ม.พุทธศาสนาโลก จัดประชุม ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เทิดพระเกียรติ ในหลวง ร.9-สังฆราชองค์ที่ 19 

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากอโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก เปิดเผยว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)ร่วมกับองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เตรียมจัดงานการประชุมนานาชาติขึ้นในวันที่ 4-5 ธันวาคมนี้ เพื่อรำลึกและเทิดพระเกียรติใน 2 วโรกาส คือ วันพ่อแห่งชาติ รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ งานนี้ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการชื่อดังระดับโลกมาร่วมกันเขียนงานวิจัย ท่านละ 1 บท เพื่อรวบรวมขึ้นเป็นหนังสืออ้างอิงทางวิชาการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อันจะเป็นผลงานที่เป็นนโยบายหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยที่จะนำเสนอไปสู่สายตาของประชากรโลก ทั้งนี้นักวิชาการที่มาร่วมในครั้งนี้มี

1. ดร. สตีเฟน บี ยัง (Prof. Stephan Young) จากมหาวิทยาลัย Minnesota และเป็นผู้อำนวยการบริหาร Caux Roundtable for Moral Capitalism สหรัฐอเมริกา เขียนเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่รัฐบาลคุณธรรม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในฐานะเป็นวิถีทางของรัฐบาลคุณธรรม”

2. ดร. แพททริก เมนดิส (Prof. Patrick Mendis) อดีตวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา (ยุคคลินตัน) ศูนย์แฟร์แบ๊งก์เพื่อจีนศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เขียนเรื่อง “พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน”

3. ดร. เอ็มมา โทมาลิน (Prof. Emma Tomalin) จาก University of Leeds สหราชอาณาจักรศาสตราจารย์ทางด้านศาสนาและชีวิตสาธารณะ มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร เขียนเรื่อง “พระพุทธศาสนา และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ ๕ (การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศสภาพ และการให้อำนาจแก่สุภาพสตรีและเด็กผู้หญิง) – ปัญหาและการขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลง”

Advertisement

4. ดร. โจ แมกนุสัน (Dr. Joel Magnison) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง หนังสือของเขาขายดีทั้งในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น มีการแปลออกไปในหลายภาษา ชาวพอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา เขียนเรื่อง “เปลี่ยนแนวทางคิดเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจ – โครงสร้างสถาบันทางพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

5. ดร. แพททริก โอซุลิแวน (Dr. Patrick O’Sullivan) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เคยสอนในอังกฤษกว่า 25 ปีปัจจุบันเป็นนักวิชาการที่มีผลงานเขียนหลายเล่ม ปัจจุบันอยู่สถาบันการบริหารเกรโนเบิล เกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส เขียนเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นยูโทเปีย การโฆษณาชวนเชื่อ หรือ สัจธรรมที่ปฏิบัติได้”

6. นีน่า ซารด์จุนานี (Mrs. Nina Sardjunani) สำนักเลขาธิการ กระทรวงแผนพัฒนาชาติ ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอเรื่อง “นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้อย่างไร”

Advertisement

7. อินทิรา พี บาเฮรามศาห์ (Mrs. Indira P. Baheramsyah) ผู้บริหารมูลนิธิ the United in Diversity ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พิรามิดแห่งความสุข กรณีศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย”

ส่วนประเทศไทย ได้เชิญนักวิชาการไทยเข้าร่วมนำเสนองานวิชาการด้วยอีกหลายท่าน อาทิ ดร. พูมใจ นาคสกุล ที่ปรึกษามูลนิธิมั่นพัฒนา คุณนิกม์ พิศลยบุตร จากสถาบันศศิน

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์  กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จะนำรูปแบบการประชุมวิชาการตามแบบอย่างของสถาบันวิชาการระดับโลก นั่นคือการมอบหมายให้นักวิชาการศึกษาวิจัยเขียนงานขึ้น แล้วนำมาเสนอต่อเวทีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อให้วิจารณ์ เสนอแนะในมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ได้เชิญมาร่วมงานครั้งนี้ เป็นผู้รู้จากหลากหลายสาขาที่สอดคล้องกับมุมมองการพัฒนาโลกของสหประชาชาติ ซึ่งมีหลากหลายประเทศอาทิ จาก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนปาล ศรีลังกา อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ผู้แทนองค์กรนานาชาติ NGO และผู้เชี่ยวชาญสำคัญของประเทศไทย รวมประมาณ 50 ท่าน ก่อนที่จะได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อข้าราชการ นักวิชาการ ผู้บริหารองค์กร สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและประชาชนในประเทศไทยในช่วงบ่ายของวันที่ 5 ธันวาคม ณ ที่อาคารหอสมุดพระพุทธศาสนานานาชาติ มหาสิรินาถ พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ในงานนี้จะมีการจัดงาน 2 วันโดยจัดการประชุมด้านวิชาการกลุ่มย่อยที่ สำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก สวนเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท 24 และบ่ายวันที่ 2 จะจัดการประชุมที่อาคารหอสมุดพระพุทธศาสนานานาชาติ มหาสิรินาถ พุทธมณฑล จ.นครปฐม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image