พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน ฟังสัตว์ป่าคุยกันและพิจารณายึดถือเนติแบบฉบับพระพุทธองค์ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ตอนที่ 14 พระอาจารย์มั่น ฟังสัตว์ป่าคุยกัน : ณ ที่นี่เอง ท่านก็ได้รู้จักภาษาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า เป็นต้นว่าลิงบ้าง นกบ้าง มันคุยกัน มิใช่ว่าท่านจะได้ยินเพียงแต่มีเสียงจิ๊ดๆ แจ๊ดๆ หรือกรี๊ดๆ แกร๊ดๆ แต่ว่ามันก็ใช้ภาษาของมัน ซึ่งบางครั้งท่านอาจารย์เล่าว่า… “พวกนกจะไม่รู้ภาษากันก็หาไม่ พวกมันก็ได้ตักเตือนกันอยู่ แต่มีบางตัวบางพวกก็ไม่เชื่อฟัง มันรู้เรื่องของมนุษย์ได้ดีว่า มนุษย์บางคนมีจิตใจโหดร้ายมาขโมยเอาลูกเราไป ทั้งๆ ที่เขาหวงแสนหวง แต่พวกนกหนูทั้งหลาย บางครั้งไปหากิน ลักขโมยของมนุษย์ตามไร่ตามสวนนั้น หาใช่ว่าพวกมันจะไม่รู้ก็หาไม่ พวกเขาก็ได้ตักเตือนกันอยู่ แต่พวกมันไม่ยอมเชื่อฟัง แต่บางทีพวกนักล่าลิงได้ยิงลิง แล้วเอามาลอกหนังกินเสียนั้น พวกลิงมันก็เห็นว่า มนุษย์นี้น่ากลัวยิ่งนัก แต่พวกที่ไม่เคยเห็นมนุษย์ฆ่าพวกมัน พวกมันจะไม่กลัว แต่ว่าพวกมันเห็นว่าเป็นตัวอะไร แปลกน่ากลัว นี้เป็นภาษาสัตว์ ซึ่งผู้ใดได้รู้และเข้าใจภาษาของมันแล้ว ก็จะทำให้รู้อะไรแปลกๆ ขึ้นมาก” และในบริเวณนั้น มีลิงอยู่ฝูงหนึ่งที่ไต่ยั้วเยี้ยอยู่ตามข้างๆ ถ้ำ บางครั้งพวกมันจะหายไป เพราะไปเที่ยวหากินตามที่ไกล ครั้นพอเวลาเย็น มันก็จะกลับมาอยู่ข้างถ้ำ ต่างก็สนทนากันทุกวัน บ้างก็ทะเลาะกัน บางทีก็สัพยอกหยอกกันตามภาษาของมัน ท่านอาจารย์มั่นได้เล่าให้พวกเราฟังว่า “น่าขำ บางตัวมันจะว่า ‘มึงได้อะไรมาไม่แบ่งกู กูได้มาก็ยังแบ่งให้มึง’ บางทีไปเจอลูกผลไม้อะไรที่อร่อยในลูกเดียวกัน มันก็ต้องยื้อแย่งกันจนต้องกัดกัน หัวหน้าหรือจ่าฝูงต้องมาห้าม บางทีเขาชอบพอกันระหว่างตัวเมียกับตัวผู้ มันก็ว่าฉันชอบเธอ อะไรทำนองนั้น แต่ที่ดีที่สุดนั้น คือ เขาจะมีการยำเกรงหัวหน้ากันมาก เชื่อกันจริงๆ พอหัวหน้าให้สัญญาณ มันจะต้องเงียบ ให้สัญญาณหากินกันได้ ก็รีบไปหากิน ให้สัญญาณกลับ ก็จะกลับกันทันที”

