มรภ.อยุธยาแถลงยาว 12 หน้าปมสร้างตึก ยันแนวคลองโบราณ ‘กรมศิลป์’ เพิ่งขุดเอง! ไร้ทะเบียนโบราณสถาน

มรภ.อยุธยา โต้สร้างตึกคร่อมคลองโบราณ ชี้กรมศิลป์เพิ่งขุดเอง ไม่เคยขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ยันห่างบ้านพระเพทราชา  ใครให้ข่าวเสียหายเล็งฟ้องป้องสิทธิ์

สืบเนื่องกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนครศรีอยุธยาสร้างอาคารคร่อมคลองเทพหมี ใกล้บ้านพระเพทราชา โดยกรมศิลปากรสั่งระงับและรื้อถอนตั้งแต่ พ.ศ.2560 และที่ประชุมมรดกโลกได้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นักประวัติศาสตร์ชื่อดังหลายรายแสดงความเป็นห่วงถึงเส้นทางน้ำในอดีตซึ่งหลงเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยคลองดังกล่าวปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม และมีสะพานอิฐทีได้รับอิทธิพลเปอร์เซีย เรียกชื่อในปัจจุบันว่าสะพานเทพหมี ต่อมา ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์นครศรีอยุธยาระบุว่ากรมศิลปากรถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากมรภ.พระนครศรีอยุธยาหลังสั่งระงับและรื้ออาคาร กระทั่งรักษาการอธิการบดีและรองอธิการบดี มรภ. พระนครศรีอยุธยาออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้สร้างโดยพลการ แต่ผู้แทนของกรมศิลปากรเคยลงพื้นที่มาดูจุดก่อสร้าง อีกทั้งมีการแก้ไขปรับปรุงแบบและทำตามคำแนะนำของกรมศิลปากรตลอดมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกระแสการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม รองศาสตราจารย์ ดร.ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เรื่อง  ชี้แจงกรณีการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ ความยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ พร้อมภาพถ่ายระหว่างการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง

Advertisement

มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. เนื่องจากอาคารเรียนไม่เพียงพอ จึงเสนอของบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนศิลปศาสตร์โดยเสนอของบประมาณต่อสำนักงานประมาณ ซึ่งต่อมาได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2558-2560

2. สภาพพื้นที่ก่อสร้างเดิมเป็นถนนและบ้านพักอาจารย์ที่ทรุดโทรม ไม่ปรากฏแนวคลองเทพหมี อีกทั้งกรมศิลปากรไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตัวสะพานไม่ได้ตั้งบนพื้นที่ก่อสร้างอาคาร แต่อาคารอยู่ห่างสะพานไปราว 15 เมตร

Advertisement

3. สะพานเทพหมีที่เห็นในปัจจุบัน เดิมเป็นเพียงซากอิฐ ไม่มีแนวคลอง แต่เมื่อ พ.ศ.2554 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ปรับแต่งพื้นที่โดยขุดดินใต้สะพานรวมถึงด้านหน้าและด้านหลังให้มีสภาพคล้ายคลอง รวมถึงบูรณะสะพานดังกล่าว

4. ก่อนสร้างอาคาร ทางมหาวิทยาลัยเข้าพบผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เพื่อขอคำแนะนำ โดยในปี2558-2559 กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ที่ตรงจสอบรู้เห็นถึงรูปแบบรายการอาคารก่อสร้าง ได้แก่ ความสูง รูปแบบหลังคาและตำแหน่งการก่อสร้าง อีกทั้งให้คำแนะนำว่าสามารถสร้างได้ ทำให้มหาวิทยาลัยเชื่อและเข้าใจโดยสุจรติว่าสร้างได้ จึงเริ่มก่อสร้าง

5. เมื่อก่อสร้างได้ 35% กรมศิลปากรยังส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจการก่อสร้าง พร้อมให้คำแนะนำ กระทั่งสร้างแล้วเสร็จ 70% ต่อมา วันที่ 30 พ.ค.2560 กรมศิลปากรมีคำสั่งขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน จึงใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งและฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง

