กรมศิลป์เร่งตรวจสอบโบราณวัตถุ 104 ชิ้น เก่าสุดบ้านเชียง ‘4.3 พันปี’ หลังคนไทยส่งคืนรัฐบาล (คลิป)

‘กรมศิลป์’ เร่งตรวจสอบโบราณวัตถุ 104 ชิ้น เก่าสุดบ้านเชียง ‘4.3พันปี’ หลังคนไทยส่งคืนรัฐบาล

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีรับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อเป็นสมบัติของชาติ จากนายธรรมฤทธิ์ จิรา ผู้ครอบครองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวน 104 รายการ โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดวธ. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และผู้บริหารวธ. เข้าร่วมในพิธี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีรับมอบว่า วันนี้ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานรับมอบวัตถุโบราณ วัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติที่ล้ำค่า กลับคืนสู่แผ่นดินไทย หลังจากที่นายธรรมฤทธิ์ได้ส่งกลับให้กับราชการ เพื่อให้คนไทยได้ศึกษา ชื่นชม และภูมิใจในความเป็นไทย ตนในนามของรัฐบาลต้องขอขอบคุณครอบครัวนายธรรมฤทธิ์ ที่ได้เห็นความสำคัญของโบราณวัตถุ เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และหวังว่าสิ่งที่นายธรรมฤทธิ์ จะเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เก็บรักษาโบราณวัตถุนำกลับคืนราชการ เพื่อแบ่งให้คนไทยได้ชื่นชม ภูมิใจ และให้คนรุ่นหลัง เกิดความรักและห่วงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโบราณวัตถุจำนวน 104 รายการ ที่นายธรรมฤทธิ์มอบคืนให้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโบราณคดี และประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากจะมีคุณค่าทางวิชาการแล้ว ยังมีคุณค่าทางจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่จะได้เก็บรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต และกระบวนการพัฒนาของสังคม รวมทั้งอารยาธรรมบนผืนแผ่นดินไทย ที่มีความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนาน แม้สิ่งที่เราเห็นคือวัตถุ แต่มีสิ่งที่เราสะสมกันมายาวนานจิตใจของพวกเราของไทยทุกคน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตั้งแต่โบราณกาล คนไทยต้องคำนึงถึง ระลึกถึงในคุณูปการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานบันพระมาหากษัตริย์ที่ทรงรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ ตราบจนทุกวันนี้

“และที่ลืมไม่ได้คือต้องรู้ความเป็นมาของคนไทย ของประเทศไทย ถ้าไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์กับวัตถุโบราณเหล่านี้ จะไม่เกิดความภาคภูมิใจ ไม่เกิดแรงศรัทธาในการรักษาสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้เป็นการเจริญเติบโตที่ไม่มีรากเหง้า ซึ่งเป็นอันตรายที่สุด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยทุกคนควรจะสำนึก ว่าเรามีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์อย่างไร มีความภาคภูมิใจอย่างไร เราจะต้องไม่ให้ร้ายประเทศของเราซึ่งเป็นอันตรายที่สุดกับโลกยุคดิจิตอล เรามีอัตลักษณ์ของเรามีความเป็นคนไทย ความงดงาม ความสวยงาม ความอ่อนช้อย รอยยิ้มที่เป็นมิตรไมตรีจิต คือเสน่ห์ของคนไทยทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้อย่าได้ขาดหายไปจากคนไทยทุกคนในประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนไทยมีความเจริญรุ่งเรืองไปอีกยาวนานนับพันปี ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทุกอย่างดีขึ้น ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์จากสิ่งของเหล่านี้ หรือหนังสือหรือโบราณสถาน โบราณวัตถุอื่นๆ ก็จะไม่รู้ว่าเรามาจากไหน เป็นคนไทยมาได้อย่างไร และ ถ้าไม่รู้จักตัวเองว่ามีรากเหง้ามาจากไหน ก็จะไม่รู้ว่าจะรักประเทศไทยได้อย่างไร ของฝากให้สังคมเรียนรู้รับรู้จุดนี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

Advertisement

นายวีระ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มรดกอันล้ำค่าของชาติ จึงมีนโยบายในการติดตามหรือขอคืนโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติ โดยบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ และในช่วงที่ผ่านมา ได้รับคืนโบราณวัตถุของไทยจากสหรัฐอเมริกา และประเทศออสเตรเลีย จำนวน 8 ครั้ง รวม 751 รายการ และเมื่อเดือนธันวาคม 2561 วท.ได้รับการติดต่อจาก นายธรรมฤทธิ์ ว่ามีความประสงค์จะส่งมอบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง อายุราว 1,800 ถึง 5,000 ปี จำนวน 104 รายการ ไว้เพื่อเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนแสดงเจตจำนงจะมอบโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า จำนวนมากให้กับราชการ

“สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่นายธรรมฤทธิ์ มอบให้เป็นสมบัติของชาติในครั้งนี้ มีทั้งโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 1,800 – 4,000 ปีมาแล้ว ประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เครื่องประดับทำด้วยหิน แก้ว และเปลือกหอย บางชิ้นได้รับการซ่อมแซมต่อเติมให้มีสภาพสมบูรณ์ และมีวัตถุจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นศิลปวัตถุทำขึ้นเลียนแบบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 104 รายการ” นายวีระ กล่าว

