‘บุญรักษ์’ เล็งคุยเลขาฯ ก.ค.ศ.ถกทางออก ‘ผอ.-ครู’ แห้วขอ ‘ว13’

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีที่กลุ่มข้าราชการครูและผู้บริหารทางการศึกษาที่ยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ ศธ.0206.3/ว13 เรื่อง การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เรียกร้องให้ ก.ค.ศ.ชี้แจงถึงการพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ารับการประเมิน หลังพบว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กว่า 1 พันราย ได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจาก ก.ค.ศ.ใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ปี ทั้งที่ยื่นขอรับการประเมินตั้งแต่ปี 2559 แต่ ก.ค.ศ.เพิ่งแจ้งว่าไม่มีคุณสมบัติเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ว่า การพิจารณาขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยตรง เป็นเรื่องของสำนักงาน ก.ค.ศ.แต่เนื่องจากรางวัลที่ไม่ถูกนำมาพิจารณา เป็นรางวัลที่ สพฐ.กลั่นกรองแล้ว ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าคงต้องมาพูดคุยกันเกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจของ ก.ค.ศ.กับคณะกรรมการกลั่นกรองของ สพฐ.ซึ่งบางครั้งการใช้ไม้บรรทัดคนละอัน อาจทำให้มาตรฐานผิดเพี้ยน

นายบุญรักษ์กล่าวอีกว่า เร็วๆ นี้ สพฐ.จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่รู้สึกว่าเสียสิทธิ และรวบรวมประเด็นปัญหานำเข้าหารือ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ซึ่งอาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นทั้งฝ่ายผู้อำนวยการโรงเรียน ข้าราชการครูฯ และการตีความของ ก.ค.ศ.

“เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียน ครูฯ เห็นว่าควรได้รับสิทธิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องทบทวน ตีความว่าทำไม ก.ค.ศ.จึงเห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน ทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อให้มีผลว่าใครแพ้ ชนะ แต่เพื่อให้เป็นไปตามกติกาที่ประกาศไว้ ถ้าอะไรเป็นดุลยพินิจของ ก.ค.ศ.ต้องมาดูรายละเอียดว่าเป็นการตีความกว้าง หรือแคบ” นายบุญรักษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนที่ขอเข้ารับการประเมิน กำลังจะเกษียณอายุราชการ หากทบทวนไม่ทัน จะต้องคงสิทธิไว้ให้หรือไม่ นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ตนจะมีบันทึกในฐานะต้นสังกัดถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และเลขาธิการ ก.ค.ศ.ว่าควรจะต้องพิจารณาร่วมกันโดยด่วน ตอนนี้คงบอกอะไรไม่ได้ และแม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลการตัดสินของ ก.ค.ศ.แต่ต้องสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกัน ส่วนที่ ก.ค.ศ.ใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ปี ส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะบุคลากรของ ก.ค.ศ.ค่อนข้างน้อย และ ก.ค.ศ.เองทำงานไม่ได้หยุด ส่วนคนที่จะฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาล ก็ต้องดูว่าฟ้องได้หรือไม่ และ ก.ค.ศ.ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร แต่คิดว่าถ้าทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยมี สพฐ.เป็นตัวกลาง ปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายด้วยดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image