‘อิทธิพล’ เร่งทวงคืน ‘2’ ทับหลังจากพิพิธภัณฑ์อเมริกา คาดได้คืนภายในปี 63

‘อิทธิพล’ เร่งทวงคืน ‘2’ ทับหลังจากพิพิธภัณฑ์อเมริกา คาดได้คืนภายในปี 63 โผล่อีก “พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี” บอร์ดทวงคืนโบราณวัตถุฯ เร่งตรวจสอบของไทยหรือไม่

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 2/2562 ว่า กรมศิลปาการเสนอรายการบัญชีทวงคืนโบราณวัตถุที่อยู่ระหว่างการติดตาม จำนวน 124 รายการ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามฯ ที่ต้องทวงคืนตามขั้นตอนกฎหมาย แต่การทวงคืน ต้องมีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นของไทยที่ถูกนำออกโดยผิดกฎหมาย

ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าในการทวงคืน ขณะนี้มีโบราณวัตถุจำนวน 2 รายการ ที่ถือเป็นชิ้นเอก และมีแนวโน้มที่จะได้คืน คือ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ซึ่งจัดแสดง ณ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายของอเมริกา โดยสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigation : HSI) สหรัฐอเมริกา ได้แต่งตั้งอัยการรับผิดชอบคดีโดยตรงแล้ว ตนไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ว่าจะได้คืนเมื่อไหร่ แต่หวังว่าจะเร่งรัดทวงคืนได้ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2563

 

“ที่ประชุมได้ปรับปรุงภารกิจกรรมการด้านวิชาการ จากเดิมให้ความรู้ด้านวิชาการ ก็เพิ่มภารกิจให้ประสานงาน ติดตามให้ข้อมูลกับวธ. โดยเฉพาะเร่งติดตามรายการโบราณวัตถุที่อยู่ในลิสต์เร่งด่วน ที่ส่วนมากพบในสหรัฐอเมริกา โดยจะประสานกับสหรัฐอเมริกาเพื่อให้พนักงานในแต่ละรัฐฟ้องคดีว่าโบราณวัตถุที่พบเป็นของประเทศไทยหรือไม่เพื่อนำกลับประเทศไทยต่อไป จากเดิมขั้นตอนการทวงคืน จะประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และเอกอัครราชทูตเท่านั้น เมื่อเพิ่มหน้าที่นี้ เชื่อว่าจะกระชับเวลาในการทวงคืนได้มากขึ้น” นายอิทธิพลกล่าว

Advertisement

นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายการโบราณวัตถุที่ต้องติดตามทวงคืนเพิ่มอีก 1 ชิ้น คือ พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี เป็นโบราณวัตถุในยุคทราวดี พุทธศตวรรษที่ 13 ที่ปรากฏในฐานข้อมูลของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งเปรียบเทียบได้กับโบราณวัตถุที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ถ่ายรูปไว้เมื่อคราวสำรวจเมืองโบราณซับจำปา จ.ลพบุรี เมื่อปี 2515 ขณะนั้นชาวบ้านซับจำปาได้เก็บรักษาไว้ แต่ภายหลังมาปรากฏอยู่ในรายการโบราณวัตถุของสถาบันเอเชียโซไซตี้ โดยระบุปีที่ได้รับวัตถุมาเมื่อปี 2522 โดยนาย จอห์น ดี ร็อกกี้เฟลเลอร์และภริยา เป็นผู้มอบให้ เมื่อเทียบปีที่ปรากฏภาพถ่ายของโบราณวัตถุชิ้นนี้ และปีที่สถาบันเอเชียได้รับมา เป็นไปได้ว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้ถูกลักลอบออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งที่ประชุมให้โบราณวัตถุชิ้นนี้อยู่ในรายการโบราณวัตถุที่ต้องทวงคืน หลังจากนี้คณะอนุกรรมการวิชาการ จะไปค้นหาข้อเท็จจริงว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นของไทยจริงหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นโบราณวัตถุจากไทย จะดำเนินการติดตามทวงคืนตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวต่อว่า จากโบราณวัตถุจำนวน 124 รายการดังกล่าว ขณะนี้คณะกรรมการทวงคืนฯ ได้ทำหนังสือติดตามทวงคืนไปยังประเทศต่างๆ ประมาณ 74 รายการ ส่วนที่เหลือกว่า 50 รายการ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ 100% ว่ามาจากประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ตนเสนอว่าควรพ่วงประเด็นติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ เข้าไปในหัวข้อการเจรจาระหว่างรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาพบผู้นำของประเทศต่างๆ และการประชุมสำคัญระดับชาติ เพื่อยกระดับความสำคัญ เพราะจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา ประเด็นการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุไม่ถูกพูดถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image