6. ประเด็นการไม่รื้อถอนอาคาร ยืนยันว่าไม่ได้เพิกเฉย แต่อยู่ในคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากหลังอธิบดีกรมศิลปากรมีคำสั่งระงับและรื้อถอน มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ พร้อมยื่นเรื่องขอคุ้มครองชั่วคราว ต่อมาปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมีคำสั่งยกอุทธรณ์ พร้อมแจ้งว่าหากไม่เห็นด้วยให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน จากนั้น มหาวิทยาลัยจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง  ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี

7. มีการให้ข่าวด้านเดียว ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยทำผิด อาจก่อเกิดความขัดแย้งในสังคมและหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง

8. การเสนอข่าวว่ามหาวิทยาลัยก่อสร้างอาคารใกล้บ้านพระเพทราชานั้น ขอชี้แจงว่าไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) อธิบายนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชาว่าอยู่บริเวณบ้านป่าตองซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบรมพุทธาราม ห่างจากจุดก่อสร้างอาคารมาก โดยมีถนนและอาคารเรียนกั้น

9. การที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องค่าเสียหาย เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง

10. ขอความร่วมมือคนให้ข่าวและผู้เกี่ยวข้องระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์ หากมีการให้ข่าวในลักษณะก่อความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปกป้องและสงวนสิทธิตามกฎหมายต่อไป

แถลงการณ์ฉบับเต็ม มีดังนี้

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

เรื่อง  ชี้แจงกรณีการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์

                                                                       

            ตามที่มีนักวิชาการ และข้าราชการของกรมศิลปากร ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 27-30กรกฎาคม 2562 อย่างต่อเนื่องว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์คร่อมแนวคลองโบราณประตูเทพหมี แล้วไม่ยอมรื้อถอนตามคำสั่งของกรมศิลปากร  ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าวเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนโดยมีข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่ครบถ้วนรอบด้าน และคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงหลายประการ ประเด็นข่าวที่ถูกนำเสนออาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และเกิดความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวในอีกแง่มุมหนึ่ง ดังนี้

            มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาเป็นสถาบันอุดมศึกษามีภาระหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้    คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรัก และผูกพันต่อท้องถิ่น อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตบัณฑิตดังกล่าว จะต้องให้มีจำนวนและคุณภาพสอดคล้องกับแผนการผลิตบัณฑิตของประเทศ ซึ่งการให้บริการด้านการจัดการศึกษาถือเป็นการดำเนินการให้บริการสาธารณะประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ การให้บริการด้านการจัดการศึกษาจะต้องมีการจัดหาสถานที่ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย จัดหาอาคารก่อสร้างและสถานที่ จัดสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งความสะดวกทางด้านการคมนาคม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมกันภายในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่เนื่องจากปัจจุบันอาคารเรียนไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนและทำกิจกรรมของนักศึกษา และอาคารเรียนก็มีสภาพทรุดโทรมไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีอาคารที่มีความพร้อมและจัดให้มีบริการสาธารณะด้านการศึกษาให้เหมาะสมกับภารกิจที่กำหนดไว้  ด้วยความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย และ    ได้เสนอของบประมาณต่อสำนักงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ จำนวน ๑ หลัง โดยในปีงบประมาณ 2558-2560 มหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจากสำนักงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าว

            1. ประเด็นสภาพและลักษณะของพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์

            มหาวิทยาลัยขอเรียนว่า ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย จึงได้เริ่มเตรียมพื้นที่ทางกายภาพสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ เมื่อปลายปี 2558 โดยมหาวิทยาลัยได้เลือกพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ถนนและบ้านพักอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจำนวน 20 หลัง สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 จนถึงปัจจุบัน มีอายุการใช้งานมากกว่า 50 ปี  มีสภาพเก่าทรุดโทรมมากไม่สามารถอยู่ อาศัยได้ และพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนในสภาพความเป็นจริงเชิงประจักษ์ ไม่เคยปรากฏแนวคลองโบราณประตูเทพหมีมาก่อน อีกทั้ง กรมศิลปากรก็ไม่ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และไม่ได้มีการประกาศกันเขตพื้นที่บริเวณก่อสร้างเป็นแนวเขตโบราณสะพานเทพหมีหรือคลองโบราณประตูเทพหมีแต่อย่างใด ในส่วนของตัวสะพานเทพหมีก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์แต่อย่างใด  โดยสะพานเทพหมีนั้น สภาพเดิมมีลักษณะเป็นเพียงซากอิฐและมีส่วนที่โพล่พ้นพื้นดินมาเพียงเล็กน้อย

