สพฐ.แจง ‘หลักสูตรคูปอง’หายจากระบบ เหตุสถาบันคุรุไม่อนุมัติ  แนะครูใช้สิทธิรอบ2 เริ่ม 15-22 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวว่าหลักสูตรของหน่วยพัฒนาครูในโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ รายหัวละ 10,000 บาท ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านการรับรองจาก สพฐ. 785 หลักสูตร เปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อช็อปปิ้ง แต่เมื่อถึงเวลาหลักสูตรกลับหายไปหลายหลักสูตร ส่งผลให้ครูที่จองหลักสูตรไว้เดือดร้อน ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเกิดจากสพฐ.ดึงหลักสูตรกลับไปพิจารณาอีกรอบพร้อมยกเลิกการจอง เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบรองรับนั้นว่า ไม่เป็นความจริง สพฐ.ได้ของบประมาณกลางไปแล้ว แต่สำนักงบประมาณตัด แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะปีที่แล้วไม่ได้ตั้งงบไว้ แต่ใช้วิธีดึงงบจากสำนักต่างๆ ที่มีจุดประสงค์เดียวกันมาใช้ ปีนี้จะใช้วิธีเช่นกัน แต่ปัญหาหลักสูตรหายไปจากระบบนั้น เกิดขึ้นจากการที่สถาบันคุรุพัฒนา ภายใต้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถให้เปิดรุ่นได้ ส่วนสาเหตุ จะเกิดขึ้นจากการที่วิทยากรไม่เพียงพอหรือวิทยากรไม่มีคุณสมบัติ อย่างไรหรือไม่นั้น ต้องไปสอบถามสถาบันคุรุพัฒนาที่เป็นผู้รับผิดชอบ

“การบุ๊กกิ้งหรือจองหลักสูตร เกิดขึ้นจากการที่สพฐ.ต้องการวางแผนการประหยัดงบ ปีที่ผ่านมานักวิชาการติงว่างบมหาศาลหมดไปกับการเดินทาง ปีนี้จึงเกิดระบบบุ๊กกิ้งเพื่อทราบยอดจองล่วงหน้า รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยพัฒนาครู เมื่อเขตพื้นที่ฯ ทราบยอดจอง จะได้ประสานหน่วยพัฒนาครูให้มาจัดอบรมในเขตพื้นที่ฯ หรือภายในจังหวัด ทุ่นค่าใช้จ่ายการเดินทางของครู เมื่อหน่วยพัฒนาครูได้รับการประสานงานจากเขตพื้นที่ฯ ก็สามารถกำหนดสถานที่และวันอบรมได้ แต่ปัญหาเกิดจากบางหน่วยพัฒนาครู ไม่ได้รับการประสานจากเขตพื้นที่ฯ เนื่องจากยอดจองกระจาย จึงต้องเสนอสถาบันคุรุพัฒนา ขอเปิดเป็นรุ่นๆ โดยกำหนดจังหวัดขึ้นเอง ขั้นตอนนี้สถาบันคุรุพัฒนา จึงพิจารณาอีกรอบ ส่งผลให้บางรุ่นไม่ผ่านการพิจารณา หลักสูตรจึงหายไปจากระบบ อย่างไรก็ตามสิทธิหัวละ 10,000 บาทยังไม่หาย ครูสามารถใช้สิทธิในรอบ 2 แทนได้” ผอ.สพค. กล่าวและว่า ย้ำว่าการพิจารณาหลักสูตรนั้น สถาบันคุรุพัฒนา ดูเรื่องวิทยากรและเนื้อหา ส่วนสพฐ. ดูความเชื่อมโยงกับ PLC การติดตามผลของหน่วยจัดและค่าใช้จ่ายว่าเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังและมาตรการในการประหยัดงบของสพฐ.หรือไม่ ซึ่งทำให้รอบแรกมีหลักสูตรผ่านการรับรอง 787 หลักสูตร ต่อมาขอถอนไป 2 หลักสูตร เหลือ 785 หลักสูตร ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท สำหรับครู 2.4 แสนที่นั่ง ขณะที่ปี 2560 ใช้งบ 1,400 ล้านบาท อบรมครูได้ 1.7 แสนที่นั่ง

“การรับรองหลักสูตรของ สพฐ. ได้มีการรับรองทั้งหมด 787 หลักสูตร และหน่วยพัฒนาถอนหลักสูตรไป 2 หลักสูตร ทำให้ในระบบของการจองหลักสูตร มี 785 หลักสูตร โดยที่ สพฐ. ประกาศขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจนว่า ในช่วงวันที่ 25 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2561 เป็นขั้นตอนการจอง คือ การจองของครู ซึ่งมีเพียงชื่อหลักสูตร เนื้อหา และชื่อหน่วยพัฒนา รวมทั้งรายละเอียดเงินค่าลงทะเบียน ยังไม่มีวันที่ และสถานที่ให้ครูเลือกจอง” นางเกศทิพย์ กล่าวและว่า ส่วนรอบ 2 มีหลักสูตรผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนาและสพฐ. จำนวน 733 หลักสูตร ขณะนี้อยู่ระหว่างหน่วยพัฒนาครูขออนุมัติเปิดรุ่นกับสถาบันคุรุพัฒนา จากนั้นสถาบันคุรุพัฒนา จะพิจารณาระหว่างวันที่ 6-13 มิถุนายน ครูช็อปปิ้งหลักสูตรวันที่ 15-22 มิถุนายน และเริ่มอบรมวันที่ 21 กรกฎาคม-16 กันยายน 2561

 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image