สมาคมเปรียญธรรมฯ ลั่นพระธรรมวินัยไม่ได้ห้ามจับ ‘ธนบัตร’ จับได้ ถ้าใช้เพื่อ ‘สังคม-พุทธศาสนา’

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายรักสยาม นามานุภาพ นายกสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมมอบหมายให้ทีมทนายความศึกษาข้อกฎหมาย จากกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ออกคำสั่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) สำรวจวัดเพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดระเบียบบริหารการเงินของวัด โดยมิให้พระภิกษุต้องจับเงิน ทั้งยังมีการยกพระธรรมวินัยมากล่าวอ้างด้วยนั้น ว่าจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายกับ พศ. อย่างไร ด้วยพศ.อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในพระธรรมวินัย เนื่องจากเมื่อพิจารณาความหมายของพระธรรมวินัยในเรื่องนี้ตามชั้นของพระบาลีแล้ว พบว่าสิ่งที่ พศ.ระบุในการแถลงข่าวชี้แจงในการออกคำสั่งดังกล่าวนั้น ถือว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้หรือไม่

นายรักสยาม กล่าวต่อว่า อีกทั้งยังถือว่าเป็นการบิดเบือนพระวินัยบัญญัติหรือไม่ เนื่องจากการเมื่อศึกษาในสิกขาบทที่ 18 ทรงบัญญัติไว้ว่า ชาตรูปํ วา รชตํ วา แปลว่า ทองคำ เงิน เครื่องประดับทองคำ เครื่องประดับเงิน แร่ทอง แร่เงิน รับหรือให้เขารับไว้เพื่อตนไม่ได้ ยกเว้นสงฆ์อนุญาตให้มีหน้าที่รับ สิกขาบทที่ 19 รูปิเยน กยํ วา วิกยํ วา แปลว่า รูปิยะ เงินเหรียญ ธนบัตร เช็ค บัตรเครดิต รับไว้ใช้สอยสิ่งจำเป็นได้ แต่อย่าไปทำธุรกิจซื้อขายเหมือนคฤหัสถ์ และสิกขาบทที่ 20 อย่าเอาของไปแลกเปลี่ยนของกับโยมหรือเดียรถีย์นอกศาสนา เช่น เอาจีวร ไปแลกผ้าโพกหัว ไม่ได้ ซึ่งเมื่อพระได้กระทำผิดดังกล่าวข้างต้น จะมีโทษในระดับลหุกาบัติ หรืออาบัติเบา ซึ่งมีโทษน้อย ให้สารภาพและตั้งใจสำรวมระวังใหม่

“จากสิกขาบทจะเห็นว่าพระธรรมวินัยห้ามไม่ให้รับทองคำ หรือเครื่องประดับ ส่วนเรื่องธนบัตร รูปียะ ไม่ได้ห้ามรับ แต่ห้ามไม่ให้ไปทำธุรกิจเหมือนโยม และข้อสำคัญห้ามนำของตนเองไปแลกกับของโยม อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามรับธนบัตรก็จริง แต่ก็ทรงเน้นย้ำว่า อย่าสั่งสมลาภสักการะ เช่นมีเงินแล้วไปออกรถหรู นั่นคือลาภสักการะ แต่หากมีเงินแล้วนำไปสร้างประโยชน์สังคม พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยกย่อง เหมือนดังบูรพาจารย์หลายรูปที่ได้ทำไว้แล้ว” นายรักสยาม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image