‘สุชาติ’ รำลึกถึง 102 ปี ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ นักเขียนสำนวนสะวิง

‘สุชาติ’ รำลึกถึง 102 ปี ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ นักเขียนสำนวนสะวิง

‘สุชาติ’ รำลึกถึง 102 ปี ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ นักเขียนสำนวนสะวิง – ย้อนเล่า ครั้งตั้งโครงการ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ก่อนเผยความ ‘บิดเบี้ยว’

เมื่อวันทื่ 26 ธันวาคม นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ได้โพสต์ภาพ พร้อมเขียน ผ่านเฟซบุ๊ก “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” โดยระบุว่า ความรำลึกย้อนหลัง วิตต์ สุทธเสถียร และ “ศิลปินแห่งชาติ” ที่บิดเบี้ยวมาแต่ครั้งเริ่มต้น 26 ธันวาคม วันเกิดของวิตต์ สุทธเสถียร เขาเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ นักวาดการ์ตูน เป็นบุตรชายคนเดียวของมหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี ( สาตร สุทธเสถียร ) และคุณหญิงเมธาธิบดี ( อรุณ นามสกุลเดิม ประทีปะเสน ) ผู้เป็นบิดาของเขา คือพระยาเมธาธิบดี เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และนักการศึกษาที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ แต่แวดวงการศึกษาในบ้านเรากลับลืมไปแล้ว วิตต์ สุทธเสถียร สมรสกับ ลำเพา พลางกูร ธิดาของพระยาผดุงวิทยาเสริม ( กำจัด พลางกูร ) ซึ่งเป็นบิดาของเสรีไทย จำกัด พลางกูร วิตต์มีธิดา 3 คน และหลาน 4 คน

วิตต์ สุทธเสถียร เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2460 ที่บ้านถนนนครไชยศรี เชิงสะพานราชวัตร ดุสิต กรุงเทพฯ ถ้าเขายังมีชีวิตต่อมาจนถึงวันนี้ วิตต์ก็จะมีอายุ 102 ปีชาตกาล ( นับตามปฎิทินแบบเก่า ) ในวันนี้

ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ วิตต์ สุทธเสถียร เข้าประจำทำงานหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ในช่วงรุ่นก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นที่ นสพ.”สุวรรณภูมิ” นสพ.”ประชามิตร -สุภาพบุรุษ” ( ฉบับวันอาทิตย์) แต่ที่สำคัญเขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ “ชาติไทย” รายวัน และ “ชาติไทยวันอาทิตย์” รายสัปดาห์ ที่เคย “ผ่านเกิด” เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ชื่อ “เงามะพร้าวที่นาชะอัง” ให้กับกับเด็กหนุ่มชื่อ สุวัฒน์ วรดิลก นอกจากนั้น วิตต์ สุทธเสถียร ได้ทำงานหนังสือพิมพ์ในรุ่นทศวรรษ 2490 ต่อมาอีกหลายฉบับ เช่น “เทอดไทยรายวัน” และประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ชาวไทยรายวัน” เคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ของ เวช กระตุฤกษ์ มาตั้งแต่ในยุคบุกเบิกเมื่อ พ.ศ.2476

Advertisement

นอกจากนั้น วิตต์ สุทธเสถียร ยังเป็นนักเขียนข่าวสังคมซุบซิบคนแรกๆ ของประวัติการหนังสือพิมพ์ในบ้านเราด้วย โดยใช้นามปากกาว่า “คนพระนคร” ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือเขายังมีฝีมือทางงานศิลปะ เช่นวาดการ์ตูน ทั้งการ์ตูนช่อง และการ์ตูนเรื่อง เป็นนักวาดการ์ตูนคนสำคัญในหนังสือพิมพ์รายต่างๆ มาตั้งแต่ในรุ่นทศวรรษ 2480 และ 2490 โดยใช้นามแฝงว่า “วิตตมิน”

ในฐานะนักประพันธ์ วิตต์ สุทธเสถียร คือเจ้าของนิยายฉากต่างแดนเรื่อง “ตะเวณมะนิลา” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ “ประชามิตร” เมื่อ พ.ศ.2486 โดยใช้กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ช่วงก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นฉากและบรรยากาศในเรื่อง เขาใช้ลีลาภาษาเฉพาะตัวจนเรียกกันในยุคนั้นว่า “นักเขียนสำนวนสะวิง” ของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ( บางแห่งยกย่องว่านักเขียน “สำนวนสะวิง” ยังมีอีกคนหนึ่งคือ “นายตำรา ณ เมืองใต้” แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมเมื่อเอางานมาเปรียบกันแล้ว ผมยกสมญานี้ให้แก่ วิตต์ สุทธเสถียร มากกว่า “นายตำรา ณ เมืองใต้” และนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์อีกท่านหนึ่งที่น่าจะเข้าข่าย “สำนวนสะวิง” ก็คือ อิศรา อมันตกุล ) ลีลาภาษาในลักษณะ “สะวิง” ที่ว่านี้ ต่อมาจะกลายเป็นอิทธิพลสืบทอดมาให้ รงค์ วงษ์สวรรค์ ผลงานประพันธ์ทั้งในเชิงเรื่องสั้น นิยายสั้น และงานเขียนสารคดีของวิตต์ สุทธเสถียร ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น “สาวนํ้าเค็ม” “กุหลาบดำ” “รุ่นสาว” “วัยไฟ” “สาวไห้” ฯลฯ

