มติชน เผยผลสำรวจ “เห็นด้วยกับระบบทีแคส รับเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่?”

จากกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส รอบ 3 รับตรงร่วมกัน เมื่อวันที่ 9-19 พฤษภาคม และมหาวิทยาลัยได้ทยอยประกาศผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมนั้น ล่าสุดเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล หลังจุฬาลงกรณ์ประกาศผลผู้ผ่านคัดเลือกรับตรงรอบ 3 ทำเอาหลายคนเกิดความสงสัย เพราะมีคนที่สอบติดกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ แห่งประเทศไทย (กสพท.) สามารถยื่นคะแนน และสอบติดคณะนอก กสพท.ได้ ทำให้เขามากั๊กที่คนอื่นที่อยากเข้าจริงๆ เพราะการสอบทีแคสรอบนี้ เปิดให้เลือกได้หลายสาขาแบบไม่มีลำดับ จนทำให้เด็กๆ และผู้ปกครองหลายคนเห็นว่า ระบบทีแคสไม่ได้แก้ปัญหาการกั๊กที่ซึ่งเกิดขึ้นในระบบรับตรงได้อย่างที่ ทปอ.คาดหวัง

“มติชนออนไลน์” จึงสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านว่า “เห็นด้วยกับระบบทีแคส รับเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่?” และมีความคิดเห็นอย่างไรต่อระบบดังกล่าว

โดยผลสำรวจทางทวิตเตอร์ พบว่า คนส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับระบบทีแคส มากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีผู้เห็นด้วยเพียง 6 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่บนเฟซบุ๊ก มีผู้เข้ามาแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับระบบทีแคสจำนวนมาก และเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่างๆนานา โดยเฉพาะเรื่องของระบบในการคัดเลือกที่กำลังเป็นปัญหาสำหรับนักเรียนที่จะต้องเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในตอนนี้

Advertisement

โดยมีความเห็นหนึ่ง ที่ระบุว่า “ทำแบบนี้ควรจะมีระบบที่หลังจากเคลียร์ริ่งแล้วเลื่อนผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปขึ้นมาจนเต็มจำนวนรับนะคะ เข้าใจว่าเด็กๆทุกคนก็ต้องเลือกทุกลำดับตามสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีไครการันตีได้ว่าคะแนนเท่านี้จะสอบได้คณะที่ตนเองต้องการหรือไม่ นอกจากสถิติคะแนนที่ผ่านมาซึ่งก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสอบได้หรือไม่จนกว่าผลจะออกมาแล้ว และในเรื่องระยะเวลาตั้งแต่การสอบที่มากมายไม่รู้อะไรบ้าง จนถึงการสมัครการประกาศผลซึ่งควรปรับปรุงทั้งระบบและระยะเวลาการรอคอยซึ่งยาวนานเกินไป ถ้าจะปรับอีกอย่างคือโรงเรียนนะคะทุกโรงเรียนทำยังไงจะมีมาตรฐานการสอนการสอบที่เท่ากัน ถ้ามาตรฐานเตรียมอุดม กับสวนกุหลาบเป็นยังไง รร.วัด…..หรืออื่นๆก็ควรจะมีได้เหมือนกันนะคะ”

อีกความเห็นหนึ่ง ว่า “อันดับแรกควรประกาศคะแนนสอบก่อนทั้งหมดทั่วประเทศจะได้โปร่งใสและเด็กจะได้ลือกคณะและมหาลัยตามที่คะแนนตัวเองสอบได้และควรมีลำดับคะแนนลองลงมาเสียบแทนที่สำหรับคนที่สละสิทธิ ในคณะนั้นหรือมหาลัยนั้น”

โดยคนส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ระบบใหม่นี้เป็นเรื่องของความคิดของคนรุ่นเก่า

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มีความความเห็น ที่เห็นด้วย กับแนวคิด 1 ที่นั่งสำหรับ 1 คน แต่ต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด และเด็กจะต้องมีการเตรียมตัวเลือกสาขา เลือกมหาวิทยาลัย หรือเลือกเป้าหมายก่อนล่วงหน้าหลายๆปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image