“มีอยู่สี่ห้าตัวซึ่งเป็นลิงชั้นหัวหน้า พากันมานั่งอยู่บนก้อนหินก้อนหนึ่ง ชำเลืองคอยดูท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลา แต่ท่านอาจารย์มั่นท่านก็มิได้เอาใจใส่ แล้วมันก็สนทนากันว่า ฤๅษีนี้ดีมาก ไม่เหมือนฤๅษีองค์ก่อนๆ ฤๅษีองค์ก่อนๆ นั้นบางทีก็ขว้างปาเรา เหมือนกับจะกินเรา และทำผิดธรรมเนียมของฤๅษี ไม่ทำความเพียรเหมือนฤๅษีเราองค์นี้นั้นเอง ถึงได้ต้องตายกันจนหมด เราเข้าใจว่าฤๅษีองค์นี้คงไม่ตายแน่ เพราะฤๅษีองค์นี้ร่างกายท่านผ่องใสมาก”

ท่านอาจารย์ท่านได้ยินพวกมันพูดกันโดยตลอด โดยที่ท่านรู้และเข้าใจภาษาสัตว์ ท่านก็นึกในใจว่า…“พวกสัตว์เดียรัจฉานแท้ๆ มันยังรู้อะไรๆ ดีเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาเพียงแต่ส่งเสียงร้องกันเจี๊ยกๆ จ๊ากๆ แต่มันก็มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ดูแต่เราฟังภาษาแขกภาษาจีน ภาษาฝรั่งเถอะ ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะไม่รู้เรื่องอะไร คือ ไม่ผิดอะไรกับที่เราฟังอึ่งอ่างมันร้อง พวกนกหนูปูปีกมันส่งเสียงร้อง และเราก็จะไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ถ้าใครได้เรียนตามภาษานั้นๆ ก็จะรู้ได้ดีว่า เขาพูดอะไรกัน” ในการผ่องใสแห่งจิตที่ได้รับในถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ของท่านพระอาจารย์มั่นจึงเป็นที่พอใจของท่าน ที่ได้เข้าถึงธรรมอันละเอียด ทั้งฌานทั้งญาณ ทำให้ท่านแน่ใจถึงความรู้ของท่านอย่างแท้จริง ครั้งที่ท่านได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นี่จวบใกล้เข้าพรรษาแล้ว ท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไป ผ่านจังหวัดสระบุรีได้ไปถึงจังหวัดลพบุรี และได้พักอยู่ที่ถ้ำสิงโต เขาช่องลม (ปัจจุบันนี้เรียกว่าเขาพระงาม) ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.2446

ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นไปพักอยู่สถานที่นั้นเป็นที่สงบยิ่งนัก ท่านได้พักเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่นั้นหลายวัน และในขณะที่ท่านอยู่ ณ เขาช่องลมนั้น ท่านบำเพ็ญความเพียร หวนระลึกถึงความเป็นจริงๆ ที่ท่านได้ปรากฏแล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ท่านได้ระลึกว่า “สาวกของพระพุทธเจ้า จะต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับ และถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย” โดยนัยนี้ ท่านก็ได้รู้ขึ้นภายในสมาธิ คำว่าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุนั้น ได้แก่ การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความถูกต้อง หรือต้องการความจริงแท้ ต้องดูความจริงอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ได้ออกบรรพชาในเบื้องต้น ซึ่งพระองค์ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ราชบัลลังก์ พระมเหสี ราชสมบัติ แม้ที่สุดพระเกศา การเสียสละ เช่น ความสุขอันเป็นไปด้วยราช
สมบัตินั้น พระพุทธองค์มีผู้คนคอยยกย่องสรรเสริญ คอยปฏิบัติอุปัฏฐาก แล้วได้เสียสละมานอนกับดินกินกับหญ้าใต้โคนต้นไม้ ถึงกับอดอาหาร เป็นต้น การเสียสละเหล่านี้เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อให้ถึงซึ่งวิโมกขธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย และเมื่อพระองค์จะได้ตรัสรู้ ก็ทรงนั่งสมาธิใต้ร่มไม้อันเป็นสถานที่สงบสงัด และได้ทรงพิจารณาซึ่งความจริง คือ อริยสัจ 4 นั้น นี้เป็นมูลเหตุอันเป็นเบื้องแรกของพระองค์ สาวกผู้ที่เจริญตามรอยพระยุคลบาทนั้น จำเป็นที่จะต้องระลึกถึงความเป็นจริงของพระพุทธองค์ในข้อนี้ นำมาเป็นสิ่งพิสูจน์ปฏิปทาของตนที่กำลังดำเนินอยู่ว่า ในการปฏิบัติหรือการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พวกเราได้พากันถือเอาต้นเหตุให้พึงระลึกถึง ความจริงของตนที่ว่า ได้เสียสละโดยความเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่ถือเอาความจริงตามปฏิปทาของพระพุทธองค์ในข้อนี้ ก็เรียกได้ว่า ไม่ถือเอาพระองค์เป็นมูลเหตุ คือ บางหมู่บางเหล่า ถือการปฏิบัติเพียงแต่เป็นโล่บังหน้าแล้วก็มีเบื้องหลังที่ไม่มีการเสียสละ หรือทำไปอย่างมีการยุ่งยากพัวพัน จะสละแม้แต่อารมณ์ ยังจะถือว่า ข้าพเจ้ามียศถาบรรดาศักดิ์อะไรเทือกนั้น

