เล็งบูรณะด่วน ‘ตำหนักทอง พระเจ้าเสือ’ อธิบดีกรมศิลป์ชี้สุดล้ำค่ายุคปลายอยุธยา เชื่อฝีมือช่างหลวง

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เวลา 13.30 น. ที่วัดไทร แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะ ได้ทำการสำรวจสภาพของ “ตำหนักทอง” โดยมีการหารือร่วมกับนายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม ถึงการบูรณะโบราณสถานดังกล่าว

นายอนันต์กล่าวว่า ตำหนักทองแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามและยังหลงเหลือหลักฐานอยู่มากทั้งตัวเรือนไม้ และงานไม้แกะสลักบริเวณกรอบหน้าต่าง ซึ่งสะท้อนฝีมือช่างหลวง กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ.2505 อย่างไรก็ตาม สภาพที่เป็นอยู่ถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากสร้างขึ้นด้วยไม้ อาจมีบางส่วนผุพังแต่ซ่อนอยู่ด้านใน ดังนั้น จึงต้องสำรวจอย่างละเอียดและจะจัดทำโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างเร่งด่วน เบื้องต้นตนได้มอบหมายให้สำนักสถาปัตยกรรมทำการสำรวจอีกครั้งหลังจากวันนี้ รวมถึงจะสั่งการให้กลุ่มคนรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี เข้ามาช่วยดูแลงานลงรักปิดทองบนผนังด้านในตำหนักที่ยังหลงเหลืออยู่ด้วย

“สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ สำรวจรายละเอียดทั้งโครงสร้าง และรูปแบบสถาปัตยกรรม รวมถึงงานจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ โบราณสถานนี้สร้างจากไม้ ถ้าไม่สำรวจละเอียดอาจมีไม้ที่ผุซ่อนอยู่ข้างใน ดังนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการสำรวจ ซึ่งได้มอบหมายสำนักสถาปัตยกรรมแล้ว และจะให้กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมมาดูแลด้วย นี่คือโบราณสถานสำคัญของชาติ และหลักฐานเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อยุธยาตอนปลายที่ต้องได้รับการอนุรักษ์ นอกจากนี้ จะมีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ โดยพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันกับทางวัด” นายอนันต์กล่าว

Advertisement

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. พระครูกิตติญาณวัฒน์ (ศรี ญาณวโร) อายุ 81 ปี เจ้าอาวาสวัดไทร ได้เข้าร่วมหารือ โดยกล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างมากที่วันนี้อธิบดีกรมศิลปากรเดินทางมาด้วยตนเอง ที่ผ่านมาทางวัดพยายามดูแลตำหนักทองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียน จึงไม่กล้าบูรณะหรือกระทำการบูรณะด้วยตนเอง เพราะเกรงจะผิดกฎหมาย

จากนั้น พระครูกิตติญาณวัฒน์ ได้ขอให้นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะเยี่ยมชมหอกลองเก่าแก่ของวัดเพื่อหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์พร้อมกับตำหนักทอง ซึ่งเมื่อนายอนันต์ได้เยี่ยมชมหอกลองดังกล่าว ได้สั่งการให้สำนักสถาปัตยกรรมสำรวจและวางแผนขุดลอกพื้นดินเพื่อศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม โดยระบุว่า สามารถบูรณะได้ง่ายกว่าตำหนักทอง

นายปฏิวัติ ทุ่ยอ้น สถาปนิกชำนาญการ ประจำสำนักสถาปัตยกรรม กล่าวว่า เมื่อพิจารณารูปแบบหอกลอง คาดว่าอาจสร้างขึ้นยุคต้นรัตนโกสินทร์ หรืออย่างน้อยต้องเป็นช่วงหลังอยุธยาตอนปลายลงมา เนื่องจากมีประตูรูปวงโค้งยอดแหลม ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับการดำเนินงานเบื้องต้น อาจต้องทำการ “ขุดตรวจ” ทางด้านโบราณคดีก่อน อย่างไรก็ตาม รูปแบบหอกลองลักษณะนี้พบน้อยมาก

Advertisement

ทั้งนี้ ตำหนักทองวัดไทร ตั้งอยู่ริมคลองสนามชัย มีลักษณะเป็นศาลาหรือเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เดิมมีการลงรักปิดทอง โดยยังหลงเหลือภาพลายรดน้ำบนผังด้านในฝั่งหนึ่ง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยเป็นที่ประทับของ “พระเจ้าเสือ” หรือพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 เมื่อครั้งเสด็จผ่านทางคลองด่าน ต่อมาทรงอุทิศให้แก่วัด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ถึงเรื่องเล่าดังกล่าวซึ่งต่อมาได้เสด็จไปชมตำหนักด้วยพระองค์เอง แล้วทรงบันทึกว่าเป็นตำหนักโบราณจริง ความดังนี้

“เมื่อวันที่ 23 และวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2464 กรรมการให้เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นการพิเศษ สำหรับพระภิกษุสามเณรจะได้ชมตามปรารถนา พระครูถาวรสมณวงศ์ วัดไทร อำเภอบางขุนเทียน แขวงจังหวัดธนบุรี ได้มาชมหอพระสมุดฯ มาบอกว่า ที่วัดไทรมีตำหนักฝาเขียนลายทองรดน้ำอย่างตู้หนังสือในหอพระสมุดฯอยู่หลังหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือทรงสร้างไว้ ได้ความดังนี้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2464 ข้าพเจ้าจึงไปดูตำหนักที่วัดไทร เห็นเป็นตำหนักของโบราณจริง และมีเรื่องราวในพงศาวดารประกอบกัน ควรนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งเนื่องในโบราณคดี ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงคำอธิบายฉบับนี้ขึ้น สำหรับท่านผู้ที่เอาใจใส่ในโบราณคดี”

อนึ่ง สำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานทั้ง 2 แห่งภายในวัดไทร คาดว่าจะมีการเปิดรับบริจาคให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ รายละเอียดจะรายงานให้ทราบต่อไป

    

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image