สร้างตึกคร่อมคลองโบราณใกล้บ้านพระเพทราชา กรมศิลป์สั่งระงับ-จี้รื้อ 2 ปีไม่คืบ (คลิป)

มรภ.อยุธยาสร้างตึกคร่อมคลองเทพหมี ใกล้บ้านพระเพทราชา กรมศิลป์สั่งระงับ 2 ปียังไม่รื้อ ที่ประชุมมรดกโลกจี้ตามเรื่อง นักปวศ.จวกสำนึกสถาบันการศึกษา ชี้ผิดเต็มๆ เผยทางน้ำโบราณแทบไม่เหลือยังรุกล้ำ

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างอาคารคร่อมแนวคลองประตูเทพหมี ซึ่งเป็นคลองโบราณ โดยกรมศิลปากรมีมติที่ประชุมขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนตั้งแต่ พ.ศ.2560 อีกทั้งมีการชี้แจงประเด็นดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก สมัยประชุมที่ 43 ที่เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-10 ก.ค. ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า อาคารดังกล่าวสร้างคร่อมแนวคลองโบราณซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานก่อด้วยอิฐเรียกชื่อว่า สะพานเทพหมี โดยในขณะนี้ยังไม่มีการรื้อถอนตัวอาคารตามคำขอของกรมศิลปากร แต่ไม่มีการดำเนินงานก่อสร้างแล้ว โดยปล่อยทิ้งร้าง ถูกล้อมด้วยรั้วสังกะสี มีวัชพืชขึ้นปกคลุมบางส่วน ความคืบหน้าเกือบแล้วเสร็จทั้งโครงสร้างอาคาร หลังคา และประตูหน้าต่าง แต่ยังไม่มีการฉาบปูนและตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า จุดประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นอาคารเรียนใน 4 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมศาสตร์

สะพานเทพหมี (อ่านว่า เทบ-พะ-หมี)

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวถือว่าผิดตั้งแต่ต้น ตนอยากสอบถามว่าผ่านสภามาหาวิทยาลัยในครั้งนั้นมาได้อย่างไร ส่วนตัวมองว่าต้องเร่งดำเนินการรื้อถอนและปรับภูมิทัศน์ให้เหมือนเดิมอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากคลองเทพหมีเป็นคลองประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ทั้งยังมีสะพานข้ามคลองซึ่งเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในอยุธยา โดยมีรูปแบบเดียวกับสะพานบริเวณวัดบรมพุทธาราม ในรั้ว มรภ.พระนครศรีอยุธยาเช่นกัน คาดว่าเป็นศิลปกรรมที่ได้อิทธิพลโครงสร้างแบบเปอร์เซียในยุคพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา คลองในอยุธยาก็ถูกถมทับไปมากแล้ว จึงไม่ควรสร้างอาคารคร่อมคลองเดิมซึ่งเหลือน้อยอยู่แล้วให้ยิ่งน้อยลงไปอีก

Advertisement

“การที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยาทำเช่นนี้ถือว่าดูไม่งาม ถามว่าผู้บริหารไม่ทราบเลยหรือว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน ส่วนตัวไม่เชื่อ แต่เป็นการละเลย ทั้งที่ตัวเองเป็นสถาบันการศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมรดกโลก สถาบันอยุธยาศึกษาก็อยู่ใน มรภ.นี้ โดยมีหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย ในรั้ว มรภ.ก็มีวัดบรมพุทธาราม บ้านเดิมของพระเพทราชา ใกล้ๆ กับคลองและสะพานเทพหมีที่คาดว่าเป็นยุคสมัยเดียวกัน โดยถือเป็นตำแหน่งบ้านที่อยู่ใกล้กับพระราชวังหลวงอย่างมาก เชื่อว่ามารดาเป็นญาติพระนารายณ์ ส่วนชื่อเทพหมี อ่านว่า เทบ-พะ-หมี ซึ่ง ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย ว่าเทสมี่ แปลว่าประตู” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมศิลปากรเผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ครั้งที่ 9/2560 วันที่ 4 ตุลาคม 2560 ระบุข้อมูลที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยาขอให้กรมศิลปากรทบทวนคำสั่งระงับการก่อสร้างอาคาร มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คณะกรรมการวิชาการพิจารณากรณี มรภ.พระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์คร่อมทับแนวคลองโบราณโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร โดยกรมศิลปากรมีหนังสือ ที่ วธ.0401/1029 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน ต่อมา มรภ.พระนครศรีอยุธยามีหนังสืออุทธรณ์ กรมศิลปากรจึงมอบหมายกลุ่มนิติกร สำนักบริหารกลางพิจารณาตอบข้ออุทธรณ์ดังกล่าว มรภ.พระนครศรีอยุธยาได้เสนอแบบแก้ไขโดยตัดแนวอาคารที่ทับคลองประกอบการพิจารณาคำอุทธรณ์ กระทั่งมีมติที่ประชุมเห็นสมควรยืนยันตามหนังสือ ที่ วธ. 0401/1029 ให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน จึงไม่มีการพิจารณารูปแบบแก้ไขที่ มรภ.ส่งมา

Advertisement

กระทั่งในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างปลายเดือนมิถุนายน-10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ร้องขอให้ไทยติดตามแผนการดำเนินการตามคำสั่งรื้อถอนอาคาร มรภ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอาคารเรียนรวมสำหรับสาขานาฏยศิลป์ สาขาศิลปการแสดง สาขาศิลปกรรม รวมถึงสาขาดนตรีไทยและดนตรีสากล เรียกรวมว่าศิลปกรรมศาสตร์ โดยไม่ใช่คณะวิชาแต่อย่างใด ในแบบแปลนมีโรงละคร ห้องจัดนิทรรศการ ห้องเรียน และพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันใน 4 สาขาวิชาดังกล่าวซึ่งผ่านมาต้องใช้ห้องเรียนของคณะวิชาต่างๆ โดยไม่มีอาคารเรียนของตนเอง

สะพานอิทธิพลเปอร์เซีย บริเวณวัดบรมพุทธาราม แบบเดียวกับสะพานเทพหมี
วัดบรมพุทธาราม สร้างในย่านบ้านเดิมพระเพทราชา ไม่ไกลจากสะพานเทพหมี ในรั้ว มรภ.พระนครศรีอยุธยา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image