Advertisement

บางทีการอยู่ป่าเอามาเพียงเพื่อเป็นเลิศบางประการ ทำเป็นว่าเรานี้อยู่ป่าอยู่เขา เหมือนจะออกวิเวกให้เป็นที่บำเพ็ญความสงบ แต่กลับเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความห่วงใยอาลัยยุ่งยากด้วยการก่อสร้างสะสมด้วยเครื่องกังวลนานับประการ นี่ไม่ได้เอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ

ตอนที่ 15 พิจารณายึดถือเนติแบบฉบับพระพุทธองค์

ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นกำลังเกิดความสว่างผ่องใสอันเป็นภายในนั้น ท่านพยายามพิจารณาหาความจริง เพื่อเป็นแนวทางในอันที่จะปฏิบัติตัวของท่านให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่แท้จริง และจะได้แนะนำให้คนอื่นทำให้ถูกทางต่อไป ท่านจึงได้พิจารณาต่อไปถึงคำว่า “พระพุทธองค์ตรัสว่าให้เอาเราเป็นเนติแบบฉบับ” ท่านได้คำนึง พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติตัวของพระองค์ให้เป็นแบบอย่างจริงๆ มิใช่เพียงทรงสอนคนอื่นแล้วพระองค์ไม่ทรงปฏิบัติ เช่น ตอนแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว จะทรงรับข้าวมธุปายาสจากตะปุสส และภัลลิกะ ก็ทรงหาบาตรเพื่อรับและพระองค์ก็ทรงทำพุทธกิจ ปุพพัณฺห ปิณฆปาตัญจะ รุ่งเช้าพระองค์เสด็จไปบิณฑบาต สายัณเห ธัมเมเทสนัง ตอนบ่ายพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท คือ อุบาสก อุบาสิกา ปโทเส ภิกฺขฺ โอวาทังพอพลบค่ำพระองค์ก็ทรงประทานโอวาทแก่พระภิกษุและสามเณร อัฑฒรัตเต เทวปัญหนัง ตอนกลางคืนทรงแก้ปัญหาเทวดาทั้งหลาย ปัจจูเสว คดต กาเล ภัพพาภัพเพ วิโลกานัง ในเวลาใกล้รุ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรวจดูว่า สัตว์โลกจะมีผู้ใดบ้างที่มีวาสนาบารมีอันจะถึงได้รับพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงใคร่ครวญแล้วทรงทราบว่า ผู้ใดสมควรจะได้รับผลแห่งกรรม พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดให้เขาเหล่านั้นได้รับผลแห่งธรรม นอกจากนั้น พระองค์จะทรงปฏิบัติตามธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติ เช่น การทรงจีวรการฉันเฉพาะในบาตร แม้กระทั่งจวนจนจะเสด็จดับขันธ์-ปรินิพพาน พระองค์ก็ยังทรงอยู่ใกล้บาตรได้ตลอดเวลา นับแต่วันที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์จะทรงเปี่ยมพระทัยถึงความมีเมตตาต่อมนุษย์ทุกถ้วนหน้า ไม่เลือกสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทนเลย ทรงเสียสละอย่างจริงใจแท้ แม้บางครั้งพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยด้วยการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างหนัก แต่พระองค์ก็ทรงกระทำอย่างที่ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยนั้นแต่ประการใด ท่านอาจารย์มั่นได้พิจารณาถึงเนติแบบฉบับ รำพึงถึงความจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล้ว ก็ได้คำนึงต่อไปอีก “การที่ให้ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับนี้” ย่อมเป็นประการสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าสาวกไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างแล้ว จะเป็นเพียงอาศัยการอยู่ในพุทธศาสนาเพียงเพื่อหาความสุขอันไม่ถูกทาง เช่น ไม่มีเมตตากรุณา ไม่มีการเสียสละ แม้แต่จะปฏิบัติธรรมวินัย ถึงจะเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ยังไม่ยอมเสียสละเอาแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เอาแต่ความเพลิดเพลินในกามคุณ หาอุบายวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งความโลภ โกรธ หลง แม้แต่การเที่ยวไปบิณฑบาตก็หาว่าเสียเกียรติหรือว่าการแสดงธรรม ก็ต้องมีกัณฑ์เทศน์เป็นเครื่องตอบแทนจะบำเพ็ญศาสนกิจก็ต้องหวังปัจจัยลาภ ในที่สุดก็ลืมความเป็นสมณะเสียสิ้น นี่คือไม่ถือพระพุทธองค์เป็นเนติแบบฉบับ

