เทศกาล ‘ดิวาลี’ หรือ ‘ดีปาวลี’ ในเมียนมา

วันเดวาลีหรือดิวาลีหรือดีปาวลี เป็นวันหยุดราชการของเมียนมาตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.วันหยุดราชการในประเทศเมียนมา ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018

เป็นที่ทราบกันดีว่าเทศกาลดังกล่าวเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู เชนและซิกข์ มีตำนานความเชื่อแตกต่างกันไป มีการเฉลิมฉลองแทบจะทั่วโลกที่มีผู้นับถือศาสนาทั้งสาม ไล่เรียงไปตั้งแต่ในอินเดีย ซึ่งในแต่ละรัฐก็ฉลองความเชื่อที่แตกต่างกัน เนปาล ศรีลังกา เมียนมา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน อเมริกาใต้บางประเทศ รวมทั้งในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษซึ่งมีชาวฮินดูอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

คำว่า ดิวาลี มาจากคำว่า ทีปาวลี ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “แถวของตะเกียง” ซึ่งมาจากการจุดตะเกียงดินเล็กๆ จำนวนมากข้ามคืนยามราตรีเพื่อแสดงถึงความดีที่ชนะความชั่ว ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในรอบปีเพื่อรอรับพระนางลักษมี พระชายาของพระศิวะ เชื่อกันว่าพระนางจะมาเยี่ยมบ้านฮินดูในวันนี้ มีการจุดประทัดเพื่อขับไล่ความชั่วร้าย ผู้คนสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ แจกขนมหวาน ของทานเล่น ในหมู่สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อเป็นสิริมงคล ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับวันนี้ยังมีอีกหลายตำนานความเชื่อ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น

Advertisement

วันเดวาลีเป็นเทศกาลนำเข้ามาพร้อมกับอาณานิคมอังกฤษในเมียนมา การทำความเข้าใจวันเดวาลีในเมียนมาจำเป็นต้องเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์เมียนมาในยุคอาณานิคม

เมื่อพูดถึง ยุคหลังจากเมียนมาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เราต้องนึกถึงประเด็นแกนหลักของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ กล่าวคือ

(1) อังกฤษปรับปรุงระบบหลายๆอย่างของเมียนมา ระบบการปกครอง ระบบศาล ระบบเศรษฐกิจ โดยอังกฤษเอาเมียนมาไปผนวกไว้กับอินเดีย ขึ้นกับกระทรวงอินเดีย (Indian Office) ซึ่งทำให้อังกฤษไม่ค่อยได้ใส่ใจปัญหาหลายๆอย่างในเมียนมา ทำให้ชาวเมียนมาบางส่วนไม่พอใจ

(2)อังกฤษใช้เมียนมาเป็นฉางข้าวในการหล่อเลี้ยงอาณานิคมของตนเอง พัฒนาระบบการเกษตรเช่นขุดคลองต่างๆ จนเมียนมากลายเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

(3)อังกฤษมีนโยบายดึงแรงงานเข้ามาทำงานในเมียนมา ทั้งจากอังกฤษ อินเดียและจีน แต่ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะอยู่ในตัวเมือง ในขณะที่ชาวเมียนมาเองจะอยู่นอกเมือง

(4)การดึงชาวต่างชาติเข้ามานี้ทำให้ชาวอินเดียกลายเป็นเจ้าพ่อเงินกู้ ความจริงแล้วดอกเบี้ยไม่ได้สูงกว่าชาวเมียนมาปล่อยกู้เอง แต่เป็นชาวต่างชาติจึงกลายเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายกว่า

(5)ระบบเศรษฐกิจแบบที่อังกฤษนำมาใช้ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินต่อชาวเมียนมา กว่า 50% ของที่ดินในเมียนมาเป็นของคนที่ไม่ได้ทำการเพาะปลูก ชาวนาไร้ที่ดินทำกิน ยิ่งต่อมาเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้ชาวเมียนมาเกลียดชาวต่างชาติมาก โดยเฉพาะแขกอินเดีย

