‘อนันต์’ มั่นใจอธิบดีใหม่สานงานต่อ อดีตบิ๊กกรมศิลป์ขอลูกหม้อนั่งบริหาร

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า วันที่ 30 กันยายนนี้ ตนจะเกษียณอายุราชการ หลังรับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรมานานกว่า 4 ปี ส่วนตัวทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงที่มีโอกาส ถือเป็นความภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานสำคัญหลายงาน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีต่างๆ ดังนั้นหลังเกษียณอายุราชการจึงไม่มีข้อห่วงใยหรือข้อกังวลใด เชื่อว่าผู้ที่มารับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ จะเข้าสานต่องานทุกอย่างที่ค้างไว้ให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งนี้ การทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีทั้งโครงการที่ทำสำเร็จไปแล้ว และโครงการที่ยังทำไม่เสร็จ ทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์ วัด โบราณสถานต่างๆ ซึ่งก็เชื่อว่าจะได้รับการสานต่อเพราะมีงบประมาณรองรับไว้แล้ว

“ผมเชื่อว่า อธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่จะสานต่องานที่ทำไว้ให้เกิดความต่อเนื่อง ส่วนอธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรนั้น ส่วนตัวคงไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อว่า คนที่ทำงานจนกระทั่งขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงทุกคน มีความสามารถ และเชื่อว่านายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะเลือกคนที่เหมาะสมและมีความสามารถ อีกทั้งผมก็ไม่ได้เสนอใครและรัฐมนตรีว่าการวธ.ก็ไม่มีการเรียกไปสอบถามรายละเอียดอะไร ผมเองไม่ได้รู้สึกใจหาย เพราะที่ผ่านมามั่นใจว่าทำงานเต็มที่ หลังจากนี้ ยังไม่มีการวางแผนว่าจะทำอะไรเป็นพิเศษ คิดว่าคงพักผ่อนกับครอบครัว หลังจากทำงานอย่างหนักมาพอสมควร” นายอนันต์กล่าว

นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า คนที่จะมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ควรจะเป็นลูกหม้อของกรมศิลปากร ซึ่งมีลักษณะการทำงานแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ ด้านภาษาและหนังสือ ด้านงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ และด้านที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ งานช่าง โดยผู้ที่จะมาเป็นอธิบดีควรเข้าใจด้านใดด้านหนึ่ง และเลือกรองอธิบดีที่มีความเชี่ยวชาญอีกสองด้านมาช่วยงานให้มีความเชื่อมโยง ทั้งนี้หากเลือกคนที่ไม่ใช่ลูกหม้อ ก็อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้งานในแต่ละด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้คนนอกเข้ามา เพราะเชื่อว่าจะบริหารงานได้ แต่อยากบอกว่างานของกรมศิลปากร ไม่ใช่เรื่องครูพักลักจำ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายได้

ด้านนายเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า คนที่จะมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ควรเป็นคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านการบริหารมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน และถ้ามาทำงานแล้วอยากให้เร่งพัฒนาและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านภาษา การอ่านหนังสือโบราณคดี การอนุรักษ์โบราณสถานต่างๆ เพื่อสร้างคนสืบทอดองค์ความรู้เอกลักษณ์ทางด้านนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกันต้องทำงานแบบเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่ หรือหน่วยงานที่มีผลกระทบกับการทำงาน เน้นการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจ จะช่วยลดปัญหาการทำงานในพื้นที่ ทำให้งานอนุรักษ์และพัฒนาเดินไปด้วยกันได้ อีกทั้งควรนำสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่า เพราะถ้าคนในพื้นที่เห็นว่ามีประโยชน์ สร้างรายได้ ก็จะช่วยกันรักษาให้คงอยู่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image