Advertisement

ท่านอาจารย์มั่นพยายามใคร่ครวญในข้อนี้มากที่สุด เพราะท่านมาทราบแน่แท้แก่ใจแล้วว่า การบำเพ็ญกัมมัฏฐานในสมัยนั้นได้เสื่อมลงมาก ไม่ใคร่จะตรงความจริงทั้งภายในภายนอก ท่านมาคำนึงว่า การปฏิบัติจิตนี้ จะต้องประกอบพร้อมทั้งภายในและภายนอก เช่น ภายนอก การรักษาไว้ซึ่งพระวินัยน้อยใหญ่นี้สำคัญยิ่ง ถ้าผิดพระวินัย แม้แต่อาบัตินิดเดียวก็จะทำให้จิตละเอียดไม่ได้ เช่น การปฏิบัติเรื่องของบาตร ถ้าล้างแล้วไม่เช็ดเก็บไว้ในที่สมควร ก็จะเป็นอาบัติทุกกฎหรือการฉันจุ๊บๆ จั๊บๆ เป็นอาบัติทุกกฎ อาบัติเล็กน้อยจะล่วงละเมิดไปไม่ได้เลยต้องรักษาให้เรียบร้อยจริงๆ นอกจากอาบัติแล้วก็มีการรักษาธุดงค์ข้อวัตรต่างๆ เช่น ฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต เป็นต้น อันเป็นการนำไปสู่การขัดเกลากิเลสหยาบๆ นั้น ท่านอาจารย์มั่นพิจารณาว่า ก็เป็นแบบฉบับที่พระบรมศาสดาได้กระทำเป็นแบบฉบับมาแล้ว ถ้าหากว่าผู้ต้องการความสงบ ความก้าวหน้าแห่งการบำเพ็ญจิตแล้ว จะละเลยเสียไม่ได้ และอีกประการ คือ รักษาวัตรต่างๆ จากวัตรหลายประการ เช่น อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เวจจกุฏวัตร เสนาสนวัตร ภัตตาวัตรและเสขิยวัตร เหล่านี้นั้นย่อมเป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติจิตทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเพื่อศีลวิสุทธิ์และจิตวิสุทธิ์ ท่านอาจารย์มั่นปรารภในใจของท่านว่าบุคคลผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์นี้ ถ้าไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับแล้ว จะไม่สามารถนำหมู่คณะไปสู่ความเจริญได้ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งความจริงอันเป็นแบบฉบับที่ได้ไว้แล้ว เพื่อให้สาวกทั้งหลายได้เอาเป็นตัวอย่าง และตัวอย่างอันนี้ได้รับความเจริญยั่งยืนนานมาแล้ว เพราะเหตุแห่งแบบอย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้นเองที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงถาวรเจริญมาแล้ว การนำเอาพระพุทธองค์เป็นเนติแบบฉบับ จึงเป็นการนำความเจริญได้แน่แท้แก่ตนและบุคคลอื่น ท่านได้คำนึงถึงข้อต่อไปที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ “ให้เอาเราเป็นที่พึ่งอาศัย คือว่า ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทนั้น ควรจะได้รู้ข้อเท็จจริงในที่พึ่ง” พระพุทธองค์ได้ทรงแสดวง
ว่า “พะหุง เว สรณัง ยันติ ปัพพตานิ วนานิ จะ อารามะรุกขะเจตยานิ มนุสสา ภะยะตัชชิตา เนตัง โข สรณัง เขมัง เนตัง สรณะมุตตะมัง เนตัง สรณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปมุจจติ โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สรณัง คโต จัตตาริ อริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญาย ปัสสติ ทุกขัง ทุกขสมุปปาทัง ทุกขัสสะ จะอติกกมัง อริยัญจัฏฐังคิกังมัคคัง ทุกขูปสมะคามินัง เอตัง โข สรณัง เขมัง เอตัง สรณมุตตะมัง เอตัง สรณมาคัมมะ สัพพทุกขา ปมุจจตีติ” “มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกภัยคุกคามแล้วพากันไปถือภูเขา ป่า อาราม และต้นไม้และที่เป็นเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดม พวกเขาพากันพึ่งสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้ ส่วนผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง มาเห็นอริยสัจ 4 ด้วยปัญญาอันชอบ ก้าวล่วงทุกข์ด้วยมรรค 8 นี่แหละเป็นที่พึ่งอันเกษมนี่แหละเป็นที่พึ่งอันอุดม พวกเขาอาศัยที่พึ่งนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