คำสำคัญของบริบทประวัติศาสตร์ช่วงนี้ คือ คำว่า แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานอินเดีย ซึ่งคำสำคัญ นี้จะเชื่อมโยงไปสู่เทศกาลเดวาลีในเมียนมา

ย้อนกลับไปในตอนที่เมียนมาทั้งประเทศเพิ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1886 ประชากรในเมืองย่างกุ้งมีชาวเมียนมาแท้ อาศัยอยู่อย่างเบาบางมาก แต่เป็นแขกอินเดียเสียร้อยละ 50 อีกร้อยละ 10 เป็นคนจีน ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อเมียนมาได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 ก็ยังคงมีแขกอินเดียตกค้างอยู่ในเมืองย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก

แขกอินเดียที่เข้ามาในเมียนมา สมัยนั้น จะเข้ามาทำงานประเภทงานกรรมกร ไม่ว่าจะเป็นแขกลากรถเจ๊ก แขกกวาดถนน แขกจุดตะเกียงหรือแขกตามประทีปและแขกเก็บขี้ไต้ตามถนนสายหลักในตอนกลางคืน แขกรดน้ำถนนไม่ให้ฝุ่นฟุ้ง แขกรับจ้างแบกหาม เป็นต้น งานที่แขกอินเดียทำนั้น เป็นงานที่คนเมียนมาไม่คิดสนใจจะแตะ เพราะได้ค่าแรงไม่คุ้มเหนื่อย และมองว่าเป็นงานระดับล่าง แขกเหล่านี้เข้ามาอาศัยในเมียนมา เพื่อหากินเสี่ยงโชคและทำงานโดยไม่เลือก เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็ส่งกลับบ้านเกิด หรือไม่ก็เดินทางกลับไปเอง แต่มิได้กลับไปเลย ยังมีเดินทางกลับมาที่เดิมอีก

มีเรื่องตลกเล่ากันในหมู่ชาวเมียนมาว่า ในยุคอาณานิคม มีชาวเมียนมาแท้ที่เดินทางมากจากทางแถบเมืองมันดะเล เข้ามาทำธุระหรือจับจ่ายใช้สอยสินค้าสมัยนิยมในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมอังกฤษที่มีความทันสมัยที่สุดในเมียนมาในช่วงนั้น เมื่อคนที่มาจากต่างจังหวัดนั่งรถลากของแขกอินเดีย เวลาที่รถลากผ่านตึกรามบ้านช่อง กระทรวง ทบวง กรม คนเมียนมาถามแขกลากรถเจ๊กว่า ตึกใหญ่นี้ของใคร บ้านหลังโตนั้นของใคร โน่น นี่ นั่น ของใคร และอะไร อย่างไร แขกลากรถเจ๊ก ก็จะตอบคำเดียวว่า मालूम नहीं ออกเสียงว่า maaloom nahin แปลว่า ไม่รู้ คนเมียนมาได้ยินเสียง maaloom nahin ว่า มะโลเนง คิดว่าเป็นผู้หญิงเมียนมาคนหนึ่งซึ่งร่ำรวยมากเป็นเจ้าของทุกอย่างในนครย่างกุ้ง ชื่อ นางโลเนง

ดังนั้นแล้ว วันเดวาลี ที่รัฐเมียนมาปัจจุบันประกาศให้เป็นวันหยุดราชการที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.วันหยุดราชการ เป็นผลสืบเนื่องจากบริบทประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม เมื่อศตวรรษที่แล้วนี้เอง

เทศกาลเดวาลีในเมียนมา สะท้อนให้เห็นความสำคัญของแรงงานชาวอินเดียที่เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในเมียนมาตั้งแต่สมัยอาณาณิคมและเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเมียนมา

วทัญญู ฟักทอง
นิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image