สพฐ.จ่อให้ออกจากราชการ ‘ผอ.ร.ร.บ้านท่าใหม่’ เซ่นโกงเงิน ‘อาหารกลางวัน-เสาไฟ-ถนนร.ร.’ (คลิป)

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. ซึ่งไปราชการต่างประเทศได้ส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ส่วนตัวมอบหมายให้ตนลงไปช่วยดูเรื่องการโกงเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก โดยตนได้หารือกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดศธ. และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) แล้ว ทราบว่าทางสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) ได้สั่งให้ศึกษานิเทศก์ ลงไปสุ่มตรวจ ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ลงไปกำกับดูแลโครงการอาหารกลางวัน ทั้งนี้ในส่วนของคณะทำงานของตน จะลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เริ่มจากวันที่ 8 มิถุนายน ที่โรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีคลิปนักเรียนกินขนมจีนคลุกน้ำปลาจากข้อมูลพบว่าเป็นเรื่องจริง โดยล่าสุดทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุราษฎร์ธานี เขต 2 สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ มาช่วยราชการที่เขตพื้นที่ฯ และตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว คาดว่าจะสรุปผลสืบสวนฯ ได้ในวันที่ 8 มิถุนายน

“เรื่องอาหารกลางวันเด็กมีปัญหามานาน โดยพบว่า ผอ.ร.ร.ใช้อำนาจเบิกเงินจากฝ่ายการเงินของโรงเรียนมาถือไว้เองคนเดียว และไปซื้อวัตถุดิบมาให้แม่ครัวด้วยตนเอง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งนี้ควรมีกรรมการตรวจสอบตามลำดับชั้น โดยในวันที่ 8 มิถุนายน ถ้าผลการสืบสวนฯ พบว่ามีมูลการทุจริตจริง จะขอให้ทางศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ผอ.ร.ร.บ้านท่าใหม่ ออกจากราชการไว้ก่อน จากนั้นเสนอให้ สพท.ตั้งคณะกรรมการสอบสวยวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป ทั้งนี้ ยังพบประเด็นทุจริตเกิดขึ้น ที่โรงเรียนบ้านท่าใหม่ อีกมากมาย เช่น กรณีได้รับงบปรับปรุงระบบไฟฟ้าเมื่อปี 2560 จำนวน 380,200 บาท ซึ่งตามระบบการจัดหาต้องมีเสาไฟ 8 ต้น แต่มีการตัดเหลือ 6 ต้น ราคาต้นละ 1,486 บาท รวมค่าแรง 500 บาท เท่ากับว่าเสาไฟหายไป 2 ต้น และยังมีประเด็นการทำถนนคอนกรีตภายในโรงเรียนระยะทาง 100 เมตร เมื่อปี 2560 ผู้อำนวยการโรงเรียนคนเดิมใช้เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนจำนวน 100,000 บาท ในการดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเบิกเงินเพิ่มไปอีกใน 4 รายการ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนรายหัว 100,000 บาท เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เงินอุดหนุนรายหัวเบิกเพิ่มเติม 21,500 บาท เงินรายได้สถานศึกษาที่ได้จากการทอดผ้าป่า 60,000 บาท และเงินรายได้อื่น ๆ ของสถานศึกษา อีก 23,866 บาทรวมทั้งหมด ที่อ้างว่าใช้ในการทำถนนคอนกรีต จำนวน 205,366 บาท ทั้งนี้คณะกรรมการสืบสวนฯ ลงไปตรวจสอบเอกสาร ยังพบว่า ไม่มีการทำระบบจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้อง ผู้อำนวยการโรงเรียนจ้างทำเอกสารส่วนตัว พบว่ามีใบเสร็จดำเนินการดังกล่าวเพียง 3 ใบ รวม 73,335 บาท ดังนั้นจึงถือว่ามีการทุจริตอย่างแน่นอน” พล.ท.โกศล กล่าว

