่จบปริญาเอกแค่ 1-2% เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่บอกถึงความอ่อนแอด้านครูของสถาบันอาชีวศึกษา” นายภาวิช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image