การที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ไม่ให้ถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพราะว่าการถือเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งนั้นเป็นเรื่องงมงาย เช่น ต้นไม้ใหญ่ ตั้งศาลพระภูมิ ถือว่าผีเจ้าเข้าทรงเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องของความไม่แน่ใจในพระองค์ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นได้พิจารณาเห็นว่าการเชื่อเช่นนี้จะทำให้ผิดการดำเนินสู่จุดที่หมายแห่งความจริงในพระพุทธศาสนา แม้ในการบำเพ็ญจิตในเบื้องต้น ก็จะทำให้ไขว้เขว เพราะขาดองค์คุณ คือ ศรัทธา คนธรรมดาสามัญที่ยังไม่ได้บวช ก็พอทำเนาแต่ผู้ที่บวชแล้ว เช่น พระภิกษุสงฆ์นี้ ย่อมจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในพระพุทธองค์ จึงได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท แต่พระภิกษุบางองค์กลับมาเป็นเสียเอง เช่น พาเขาตั้งศาลพระภูมิ หาวันตั้งศาลพระภูมินี้เป็นการแสดงถึงความไม่แน่ใจของท่านต่อองค์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาของท่านเอง ท่านเหล่านั้นหาได้คิดไม่ว่าการกระทำเช่นนั้น คือ การทรยศ อาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ โดยการอยู่ได้ด้วยปัจจัยบริโภค ไม่อดอยากปากแห้ง แต่กลับถือเอาศาสนาคร่ำครึที่พระพุทธองค์ได้ทรงตำหนิแล้ว นำเอามาใช้ทั้งๆ ที่ตนเองก็ออกปากว่าข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่เหตุไฉนเล่าจึงไปสนับสนุนการนับถือศาสนาอื่น อันที่เรียกว่าพระภูมิบ้าง อะไรอื่นบ้าง นั่นคือ การทรยศต่อพระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์มั่นว่าข้อนี้สำคัญ เพราะจะเป็นเบื้องต้นของการจะดำเนินไปหาที่สุดแห่งทุกข์ เพราะทุกๆ คนที่เป็นศาสนิกชนต้องกล่าวว่า “ข้าพเจ้าถึงซึ่งพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง” แต่เขาไฉนจึงไปถึงเอาผีป่า พระภูมิ ซึ่งมันหาตัวจริงมิได้เป็นที่พึ่ง เมื่อขึ้นต้นทำไม่ได้แล้ว ต่อไปจะทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย ทางฝ่ายพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นผู้มีความเชื่อมั่นใจในพระพุทธองค์อย่างแน่นแฟ้นแล้ว จึงได้ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ออกจากความเป็นฆราวาสมา
ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ จึงต้องไม่เป็นผู้ทรยศต่อองค์พระบรมศาสดา ท่านอาจารย์มั่น ท่านว่า “คำว่า ศรัทธา คือ ความเชื่อนี้จึงถือว่าเป็นรากฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเช่นท่านพระอริยบุคคลชั้นต้น คือ พระโสดาบัน ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา มีข้ออันท่านพระโสดาบันละได้อันเนื่องมาจากมรรคนั้น มี 3 ประการ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสความเห็นถือว่าเป็นตัวตนความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความลูบคลำในศีลพรต คือ งมงายในสิ่งไม่ควรจะยึดถือ เช่น นับถือภูติ-ผี-พระภูมิ เป็นต้น นี่เป็นสิ่งแสดงว่าการจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยถือเอาพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งความจริงแล้ว การนับถือพระพุทธองค์นั้นก็คือ ต้องการให้เอาพระพุทธองค์เป็นมูลเหตุและเป็นแบบฉบับนั้นเอง แม้ว่าเราจะยังไม่เป็นอริยโสดาก็ตาม แต่เราก็ต้องปฏิบัติภิกษุสามเณร แต่พากันหลงเชื่องมงาย เช่น เชื่อศาลพระภูมิ เชื่อผีเจ้าเข้าทรง พระภูมิเจ้าที่อะไรอย่างนี้ จะอ้างตนว่าเป็นภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกานั้น ดูเป็นการไม่สมควรเลย”

ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า “เราต้องการสอนให้เข้าถึงอริยสัจธรรม ถึงความเป็นอริยบุคคล ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้ำถึงความจริงข้อนี้ให้หนักที่สุด เพราะถ้าไม่เข้าใจถึงความจริงแห่งความเชื่อนี้แล้ว จะเป็นการกั้นหนทางที่จะเข้าสู่ความจริงอันเป็นอริยเสีย เราทุกคนก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปรารถนาพระนิพพาน แม้การบำเพ็ญการกุศลต่างๆ ก็กล่าวกันว่า ‘นิพพานปจโยโหตุ ขอให้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเถิด’ แม้ว่าเราจะถึงทราบว่าผู้ใดผู้หนึ่งทรงความเป็นอริยบุคคล เราก็จะให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คุณธรรมอันสูง คือ ความเป็นอริยะนี้เป็นยอดปรารถนาของบรรดาพุทธศาสนิกชน”

ก็แต่เบื้องต้นในการดำเนินไปสู่ความเป็นอริยะนี้ จำเป็นที่จะต้องมองดูความจริงข้อนี้ คือ “ให้ถือว่าเอาเราเป็นที่พึ่งอาศัย” อันเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ท่านอาจารย์มั่นท่านได้เน้นหนักในข้อที่ว่าต้องไม่ถือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งท่านได้คำนึงความข้อนี้ว่าต้องให้ผู้ที่จะดำเนินจิตตามเรา เราต้องแนะนำให้เห็นจริงในข้อนี้เสียก่อน จึงจะสอนความจริงในขั้นตอนต่อไปนี้ เราต้องแนะนำให้เห็นจริงในข้อนี้เสียก่อน จึงจะสอนความจริงในขั้นตอนต่อไป เป็นอันได้ความละเอียดแน่ชัด พร้อมกับความสว่างไสวภายในของท่าน

ในข้อความ 3 ประการ แห่งพระดำรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ 1.ให้ถือเราเป็นมูลเหตุ 2.ให้ถือเราเป็นเนติแบบฉบับ 3.ให้ถือเราเป็นที่พึ่งอาศัย (ติดตามตอนที่ 16 นั่งสมาธิส่งกระแสจิต…ฉบับหน้า)

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image