ขุดวัดมหาธาตุ เมืองคอน เจอกระเบื้องรูปคนคล้าย ‘โนราห์’ นักโบราณฯเชื่อ จงใจสื่อความหมายบางอย่าง

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ผู้สื่อข่าวราายงานว่า สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงการค้นพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วิหารหลวง วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช คือชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ขนาดกว้าง 7 ซม. ยาว 11 ซม. หนา 1.4 ซม. มีลายประทับเป็นกรอบวงกลมขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร แสดงรูปบุคคลทำท่ายกแขน กางขา คล้ายท่ารำโนราห์ สวมเครื่องประดับศีรษะ (เทริด) โดยมีการพบเพียงชิ้นเดียวร่วมกับกระเบื้องที่มีลายประทับอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ลายดอกไม้ 4 กลีบ ลายดอกไม้ 8 กลีบ และลายรูปสัตว์ในขณะที่กระเบื้องผิวเรียบทั่วไปพบเป็นจำนวนมหาศาล จึงเชื่อว่ากระเบื้องดังกล่าวมีความพิเศษ น่าจะสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นสัญลักษณ์ของช่าง แหล่งผลิต หรือใช้แทนจำนวนนับ กล่าวคือ ในกระบวนการผลิต การเผา หรือการซื้อขาย อาจประทับตราเพื่อบ่งบอกจำนวนนับของกระเบื้อง

นักโบราณคดีเปิดเผยถึงอายุสมัยของโบราณวัตถุดังกล่าวว่า การสันนิษฐานเทียบเคียง (relative dating) จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระวิหารหลวง และผลการกำหนดอายุของอิฐที่ขุดพบในบริเวณนี้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ (Thermoluminescence) ได้ค่าอายุในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 หรือประมาณ 500 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา

สำนักศิลปากรที่ 12 ยังระบุว่า โนราห์ หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองที่ลือเลื่องในภาคใต้ สืบทอดมาแต่โบราณ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคาชิ้นนี้คือโบราณวัตถุ เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (tangible cultural heritage) เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งบอกว่า การแสดงโนราห์ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีมาช้านานแล้ว จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างคิดประดิษฐ์ลาย “คนรำมโนราห์” ประทับไว้บนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา

Advertisement

ทั้งนี้ กระเบื้องดังกล่าว พบจากการขุดค้นตั้งแต่ พ.ศ.2559 กระทั่งมีการศึกษาและกำหนดอายุด้วยวิธีการต่างๆ โดยล่าสุด เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image