เปิดข้อสันนิษฐาน พบภาพ ‘สุนทรภู่’ ร่วมเฟรม ‘สมเด็จโต’ พร้อมข้อสังเกตจากนักประว้ติศาสตร์

เป็นบุคคลสำคัญซึ่งเกิดในยุคที่มีกล้องบันทึกภาพ ทว่า ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายเป็นที่ปรากฏ สำหรับ ‘สุนทรภู่’ อาลักษณ์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นกวีเอกของโลก ทว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีแฟนรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ส่งคำถามผ่านเฟซบุ๊ก ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว เพื่อสอบถามสองกุมารสยามถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ หลังทั้งคู่ไปทอดน่องเมืองระยอง ว่า

“ขอเรียนถามว่าสุนทรภู่และสมเด็จโต เป็นบุคคลดัง เข้านอกออกในมหาราชวัง ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ เป็นบุคคลร่วมสมัยกัน เคยมั้ยที่ทั้งสองเคยพบกัน หรือเคยกล่าวเอ่ยถึงกันและกัน เช่น เวลาสมเด็จโตเทศน์แล้วกล่าวถึงสุนทรภู่ หรือสุนทรภู่แต่งกลอนแล้วกล่าวถึงสมเด็จโต เป็นต้น ขณะที่สุนทรภู่บวชเป็นพระ เคยไปกราบสมเด็จโตด้วยหรือไม่”

ครั้นทีมงานของรายการส่งคำถามไปยัง สุจิตต์ วงษ์เทศ แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ ไม่เพียงมีคำตอบน่าสนใจ แต่ยังหยิบยกภาพถ่ายที่มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นภาพของสุนทรภู่ ร่วมเฟรมกับสมเด็จโต โดยเป็นบุคคลที่นั่งอยู่เบื้องล่าง ฝั่งซ้ายของภาพ หรือฝั่งขวามือของสมเด็จโตนั่นเอง

รายละเอียดดังนี้

Advertisement

สุนทรภู่ เกิด พ.ศ. 2329 สมเด็จโต เกิด พ.ศ. 2331

สุนทรภู่ อายุมากกว่าสมเด็จโต 2 ปี ถือว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.1 โดยสามัญสำนึกก็น่าเชื่อว่ารู้จักมักคุ้นกัน แต่จะมากน้อยขนาดไหนไม่พบหลักฐาน

อ. ล้อม เพ็งแก้ว บอกว่าเมื่อดูตามช่วงเวลาแล้ว เชื่อว่าทันเห็นกัน แต่ไม่เคยเห็นหลักฐานว่าทั้งสมเด็จโตและสุนทรภู่เคยพูดถึงกัน แต่ขอให้สังเกตว่าเนื้อธรรมะที่สอนนางละเวงวัณฬา น่าจะมีคำสอนของสมเด็จโตสอดแทรกอยู่ด้วย

เรื่องสมเด็จโตกับสุนทรภู่ ผมเคยได้ยินตั้งแต่ราว พ.ศ. 2518 สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ “กวีเมืองตรัง” เคยกระตือรือร้นถอดรหัสภาพนิ่งสมเด็จโต มีศิษย์ 2 คน นั่งพับเพียบอยู่ด้านหน้า คนหนึ่งน่าจะเป็นสุนทรภู่ แต่ด้วยเหตุผลอะไรผมไม่ได้จำ เพราะตอนนั้นอ่อนด้อยทางปัญญา พื้นฐานความรู้ความเข้าใจไม่พอ แม้ถึงทุกวันนี้ก็มีเท่าเดิม จึงแสดงความเห็นใดๆ มิได้ นอกจากทบทวนความจำแล้วเขียนมาเล่าสู่กันอ่าน

สมเด็จโต บวชเณรในแผ่นดิน ร.1 เรียนที่สำนักวัดระฆัง กล่าวกันว่าเมื่อเป็นสามเณรท่านเทศน์ได้ไพเราะนัก

สุนทรภู่ ไม่ได้บวชเณร แต่อยู่วังหลัง แล้วเรียนหนังสือสำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม)

วังหลังทุกวันนี้คือโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ต่อเนื่องวัดระฆังด้านทิศเหนือ น่าเชื่ออย่างยิ่งว่าต่างวิ่งเล่นไปมาเป็นปกติอยู่ย่านนั้น บ้าน, วัด, วัง

รุ่นราวคราวเดียวกันยังมีอีกท่านหนึ่ง คือ ครูแจ้ง วัดระฆัง (ครูเสภาผู้แต่งกำเนิดกุมารทอง ผ่าท้องนางบัวคลี่) เชื่อว่าท่านเหล่านี้คุ้นเคยกัน

ส่วนภาพดังกล่าวจะเป็นสุนทรภู่จริงหรือไม่ ต้องหาหลักฐานมาถกเถียงกันต่อไป.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image