‘สุจิตต์’ คาใจกระเบื้อง ‘โนราห์’ เชื่อเป็นรูปคนทำท่ากบในพิธีขอฝน ยกหลักฐานโชว์อื้อ

สืบเนื่องกรณีสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เปิดเผยการขุดค้นพบกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาที่วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช มีการประทับตรารูปบุคคล โดยสันนิษฐานว่า เป็นภาพ “โนราห์” ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ขุดวัดมหาธาตุ เมืองคอน เจอกระเบื้องรูปคนคล้าย ‘โนราห์’ นักโบราณฯเชื่อ จงใจสื่อความหมายบางอย่าง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน แสดงความเห็นว่า รูปดังกล่าว ไม่น่าใช่โนราห์ แต่เป็นรูปคนทำท่ากบในพิธีกรรมขอฝนมากกว่า เนื่องจากรูปที่ปรากฏไม่มีการสวมเทริดบนศีรษะ เป็นเพียงการทำท่ายกแขน กางขาเท่านั้น ซึ่งภาพลักษณะนี้เคยพบในภาพเขียนสีอายุ 2,500 ปีก่อน ที่กวางสี ทางใต้ของจีน รวมถึงในเมืองไทย นอกจากนี้ ไหหินที่ทุ่งไหหินในเชียงขวาง สปป.ลาว ก็สลักรูปนี้บนผิวของไหหินด้วย

“คนทำท่ากบ พบทั่วไป เช่น ลายทอผ้าในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งหมู่เกาะ และภาคพื้นทวีป สำหรับท่าทางของโนรา มีการตั้งเหลี่ยมท่ารำกระต่ายชมจันทร์ เหมือนคนทำท่ากบ เช่นเดียวกับโขน แม่ท่ายักษ์ แม่ท่าลิง เพราะเป็นสามัญลักษณะ ยืด-ยุบ ของฟ้อนระบำรำเต้นในอุษาคเนย์”

Advertisement

Advertisement

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า สำหรับโนราห์ เป็นละครชาวบ้านสมัยอยุธยา เป็นต้นทางละครนอกสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วแพร่กระจายลงไปทางภาคใต้ โดยผ่านเมืองเพชรบุรี ชื่อโนรากร่อนจากตัวเอกละครชาวบ้าน คือ นางมโนราห์ มีบทละครสมัยอยุธยา เป็นสมุดข่อย เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ พระสุธน มโนราห์ เป็นภาคจบของตำนานลุ่มน้ำโขง เรื่อง พระรถ เมรี ซึ่งถูกสร้างเป็นละคร มีผู้นิยมมากที่สุดในสมัยอยุธยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดอายุสมัยของกระเบื้องดังกล่าวว่า น่าจะมีอายุเก่าสุดคือ 500 ปี เป็นต้นมา เพราะอาคารสถาปัตยกรรมที่มีเครื่องบนเป็นไม้ ก็ย่อมจะต้องมีการซ่อมแซมเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาอยู่เป็นระยะ จึงอาจเป็นกระเบื้องที่ใช้มุงในระยะต่อมาก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ เป็นของเก่าแก่ รุ่นๆ สมัยอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image