พล.ท.โกศล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการอาหารกลางวัน ตนจะเสนอให้มีการปรับระบบ โดยให้มีการกำหนดเมนูอาหารกลางวันล่วงหน้า และประกาศแจ้งให้ทราบ เพื่อให้ตรวจสอบได้ ทั้งนี้นอกจากโรงเรียนบ้านท่าใหม่แล้ว ยังพบว่ามีปัญหาดังกล่าวในอีกหลายโรงเรียน ดังนั้นหากพบว่าโรงเรียนใดดำเนินการทุจริตอาหารกลางวัน ก็จะใช้มาตรการเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสพฐ.สามารถควบคุมการดำเนินการได้เฉพาะในส่วนการปฏิบัติ เพราะงบอาหารกลางวันอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดสรรลงไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กระจายไปสู่อำเภอและโรงเรียน ซึ่งนพ.ธีระเกียรติ เคยหารือของบดังกล่าวกลับมาไว้ที่ศธ.เพื่อความรวดเร็ว และให้ควบคุมได้ แต่ยังไม่เป็นผล

พล.ท.โกศล กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่ม ‘ครูชัยภูมิไม่ใช่แพะ’ จำนวน 31 รายร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ กรณีที่สพป.ชัยภูมิ เขต 3 ส่งหนังสือแจ้งเรื่องให้ชดใช้ทางแพ่ง ความรับผิดทางละเมิด หลังมีการชี้มูลความผิดจากองค์กรภาครัฐ กรณีสพป.ชัยภูมิ เขต 3 จัดสรรงบ ให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนคุณภาพ ชื่อว่า E-Classroom ใช้งบประมาณโรงเรียนละ 2.5 ล้านบาทนั้น ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเดิมที่มีการร้องเรียน ทราบว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสพฐ. ส่วนความคืบหน้าล่าสุดจะเป็นอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบรายละเอียด ส่วนกรณีการตรวจสอบงบจัดซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น งบประมาณ 6 แสนบาทต่อโรงเรียนนั้น ล่าสุดทางรัฐมนตรีว่าการศธ. มอบหมายให้สพฐ.ขอขยายเวลาการสิ้นสุดงบประมาณออกไปแล้ว เพื่อรอการตรวจสอบว่า ครุภัณฑ์ที่ส่งลงไปเป็นความต้องการของโรงเรียนหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ สพฐ.จะดึงงบประมาณกลับมาและแปลงไปทำประโยชน์อย่างอื่น รวมถึงตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ โดยมีผู้บริหารส่วนกลางร่วมด้วยนั้น มีคนพูดมา แต่ต้องรอข้อมูล ซึ่งตอนนี้พอรู้แล้วว่า คนที่อยู่ในสำนักต่าง ๆ ในสพฐ. มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้หลายคน และตอนนี้มีชื่อแล้วด้วยว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง เบื้องต้นรายชื่อที่มียังไม่ถึงผู้บริหารระดับสูง มีชื่อแค่ในระดับสำนัก

Advertisement

พล.ท.โกศล กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่พัสดุ สพป.นครราชสีมา เขต 5 มีการวางฎีกาเบิกเงินซ้ำ กับเงินที่โรงเรียนได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วนั้น ล่าสุดทางสพฐ. ได้มีคำสั่งย้ายผู้อำนวยการสพป. นครราชสีมา เขต 5 เข้ามาช่วยราชการที่สพฐ. แล้ว และผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 5 ได้ขอเข้าพบตน แต่ตนไม่ยอมให้พบ เนื่องจากพบพฤติกรรมแอบอ้างผู้ใหญ่ในพื้นที่ ทั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ แอบอ้างว่าสนิทกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) แอบอ้างว่าเป็นเพื่อนนายบุญรักษ์ และล่าสุดแอบอ้างว่าเจรจาเรื่องนี้กับตนแล้ว ซึ่งทราบว่า ผอ.สพท.รายนี้ไปอยู่พื้นที่ใดก็มีปัญหา ทั้งนี้หากสืบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูลจริง ก็สามารถใช้มาตรการ คสช. ให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ทันที และตนมั่นใจว่า เรื่องนี้มีมูลพันเปอร์เซ็นต์ ส่วนเจ้าหน้าที่พัสดุ คิดว่ามีส่วนรู้เห็นด้วย ส่วนกรณีพฤติกรรมของผู้บริหารสพป.บุรีรัมย์ เขต 2 มีการตกเขียว เรียกเงิน 10%จากผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ โดยให้โรงเรียนจ่ายก่อน 5% เมื่อได้รับงบแล้ว ให้จ่ายอีก 5% ในปีงบประมาณ 2562 นั้น ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้อำนวยการสพป.บุรีรัมย์ เขต 2 และสพฐ.ได้สั่งการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image