วธ.เปิดงาน ‘ลากพระ’ จ.ตรัง ชวนประชาชนร่วมสืบสาน3-11 ต.ค.

วธ.เปิดงาน ‘ลากพระ’ จ.ตรัง ชวนประชาชนร่วมสืบสาน3-11 ต.ค.

วธ.เปิดงาน ‘ลากพระ’ จ.ตรัง ชวนประชาชนร่วมสืบสาน ชมความงาม 81 เรื่อพระ 3-11 ต.ค.

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เปิดงานประเพณีลาก จ.ตรัง โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวธ.และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ณ ลานเรือพระทุ่งแจ้ง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง  ทั้งนี้จัดงานประเพณีลากพระ จ.ตรัง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคม  ณ ลานเรือพระทุ่งแจ้ง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดประเพณีโบราณของภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะใน 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น มวยไทยและเทศกาล ประเพณี โดยเฉพาะการส่งเสริมการจัดงานประเพณีและเทศกาลศิลปวัฒนธรรมของไทย ซึ่งวธ.มุ่งเน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยกิจกรรมภายในงานปีนี้ประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ การแสดงดนตรีโดยศิลปินเยาวชน การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน การประกวดด้านต่าง ๆ อาทิ สำนวนโวหารของถิ่นใต้ การเล่านิทานพื้นบ้าน และกิจกรรมที่สำคัญคือการประกวดเรือพระ ซึ่งในปีนี้มีเรือพระส่งเข้าประกวด จำนวนทั้งสิ้น 81 ลำ

“ประเพณีลากพระของจังหวัดตรังนั้น สืบเนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้ร่วมกับคณะสงฆ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปะการแกะสลักไม้เป็นเศียรพญานาคที่ถูกทิ้งร้างไว้ตามวัดต่างๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยได้ร่วมมือกันรวบรวมเรือพระในอำเภอเมืองตรัง ลากมาจัดแสดงข้างที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง (ลานหน้าศาลจังหวัดตรัง) เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และเป็นการรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีความตระหนักรู้ในคุณค่าของประเพณีไทย และได้ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดประเพณีและวัฒนธรรมให้คงอยู่  สำหรับการจัดงานประเพณีลากพระหรือชักพระ เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมายาวนาน จะจัดขึ้นในช่วงเดือน 5 หรือเดือน 11 เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการขอพรจากเทพยดาให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ผลิตผลทางการเกษตรงอกงามบริบูรณ์ และส่งเสริมความสามัคคีของคนในชุมชน โดยพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ ล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำหรือตามถนนหนทาง ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือมีลำคลองก็ลากพระทางน้ำ ถ้าห่างไกลจากลำคลองก็ลากพระทางบก”นายอิทธิพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image