สำรวจหอระฆัง ‘วัดพระยาทำ’ หลังถล่ม ครุฑหักร่วงจากวิมาน สิ้นสภาพโบราณสถานล้ำค่า (คลิป)

หลังเกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ณ หอระฆังวัดพระยาทำวรวิหารย่านบางกอกน้อยซึ่งถล่มลงมาขณะดำเนินงานบูรณะทับคนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

อธิบดีกรมศิลปากรได้นำทีมเข้าตรวจสอบพร้อมเร่งเสริมความมั่นคง อีกทั้งชี้แจงประเด็นต่างๆ ต่อสังคม นอกจากนี้ยังกระทำการบวงสรวงเพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด สักการะพระประธาน ไหว้บรมรูปพระเจ้าตากสิน

เหตุการณ์นี้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงอีกครั้งโดยถูกหยิบยกมาเทียบเคียงกับคราวอนุรักษ์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

“มติชนออนไลน์” ลงพื้นที่สำรวจสภาพล่าสุด พบว่ามีการนำอุปกรณ์กั้นพื้นที่บริเวณหอระฆังมีข้อความ “อันตรายห้ามเข้า”

Advertisement

ทิศเหนือของหอระฆังถูกนำโครงเหล็กค้ำยันเสริมความแข็งแรงเพื่อป้องกันการทรุดเอียง

ภายในรั้วสังกะสี พบประติมากรรมต่างๆกระจัดกระจาย แตกหัก เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นครุฑปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ซึ่งส่วนศีรษะและลำตัวแตกหักแยกออกจากกัน กระเด็นไปคนละทิศละทาง จากเดิมอยู่บนส่วนยอดของซุ้มหอระฆังบริเวณฐาน , ยอดหอระฆังหักร่วงลงสู่พื้น, ชิ้นส่วนอิฐกระจัดกระจายเต็มพื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังปรากฏรอยร้าวในโครงสร้างอย่างชัดเจนหลายจุด

Advertisement

ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า รอยร้าวดังกล่าวคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด โดยเชื่อว่าเกิดจากแรงกระแทกอย่างรุนแรงในขณะที่หอระฆังทรุดตัว
หลังเกิดข้อผิดพลาดในการดีดยกสถาปัตยกรรมดังกล่าว

สำหรับความโดดเด่นของหอระฆังแห่งนี้คือการเป็นโบราณสถานเก่าแก่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แล้วได้รับการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5

งดงามด้วยปูนปั้นที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบอย่างวิจิตรตระการตา อาทิ เทพพนม ครุฑยุดนาค และยักษ์ ทั้ง 4 มุมอันเป็นที่มาของคำที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจดีย์ยักษ์” นั่นเอง

ชาวบ้านรายหนึ่ง ไม่ประสงค์ออกนาม เล่าว่า วินาทีที่หอระฆังถล่ม เกิดเสียงดังกึกก้อง คนในขุมชนได้ยินกันหมด ส่วนตัวเสียดายอย่างมาก รู้สึกใจหายเพราะเห็นมาตั้งแต่เด็กจึงผูกพัน ต้องเดินผ่านทุกวัน แต่วันนี้กลับมีสภาพอย่างที่เห็น ซ้ำยังมีคนตายอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image