ภาพเก่าแสดงซากอิฐที่อ้างว่าเป็นสะพานเทพหมี (ก่อนการบูรณะต่อเติมของกรมศิลปากร)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยมีการก่อสร้างต่อเติมให้มีสภาพเป็นสะพานที่สมบูรณ์ และมีการปรับแต่งพื้นที่โดยการขุดดินใต้สะพาน รวมทั้งด้านหน้าและด้านหลังของสะพานให้มีสภาพคล้ายคลอง โดยด้านทิศใต้ติดต่อกับพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ มีการขุดดินเป็นแนวคลองจากตัวสะพานยาวประมาณ 6 เมตรเท่านั้น ในการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงการอนุรักษ์โบราณสถานจึงได้ปรับระยะถอยร่นตามคำแนะนำของกรมศิลปากร จนทำให้ตัวอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์มีระยะห่างจากพื้นที่ที่กรมศิลปากรขุดให้มีลักษณะคล้ายคลอง และห่างจากสะพานเทพหมีประมาณ 15 เมตรเศษ การก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้มีการก่อสร้างทับตัวสะพานหรือคร่อมแนวคลองโบราณแต่อย่างใด แต่เป็นการก่อสร้างในพื้นที่ที่เคยมีการปลูกสร้างบ้านพักอาจารย์อยู่ก่อนแล้ว และพื้นที่บริเวณดังกล่าว กรมศิลปากรไม่ได้ประกาศเป็นเขตของโบราณสถานแต่อย่างใด

บ้านพักของอาจารย์เจ้าหน้าที่ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนรื้อถอนสร้างอาคารเรียน

2. ประเด็นกรมศิลปากรรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์       มาโดยตลอด

            มหาวิทยาลัยขอเรียนชี้แจงว่า ก่อนการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้เข้าพบผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารและสถานที่ที่จะก่อสร้างเพื่อให้มีความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิม และเพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของการเป็นเมืองมรดกโลกมาโดยตลอด  ต่อมาระหว่างปลายปี พ.ศ.  2558 ถึงปี พ.ศ. 2559 กรมศิลปากร ได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของกรมศิลปากร เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจสอบได้รู้เห็นถึงแบบรูปรายการอาคารก่อสร้าง ได้แก่ ความสูงของอาคาร รูปแบบหลังคา และตำแหน่งที่จะทำการก่อสร้างอาคารเรียนแห่งนี้มาโดยตลอดแล้ว อีกทั้งยังได้ให้คำแนะนำในการก่อสร้างว่าสามารถก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ จนทำให้มหาวิทยาลัยเชื่อและเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้แทนของกรมศิลปากรได้ จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ เมื่อทำการก่อสร้างได้ประมาณ  35 % ของงานก่อสร้างทั้งหมด กรมศิลปากรยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้แทน ลงมาตรวจงานก่อสร้างของมหาวิทยาลัย พร้อมให้คำแนะนำในการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวตลอดมา จนกระทั่งมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ตามคำแนะนำของกรมศิลปากรแล้วเสร็จไปประมาณ 70 % ของงานก่อสร้างทั้งหมด ต่อมา ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 กรมศิลปากร โดยอธิบดีกรมศิลปากร ได้มีคำสั่งขอให้มหาวิทยาลัยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งและฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง

บ้านพักของอาจารย์เจ้าหน้าที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนรื้อถอนสร้างอาคารเรียน