วิตต์ สุทธเสถียร ได้ลาลับจากไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2532 มีอายุสั้นเพียง 71 ปี เท่านั้น
ท่านเชื่อหรือไม่ ในช่วงระดมความเห็นเพื่อก่อตั้งโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” ในช่วงรอยต่อของ พ.ศ.2527 และ พ.ศ.2528 สมัยที่ในยุคนั้นยังเป็นสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ( สวช.) และ ชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ผมเคยเข้าไปร่วมอยู่ในโครงการนี้ระยะเริ่มก่อตั้ง และต่อมาในสายทางวรรณศิลป์ที่มีผมอยู่ในกลุ่มระดมความเห็นครั้งนั้น ผมเคยเสนอชื่อบุคคลที่เป็นเหมือน “หมุดหมาย” ( Milestone ) ของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ไว้หลายคน ว่าควรเร่งประกาศเกียรติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เสียโดยไว โดยใช้เกณฑ์อายุตั้งแต่ 65 เป็นไทม์ไลน์เริ่มต้น ซึ่งในช่วงนั้นก็อย่างเช่น “ฮิวเมอร์ริสต์” ( นามปากกาของ อบ ไชยวสุ ) “ก.สุรางคนางค์” ( นามปากกาของ กัณหา เคียงศิริ ) “อิงอร” ( นามปากกาของ ศักดิเกษม หุตะคม ) วิตต์ สุทธเสถียร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. “เสนีย์ เสาวพงศ์” ( นามปากกาของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ) “อุษณา เพลิงธรรม” ( นามปากกาของ ประมูล อุณหธูป ) และที่ลืมไปใน “หมุดหมาย” รุ่นนั้นก็ยังมีอีกเช่น “ส.บุญเสนอ” ( นามปากกาของ เสาว์ บุญเสนอ )

Advertisement

หลังจากเสนอชื่อ Drop Name ไว้ในช่วงแรก ชุดแรก ก็ไม่ได้กลับไปสานต่อการระดมความเห็นในช่วงก่อตั้งโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” เมื่อ พ.ศ.2527 แต่ประการใด และที่ปรากฏต่อมาในการ Drop Name ครั้งนั้น นักเขียน นักประพันธ์ ในสายวรรณศิลป์ ที่ได้รับการประกาศเกียรติเป็นการเริ่มต้นนี้ก็เห็นมีแต่ “ฮิวเมอร์ริสต์” “ก.สุรางคนางค์” และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช ที่ผมเคยมีส่วนเสนอชื่อไว้เท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ กลับถูกดึงออกไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ แล้วก็มี “ศิลปินแห่งชาติ” สายวรรณศิลป์ เช่น ม.ล.ปิ่น มาลากุล “กฤษณา อโศกสิน” อัศสิริ ธรรมโชติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “โบตั๋น” เข้ามาเสียบแทน ทั้งๆที่ผมไม่ได้ Drop Name ไว้ในช่วงเริ่มต้นโครงการนี้แต่ประการใด จนต่อมานักเขียน นักประพันธ์ ใน “หมุดหมาย” ในรุ่นนั้น ต่างลาลับจากไป ไม่ว่าจะเป็น “อิงอร” วิตต์ สุทธเสถียร ประมูล อุณหธูป ( ยังเหลือก็แต่ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ที่ยังมีชีวิตอยู่ และผมได้ตามมายืนยันอีกครั้งเมื่อกลับมาเป็น “คณะอนุกรรมการ” สาขาวรรณศิลป์ ในช่วงปี พ.ศ.2534, 2535 และ 2536 ในสมัยที่ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง เป็นเลขาธิการ สวช. – และในช่วงนั้นยังไม่ได้ก่อตั้งมาเป็น “กระทรวงวัฒนธรรม” เหมือนเช่นในปัจจุบัน )

ขอรำลึกถึง วิตต์ สุทธเสถียร ในวาระ 102 ปี ชาตกาล ( นับตามปฎิทินแบบเก่า ) ที่เป็น “หมุดหมาย” สำคัญคนหนึ่งในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ไว้เท่านี้ก่อน และจะกลับมารำลึกย้อนหลังเรื่องการก่อตั้งโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” ในโอกาสต่อๆ ไปว่ามัน “บิดเบี้ยว” ไปจากเมื่อครั้งเริ่มต้นอย่างไร

หมายเหตุ : ภาพจากหนังสือ “อนุสรณ์งานเมรุ วิตต์ สุทธเสถียร” ณ วัดธาตุทอง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2533

คลิกอ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image