นายวีระกล่าวต่อว่า โบราณวัตถุที่ได้รับมอบ สามารถกำหนดอายุสมัยตามแหล่งที่มา ดังนี้ 1.กลุ่มโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคกลาง หลักฐานประเภทภาชนะดินเผาที่พบ ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ ภาชนะดินเผาทรงก้นกลม คอคอด ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่มีฐานเตี้ย และไม่มีฐาน ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมนี้น่าจะได้แก่ภาชนะดินเผาทรงพานสูง และทรงบาตร นิยมตกแต่งผิวภาชนะด้วยการทาน้ำดินสีแดง กดประทับด้วยลายเชือกทาบ หรือขูดขีดด้วยเครื่องมือปลายแหลม มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี กำหนดอายุราว1,500 – 2,500 ปีมาแล้ว

Advertisement
โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคกลาง ภาชนะก้นกลม หรือมีเชิง ภาชนะทรงพาน อายุราว2,500-3,500 ปี

นายวีระ กล่าวเพิ่มว่า 2.กลุ่มโบราณวัตถุวัฒนธรรมลุ่มน้ำสงคราม หรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนครและหนองคาย หรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ภาชนะดินเผาในกลุ่มนี้มีรูปทรงที่หลากหลาย และสามารถจำแนกลักษณะออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ 1. ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุระหว่าง 3,000 –4,300 ปีมาแล้ว เป็นภาชนะดินเผาสีดำหรือเทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ย ตัวภาชนะมักจะตกแต่งด้วยลายขีดเขียนเป็นเส้นคดโค้ง ลายเชือกทาบ และลายกดประทับ 2. ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 2,300 – 3,000 ปี ลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ ผิวนอกเป็นสีขาว ไหล่ภาชนะหักเป็นมุม มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนหรือทา ด้วยน้ำดินสีแดง และ 3. ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 1,800 – 2,300 ปี นิยมเขียนลายและตกแต่งภาชนะด้วยสีแดง เป็นลวดลายที่สื่อถึงความหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ลายงู ลายก้นหอย และลายรูปสัตว์ เป็นต้น โดยโบราณวัตถุกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่นายธรรมฤทธิ์ มอบในครั้งนี้ ยังประกอบไปด้วย เครื่องมือเครื่องใช้โลหะ ซึ่งบ่งบอกถึงการสร้างสรรค์งานโลหะกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมบ้านเชียง ได้แก่ เครื่องประดับสำริด

โบราณวัตถุกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำสงคราม หรือกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง อายุราว 1,800 – 4,300 ปี

นายวีระกล่าวต่ออีกว่า และ 3. โบราณวัตถุกลุ่มแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำมูล ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล พบวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปทรงหลากหลาย ที่โดดเด่นคือแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี ภาชนะดินเผากลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีเนื้อดินสีส้ม การตกแต่งด้วยการขูดขีดที่บริเวณขอบปาก วัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องประดับ เครื่องใช้สอยสำริด พบว่าเทคนิคการผลิตเพื่อใช้หล่อสำริดมีฝีมือประณีต ซับซ้อน มีเทคนิคและลวดลายกับเครื่องสำริดในคล้ายกับวัฒนธรรมดองเซิน ประเทศเวียดนาม กำหนดอายุสมัยอยู่ในราว 1,500 – 2,500 ปีมาแล้ว ภาชนะดินเผาและวัตถุทางโบราณดีต่างๆ เหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการใช้ศึกษาวิเคราะห์ถึงวิถีชีวิตมนุษย์สมัยโบราณในแง่มุมต่าง ๆ ได้ เช่น พฤติกรรมด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ศิลปะ และสังคม เป็นหลักฐานในการจัดลำดับอายุสมัย และบ่งบอกช่วงเวลาของวัฒนธรรมและชุมชนในแหล่งโบราณคดีนั้น ๆ เป็นหลักฐานในการคำนวณความหนาแน่นของประชากร

โบราณวัตถุ กลุ่มแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำมูล ภาชนะดินเผากลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีเนื้อดินสีส้ม การตกแต่งด้วยการขูดขีดที่บริเวณขอบปาก อายุสมัยอยู่ในราว 1,500 – 2,500 ปี

นายอนันต์ กล่าวว่า โบราณวัตถุที่ได้รับมอบในครั้งนี้ กลุ่มโบราณวัตถุวัฒนธรรมบ้านเชียง ถือเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุด ขั้นตอนต่อไปกรมศิลปากรจะนำวัตถุโบราณ 104 ชิ้น ให้กลุ่มทะเบียนและภัณฑารักษ์ไปตรวจสภาพแหล่งที่มาอีกครั้งหนึ่ง และทำการอนุรักษ์เบื้องต้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จากนั้นจึงจะนำไปเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อสำหรับนำไปศึกษา หรือนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในแหล่งโบราณคดีนั้น ๆ ต่อไป ส่วนขณะนี้มีบุคคลภายนอกเข้ามาติดต่อขอมอบคืนโบราณวัตถุให้กับราชการอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่ความต้องการของแต่ละบุคคล แต่กรมศิลปากรจะนำโบราณวัตถุที่ได้รับกลับคืนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมาจัดแสดง เพื่อรณรงค์ให้เห็นคุณค่าของโบราณวัตถุและนำมาคืนให้กับภาครัฐต่อไป

ด้านนายธรรมฤทธิ์ กล่าวว่า ตนและครอบครัวได้ปรึกษากัน เรื่องการเก็บรักษาโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สะสมและเก็บรักษามาตั้งแต่สมัยคุณพ่อของตน ทางครอบครัวจึงตกลงกันว่า จะนำโบราณวัตถุทุกชิ้นกลับคืนสู่แหล่งอารยธรรมเดิม เพื่อให้เป็นสมบัติของชาติและให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้กันต่อไป ทั้งนี้ตนอยากจะขอเชิญชวนผู้ครอบครองวัตถุโบราณขอให้นำกลับมาให้ทางภาครัฐได้ดูแลรักษา ดีกว่าจะเก็บไว้ที่บ้านเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image