            3. ประเด็นการไม่รื้อถอนอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์

            มหาวิทยาลัยขอชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้เพิกเฉยหรือไม่สนใจกับคำสั่งของกรมศิลปากรสั่งให้รื้อถอนอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์แต่อย่างใด เหตุที่ยังไม่มีการรื้อถอนจนจึงปัจจุบัน เนื่องจากภายหลังจากที่อธิบดีกรมศิลปากรมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์แล้ว มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 มหาวิทยาลัยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมทั้งยื่นเรื่องขอคุ้มครองชั่วคราว  ต่อมาปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของมหาวิทยาลัย พร้อมกับแจ้งว่าหากไม่เห็นด้วยให้มหาวิทยาลัยฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งผลการอุทธรณ์ และแจ้งคำสั่งว่า กรมศิลปากรมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีคำสั่งรื้อถอนอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ จากนั้นมหาวิทยาลัยจึงใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางตามที่กรมศิลปากรได้แจ้งสิทธิไว้ เพื่อขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว และปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ขัดคำสั่งของกรมศิลปากรแต่อย่างใด กรมศิลปากรก็ทราบเป็นอย่างดี ซึ่งการอุทธรณ์และการฟ้องคดีต่อศาลปกครองของมหาวิทยาลัยก็เป็นการใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายให้อำนาจมหาวิทยาลัยใช้สิทธิฟ้องคดี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการออกคำสั่งของกรมศิลปากร เมื่อศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ข้อเท็จจริงในประเด็น มหาวิทยาลัยต้องรื้อถอนอาคารตามคำสั่งของอธิบดีกรมศิลปากรหรือไม่นั้น จึงยังไม่เป็นที่ยุติ

ภาพการรื้อถอนบ้านพักอาจารย์เจ้าหน้าที่เตรียมการสร้างอาคารเรียน
ภาพการรื้อถอนบ้านพักอาจารย์เจ้าหน้าที่เตรียมการสร้างอาคารเรียน

            4. ประเด็นการเสนอข่าวและให้ความเห็นของนักวิชาการรวมถึงข้าราชการของกรมศิลปากร

            จากกรณีที่มีหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ได้มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโดยนำความเห็นของนักวิชาการและข้าราชการระดับสูงของกรมศิลปากรมาตีพิมพ์และ เผยแพร่ต่อสาธารณชน นั้น

กรณี มีการพาดหัวข่าวว่า “สร้างตึกคร่อมคลองโบราณใกล้บ้านพระเพทราชา กรมศิลป์สั่งระงับ-จี้รื้อ 2 ปีไม่คืบ” และในเนื้อหาของข่าวได้เขียนว่า “มรภ.อยุธยา สร้างตึกคร่อมคลองเทพหมี ใกล้บ้านพระเพทราชา     กรมศิลป์สั่งระงับ 2 ปียังไม่รื้อ…นักประวัติศาสตร์จวกสำนึกสถาบันการศึกษาชี้ผิดเต็มๆ …” และยังได้ตีพิมพ์ความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า การดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวถือว่าผิดตั้งแต่ต้น การที่ มรภ. พระนครศรีอยุธยาทำเช่นนี้ถือว่าดูไม่งาม ในรั้ว มรภ. ก็มีวัดบรมพุทธาราม บ้านเดิมของพระเพทราชา ใกล้ๆ กับคลองและสะพานเทพหมีที่คาดว่าเป็นยุคสมัยเดียวกัน และได้ตีพิมพ์ความเห็นของนักวิชาการอีกท่านหนึ่งว่า สำนึกของหน่วยงานการศึกษาไม่ควรสร้างสิ่งรุกล้ำ การสร้างอาคารคร่อมแนวคลองเทพหมีจึงผิดตั้งแต่แรกสิ่งที่ ควรทำคือรื้อถอนอาคาร เป็นต้น

ภาพการปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอเรียนชี้แจงว่า การให้ข่าวเพียงด้านเดียวไม่ครบถ้วนรอบด้าน และอาจทำให้ผู้อ่านข่าวส่วนใหญ่ที่ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงย่อมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยกระทำความผิด จึงเป็นการให้ข่าวที่มีลักษณะเป็นการชี้นำสังคมและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมทั้งกับหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ประชาชนในสังคมและในพื้นที่ อีกทั้งเกิดความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อเท็จจริงพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ไม่เคยมีแนวคลองสะพานเทพหมีและไม่มีร่องรอยซากโบราณสถานเชิงประจักษ์ในบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงถนนและบ้านพักอาจารย์สร้างเต็มพื้นที่ โบราณ  ดังที่มหาวิทยาลัยได้เรียนชี้แจงแล้วข้างต้น นอกจากนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยตรวจสอบตามตำแหน่งที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ จากแผนที่ซึ่งจัดทำโดยส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐปรากฏว่า “บริเวณที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ ไม่มีแนวคลองโบราณ (ประตูเทพหมี) แต่อย่างใด” โดยมหาวิทยาลัยได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานของหน่วยงานอันเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ให้ศาลประกอบการพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว

และที่มีการเสนอข่าวถึงมหาวิทยาลัยว่าได้ก่อสร้างอาคารใกล้บ้านพระเพทราชานั้น มหาวิทยาลัยขอเรียนชี้แจงว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวไม่เคยปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นที่ตั้งของบ้านพระเพทราชามาก่อน  ซึ่งตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า “ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่า บ้านป่าตองเป็นที่สิริราชมหามงคลสถาน ควรอาตมจักสถาปนาเป็นพระอาราม จึงดำรัสสั่งให้สถาปนาสร้างกำแพงแก้ว พระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ เสนาสนกุฎี ดำรัสสั่งให้หมื่นจันทราช ช่างเคลือบ ให้เคลือบกระเบื้องสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ   จึงถวายพระนามอารามชื่อวัดบรมพุทธาราม”

            ข้อความตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาดังกล่าว ได้อธิบายถึงนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     ซึ่งหมายถึง พระเพทราชา ก่อนมีการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเพทราชา ตั้งอยู่บริเวณบ้านป่าตองซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดบรมพุทธาราม ซึ่งวัดบรมพุทธารามจะอยู่ด้านทิศตะวันตกแต่อาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์ตั้งอยู่ทางด้าน     ทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัย มีระยะห่างกันมาก โดยมีอาคารเรียนและถนนกั้น การให้ข่าวว่าพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์อยู่ใกล้บ้านพระเพทราชาจึงไม่ถูกต้อง

วัดบรมพุทธาราม (ภาพโดย ‘มติชน’)

            ส่วนกรณีที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหาย โยผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ให้ข่าวทำนองว่า ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยามีการอุทธรณ์ ซึ่งก็มีการตอบอุทธรณ์แล้วเช่นกันว่า ให้ยืนตามคำสั่งเดิม และเมื่อมีการไม่รื้อถอนภายใน 60 วัน กรมศิลปากรจึงแจ้งความดำเนินคดีกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาก็ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรมศิลปากร นั้น

            มหาวิทยาลัยขอชี้แจงว่า การดำเนินการฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เป็นการใช้สิทธิตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุทำให้ส่วนราชการสูญเสียงบประมาณ และโอกาสในการจัดการศึกษา และผู้รับจ้างเหมาก่อสร้างแจ้งสงวนสิทธิ์โดยใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายกับทางมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลจากการถูกระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารเรียนดังกล่าว และเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายก่อนที่กรมศิลปากรจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับมหาวิทยาลัย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้คดีขาดอายุความและเกิดความเสียหายต่อราชการ การฟ้องคดีของมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่เป็นเพราะสาเหตุจากการที่กรมศิลปากรได้แจ้งความดำเนินคดีกับมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

อาคารเรียนที่ถูกระงับการก่อสร้าง (ภาพโดย ‘มติชน’)

5. ประเด็นความเสียหายจากการให้ข่าวไม่ครบรอบด้าน

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เห็นว่า การให้ข่าวอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เป็นการให้ข้อเท็จจริงที่ยังไม่ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งเป็นการชี้นำสังคมและสาธารณะให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสน        ต่อความจริงที่ยังไม่ยุติ ซึ่งปัจจุบันกระบวนการทางกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง การให้ข่าวดังกล่าว มหาวิทยาลัยไม่ทราบว่าผู้แทนของกรมศิลปากรมีเจตนาต้องการสื่อให้สังคมเข้าใจไปในทิศทางอย่างไร เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาจึงเห็นสมควรให้     ทุกฝ่ายเคารพต่อกระบวนการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลให้คดีเป็นที่ยุติก่อน โดยไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไป

            มหาวิทยาลัยขอขอบคุณสำนักข่าวและผู้เกี่ยวข้องที่ให้ความสนใจและแสดงความห่วงใยต่อโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า มหาวิทยาลัยมีความห่วงใยต่อศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติ และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว โดยพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุด เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง มหาวิทยาลัยจึงใคร่ขอความร่วมมือผู้ให้ข่าวและผู้เกี่ยวข้องระมัดระวังในการให้ข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อไม่เกิดความสับสนและเข้าใจผิด หากมีการให้ข่าวที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องปกป้องและสงวนสิทธิ์ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์
รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา       

    

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image