ย้อนที่มาอนุสาวรีย์ “พระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ นับสิบปี กว่าส.ส.ธนบุรี จะผลักดันสำเร็จ

พระเจ้าตากสิน

ย้อนที่มาอนุสาวรีย์ “พระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ หลายสิบปี กว่าส.ส.ธนบุรีจะทำสำเร็จ

พระเจ้าตาก – วันที่ 28 ธันวาคม นับเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ซึ่งในแต่ละปี จะมีคณะบุคคล องค์กรต่างๆ และประชาชน ร่วมไปถวายบังคมพระเจ้าตากสินมหาราชในพื้นที่ต่างๆที่มีพระราชานุสาวรีย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งแต่ละปี ไม่เพียงแต่มีประชาชนเข้ามาแสดงความเคารพ แต่ยังจะมีงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอีกด้วย

สำหรับที่มา อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะชาวฝั่งธนบุรีนั้น เนื้อหาจากบทความเรื่อง “ข้อมูลใหม่เรื่อง ‘พระเจ้าตากสิน’ ว่าด้วย เมืองตาก – อนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่-นครศรีธรรมราช” โดย วิภา จิรภาไพศาล ที่เผยแพร่ผ่าน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อปี 2561 ระบุว่า

“ใครๆ ต่างรู้จักพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ หากค้นคว้าในวิกิพีเดียก็จะรู้ลึกลงไปอีกว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และมีพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 ฯลฯ

แต่กว่าที่พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้จะแล้วเสร็จ มีบุคคลที่ริเริ่ม ผลักดัน เกาะติดอย่างต่อเนื่องจนก่อสร้างแล้วเสร็จ คงต้องยกเครดิตนี้ให้ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ กับเวลา 32 ปี (พ.ศ.2465-97) ในการทำงานนี้

Advertisement
นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ เจ้าของฉายา “โต้โผไฮด์ปาร์ค” ถูกจับกุมกรณีกบฏอดข้าว ในภาพตำรวจประคองปีกซ้าย-ขวานำตัวมาศาล

ทั้งนี้ ส.ส.ทองอยู่  พุฒพัฒน์ (พ.ศ.2442-2514) เป็นคนบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เรียนจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเป็นครูตั้งแต่อายุ 23 ปีที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ

ครูทองอยู่ต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ จึงต้องค้นคว้าหลักฐาน และพบว่า เรื่องราวของพระเจ้าตากได้ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ครูทองอยู่จึงได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าตากมากมายที่พึงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราช และพระองค์พึงมีอนุสาวรีย์ที่จังหวัดธนบุรี

ต่อมา พ.ศ.2465 ในระหว่างที่นายทองอยู่เป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ เสนอความคิดเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์กับเพื่อนครู แต่ถูกมองเป็นเรื่องขบขันที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าใครขืนอุตริกระทำขึ้นก็อาจนำภัยเข้ามาสู่ตัวเอง

Advertisement

แต่เขาไม่เคยละทิ้งความตั้งใจ เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังปฏิวัติ 2475 ครูทองอยู่จึงลาออกมาสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. จังหวัดธนบุรีคนแรก ส.ส. ทองอยู่จึงผลัดดันการสร้างราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

ปี พ.ศ.2477 ส.ส. ทองอยู่ จึงเชิญประชุมผู้แทนตำบลของจังหวัดธนบุรีทั้งหมด เพื่อหารือเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินอีก

เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในหลักการ แต่กลับไม่คืบหน้า นายทองอยู่ก็ทำหนังสือถึง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการและพากันเข้าเฝ้า พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอความร่วมพระทัยในการสร้าง

นายทองอยู่ ยังติดตามเรื่องการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินอย่างต่อเนื่อง เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ อีกหลายรัฐบาล จนเริ่มมีการออกแบบ กระทั่งอีก 10 ปีต่อมา ปี 2492 อดีต ส.ส.ทองอยู่ ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานสภาเทศบาลนครธนบุรี ได้ร่วมกับ ส.ส.จังหวัดธนบุรี ชื่อ นายเพทาย โชตินุชิต ผลัดดันให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดสร้างอนุสาวรีย์นี้ให้เป็นจริง

โดยทางรัฐบาลตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง และอนุมัติงบประมาณให้ 2 แสนบาท แต่การจัดสร้างทุกอย่างต้องใช้เงิน 5 แสนบาท อดีต ส.ส.ทองอยู่ และคณะจึงรณรงค์หาเงินจนสร้างและเปิดราชานุสาวรีย์นี้ได้สำเร็จในวันที่ 17 เมษายน 2497 ซึ่งวันนี้ถูกคำนวณว่า คือวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อมูลผู้ผลักดันสร้างอนุสาวรีย์ ‘พระเจ้าตาก’ คนแรก เผยคือ ส.ส. ที่เคยเป็นครูประวัติศาสตร์

ข้อมูลใหม่เรื่อง ‘พระเจ้าตากสิน’ ว่าด้วย เมืองตาก-อนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่-นครศรีธรรมราช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image