ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน เดินทางถึงเวียงจันทน์ จัดกิจกรรมตักบาตร ปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์

วันที่ 26 ตุลาคม คณะโพธิคยาวิชชาลัย โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งที่ 2 เดินทางถึงนครเวียงจันทน์ จัดกิจกรรมตักบาตร ปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์ ณ พระธาตุหลวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานจัดยิ่งใหญ่มีประชาชนมาร่วมนับหมื่นคน มีประธานฝ่ายสงฆ์พระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำรงบุญ ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์แห่ง สปป.ลาว เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระธรรมวรนายก อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด นครราชสีมา, พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเมธี ป.ธ.๙,ดร.) และท่านไชสมพร พรหมวิหาร ประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส, นายบุญเที่ยง คุณศรี ประธานแนวลาวสร้างชาติ นครหลวงเวียงจันทน์, นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย แผ่นดินลุ่มน้ำโขง

Advertisement

จากนั้นคณะธรรมยาตราฯ และคณะพระสงฆ์และฆราวาสจาก สปป.ลาว ร่วมปลูกหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์บริเวณหน้าหอธรรมสภา ณ วัดธาตุหลวง

พระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำรงบุญ แสดงสัมโมนียกถา และให้พรแก่คณะธรรมยาตราฯ และประชาชนชาวลาวที่มาร่วมงานพระสงฆ์คณะธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน และพระสงฆ์ของ สปป.ลาว ประมาณ 400 รูป ร่วมพิธีตักบาตร 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง โดยจุดเริ่มต้นการบิณบาตอยู่ที่บริเวณหน้าหอธรรมสภา วัดธาตุหลวง ไปจนถึงสี่แยกหนองบอน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

พระอาจารย์ใหญ่มหางอน ดำรงบุญ ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาวกล่าว สัมโมทนียกถาในระหว่างศาสนพิธี ที่พระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ ว่า งานที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นงานสำคัญในรอบหลายสิบปี โดยงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง เกิดจากการนำดำริของพระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก อดีตประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ สปป.ลาว มาดำเนินการให้เกิดมรรคผล

พระอาจารย์ใหญ่มหางอนกล่าวว่า ขบวนธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง เริ่มตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย มาจนถึงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ท่านรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เห็นพุทธบริษัท  มีความนับถือเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงพร้อมใจจัดงานที่เป็นมงคลนี้ขึ้น

ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ สปป.ลาว อธิบายความหมายของ ธรรมยาตรา ว่าเป็นหนทางสร้าง”ความสามัคคี ของชาวพุทธไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนามและเมียนมา แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนิกชนทั้ง 5 ประเทศ มีความศรัทธา จึงพร้อมใจกันจัดกิจกรรมมงคล ธรรมยาตรา ด้วยความรัก ด้วยสัมพันธไมตรี เมตตา กรุณาต่อกัน

ในช่วงท้ายพระอาจารย์ใหญ่มหางอน กล่าวขอบคุณคณะธรรมยาตรา ที่นำบุญมาที่ พระธาตุหลวง และขอชื่นชมที่ทำให้เกิดสิ่งมงคล โดยเฉพาะสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้นของ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง

นายบุญเที่ยงกล่าวว่า นครหลวงเวียงจันทน์ ขอต้อนรับต่อคณะธรรมยาตราฯ ซึ่งนครหลวงเวียงจันทน์มี 9 อำเภอ 481 หมู่บ้าน มีพลเมืองประมาณ 1,200,000 คน ถือเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยในปี ค.ศ.2020 จะมีอายุครบ 460 ปี นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งและธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งด้านวัตถุและจิตใจ อยู่เคียงคู่กับการดำรงชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชาว สปป.ลาว และขอให้โครงการธรรมยาตราฯ ในครั้งนี้มีผลสำเร็จและผ่านพ้นไปด้วยดี

นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย กล่าวรายงานว่า งานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง เริ่มที่ อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโยนกปุระอันยิ่งใหญ่. ตลอดการเดินทางขบวนธรรมยาตรา ได้เห็นศรัทธาอันมั่นคงของชาวพุทธลุ่มน้ำโขง เช่น การบิณฑบาตรพระสงฆ์ 5 แผ่นดินที่ชายแดนไทย- เมียนมา บิณฑบาตรกว่า 3. ชั่วโมง พุทธศาสนิกชนร่วมงานกว่า 20,000 คน ซึ่ง มุขมนตรีรัฐฉาน ได้กล่าวว่าเป็น เรื่องนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของรัฐฉาน

เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย กล่าวด้วยว่า แม่น้ำโขง กั้นเพียงเขตแดน แต่พลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน  5 ประเทศตั้งมั่น การจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน เป็นงานในเชิงสัญลักษณ์ เสาธรรมจักร  เป็นการหมุนกงล้อธรรมครั้งยิ่งใหญ่ ธงฉัพพรรณรังสี ธงธรรมยาตรา ได้ถูกปักลงในประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อให้พุทธศาสนาปักหลักมั่นคงในดินแดนศักดิ์สิทธิ์สืบต่อไปอีก 2,500 ปี

“ในฐานะตัวแทนคณเะธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ขอให้คำมั่นเสมือนที่ให้กับพระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก อดีตประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว ก่อนท่านละสังขาร 5 ปีที่แล้วว่า จะผนึกแผ่นดินสุวรรณภูมิให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และจะทุ่มเททำงานให้พุทธศานาต่อไป”นายสุภชัย กล่าว

เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย กล่าวขอบพระคุณท่านชัยสมพร พรหมวิหาร ประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ประธานสงฆ์ทุกประเทศ พระอาจารย์ทุกรูป พร้อมยืนยันจะทำงานธรรมยาตราต่อไป ปักธงฉัพพรรณรังสีให้ทั่วทุกดินแดน. เพื่อให้พุทธศาสนาปักหลักอย่างมั่นคง

สำหรับพระธาตุหลวง พระธาตุหลวง หรือ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งแห่งเวียงจันทน์ และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวลาวทั่วประเทศ ตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย และปรากฏความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างแยกไม่ออก

สถานที่นี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างของประเทศลาว ดังปรากฏว่าตราแผ่นดินของลาวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีรูปพระธาตุหลวงเป็นภาพประธานในดวงตราพระธาตุหลวงแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาพุทธตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าจันทบุรีศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรก ตามตำนานเล่าว่า มีพระภิกษุลาวจำนวน 5 รูป เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แล้วนำพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนที่เป็นหน้าอก) มาไว้ที่เวียงจันทน์ เจ้านครในสมัยนั้นจึงสั่งให้มีการสร้างพระธาตุขึ้นมาเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุไว้สำหรับกราบไหว้บูชา เริ่มแรกนั้นพระธาตุถูกสร้างด้วยหิน แต่ต่อมามีการสร้างเจดีย์ครอบองค์พระธาตุ และบริเวณรอบๆ องค์พระธาตุมีเจดีย์รายล้อมหลายองค์ ที่เจดีย์ถูกแกะสลักเป็นลวดลายพญานาค และมีตลาดขายของที่ระลึก ที่วัดพระธาตุเหนือมีหอสร้างใหม่ใหญ่โตเป็นพอแปลภาษาและศิลปะตามพระไตรปิฏกวัดพระธาตุใต้มีรูปปั้นพระนอน และพระปางต่างๆรายล้อมด้วยความสวยงามและยิ่งใหญ่ หลายคนจึงยกให้ พระธาตุหลวง เป็นสถานที่หลักอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์ประจำเวียงจันทน์ด้วย และ พระธาตุหลวง ก็เป็นสัญลักษณ์อยู่ในตราประจำแผ่นดิน และในธนบัตรของลาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image