อดีตผอ.ศิลปากรอยุธยา ชี้ ‘กรุงเก่า’ เป็นโบราณสถานทั้งเกาะ ขึ้นทะเบียนปี 40 เผยขุดแนวคลองตามหลักฐาน

อดีตผอ.ศิลปากรอยุธยาชี้”กรุงเก่า”เป็นโบราณสถานครอบคลุมทั้งเกาะเมือง ขึ้นทะเบียนปี 40 เผยขุดแนวคลองตามหลักฐาน ย้ำประเด็นหลักปมปัญหามาจาก ‘สร้างก่อนได้รับอนุญาต’

สืบเนื่องกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนครศรีอยุธยาสร้างอาคารคร่อมคลองเทพหมี ใกล้บ้านพระเพทราชา โดยกรมศิลปากรสั่งระงับและรื้อถอนตั้งแต่ พ.ศ.2560 และที่ประชุมมรดกโลกได้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยคลองดังกล่าวปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม และมีสะพานอิฐทีได้รับอิทธิพลเปอร์เซีย เรียกชื่อในปัจจุบันว่าสะพานเทพหมี กระทั่งมรภ.พระนครศรีอยุธอยุธยาออกแถลงการณ์พร้อมเปิดเผยภาพถ่าย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า สภาพพื้นที่ก่อสร้างอาคาร เดิมเป็นถนนและบ้านพักอาจารย์ที่ทรุดโทรม ไม่ปรากฏแนวคลองเทพหมี อีกทั้งกรมศิลปากรไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตัวสะพานไม่ได้ตั้งบนพื้นที่ก่อสร้างอาคาร แต่ห่างไปราว 15 เมตร

นอกจากนี้ ยังเป็นแนวคลองที่กรมศิลปากรขุดขึ้นใหม่หลังน้ำท่วม พ.ศ.2554 โดยไม่ได้มีมาแต่เดิม ตัวสะพานก็เป็นเพียงซากอิฐเท่านั้น ก่อนก่อสร้างอาคารมีการเข้าพบผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เพื่อขอคำแนะนำ โดยในปี 2558-2559 กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ อีกทั้งให้คำแนะนำว่าสามารถสร้างได้ จึงเริ่มก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างได้ 35% กรมศิลปากรยังส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจ พร้อมให้คำแนะนำ กระทั่งสร้างแล้วเสร็จ 70% ต่อมาวันที่ 30 พ.ค.2560 กรมศิลปากรมีคำสั่งขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน จึงใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งและฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ไม่ได้เพิกเฉยต่อคำสั่งรื้อถอน แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี (อ่านข่าว มรภ.อยุธยาแถลงยาว 12 หน้าปมสร้างตึก ยันแนวคลองโบราณ ‘กรมศิลป์’ เพิ่งขุดเอง! ไร้ทะเบียนโบราณสถาน)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายประทีป เพ็งตะโก ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สะพานเทพหมีเป็นโบราณสถานโดยสภาพ และประเด็นสำคัญคือพื้นที่ทั้งเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ.2540 หมายความว่าทั้งเกาะเมืองเป็นโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้าง เจดีย์ วิหาร ปราสาทราชวัง รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าก็ถือเป็นโบราณสถานตามนิยามในพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ อยู่แล้ว

Advertisement

“อยุธยาเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้างหลังย้ายราชธานี เป็นเมืองน้ำ เต็มไปด้วย ถนน และคูคลองต่าง ๆซึ่งในปัจจุบันโดยกฎหมายและหลักสากลเรื่องการอนุรักษ์ ก็ถือเป็นโบราณสถานทั้งสิ้น แต่โดยสภาพก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ ตามการใช้ประโชน์ที่ดินที่ไม่ได้คำนึงถึงมุมมองด้านการอนุรักษ์ เหมือนคลองหลายเส้นที่เคยปรากฏหลักฐานทั้งในภาพถ่าย บันทึก แผนที่ ถูกปรับถูกถมไป เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณมรภ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ตั้งเป็นวิทยาลัยครูก็มีการใช้ประโยชน์ โบราณสถานบางประเภทที่มีร่องรอยปรากฏเป็นซาก เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น เจดีย์ วิหาร โบสถ์ วัดร้างที่ไม่ได้ถูกทำลายมากก็ยังปรากฏอยู่ แต่โบราณสถานบางประเภทที่เป็นคูคลอง ถนน เมื่อไม่ได้ใช้งานก็ตื้นเขิน อย่างไรก็ตามโดยสภาพแล้วมีหลักฐานอยู่

ตามข้อเท็จจริงทางวิชาการคือ บริเวณดังกล่าวมีสะพานข้ามคลอง เป็นคลองที่เชื่อมกับบึงพระราม  ทะลุไปแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแนวจะคดโค้งหรือเปลี่ยนสภาพอย่างไร ก็เป็นโบราณสถาน

การที่กรมศิลปากรไปบูรณะสะพาน เดิมก็ต้องมีคลองตามที่ปรากฏหลักฐานในพื้นที่ เพราะฉะนั้นทางกรมศิลปากรคงขุดลอกให้เกิดสภาพความเป็นคลองไว้ในระยะหนึ่งเท่าที่ทำได้ตอนนั้น นี่เป็นเรื่องการปฏิบัติงานทางวิชาการ คือฟื้นฟู บูรณะ ปฏิสังขรณ์ตามหลักฐานที่มีอยู่” นายประทีปกล่าว

Advertisement

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงประเด็นที่มรภ.พระนครศรีอยุธยาแถลงว่าทั้งก่อนการก่อสร้างและระหว่างก่อสร้างมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปกรรับรู้และให้คำแนะนำโดยมีการลงพื้นที่ด้วยนั้น นายประทีปกล่าวว่า ประเด็นหลักคือ มีการสร้างก่อนได้รับอนุญาต เมื่อสร้างไปแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการขออนุญาต ซึ่งก็มีเกณฑ์และระเบียบว่าด้วยการขออนุญาต เช่น ควบคุมความสูง ขนาดอาคาร ที่ต้องทำให้ถูกต้อง เมื่อความสูงเกินก็แนะนำให้ไปปรับแบบให้อยู่ในความสูงที่กำหนด กล่าวคือเป็นการปรับแบบเพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุญาตโดยอธิบดีกรมศิลปากร

“เมื่อทาง ม.ราชภัฏขออนุญาตมา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในพื้นที่ ก็ให้คำแนะนำว่ามีระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างไร ควรก่อสร้างอย่างไร เช่น อาคารควรมีหลังคาคลุม มีเรื่องความสูง และอื่นๆ ให้เป็นไปตามระบียบ ก็แนะนำให้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ประเด็นคือสร้างไปโดยยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย” นายประทีปกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image