สศร.ผนึกกำลังศิลปินไทย-ต่างชาติ รังสรรค์ผลงานศิลป์ ‘เบียนนาเล่ โคราช’

สศร.ผนึกกำลังศิลปินไทย-ต่างชาติ  รังสรรค์ผลงานศิลป์ ‘เบียนนาเล่ โคราช’
ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยว่า จากการที่ตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าการ โครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งใน จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ และ เฉลิมฉลอง พระสมัญญา “สิริศิลปิน” สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พบว่า ได้มีการกำหนดแนวคิดหลัก ภายใต้ชื่อ “Butterflies Frolicking on the mud” มีชื่อรองคือ “Engendering Sensible Capital” และใช้ชื่อภาษาไทยว่า “เซิ้ง..สิน ถิ่นย่าโม” โดยมี ยูโกะ ฮาเซงาวะ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นายธวัชชัย สมคง พร้อมด้วย นายวิภาช ภูริชานนท์ และ นายเซฮา คุโรซาวา เป็นคณะภัณฑารักษ์ ทั้งนี้ มี ศิลปินทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม รวม 54 คน จาก 25 ประเทศ ซึ่งจะเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะเฉพาะพื้นที่ โดย กำหนดพื้นที่จัดแสดงผลงาน ไว้ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.อ.ปากช่อง ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ 2.พื้นที่ใน อ.เมืองนครราชสีมา บริเวณ Art Gallery and Exhibition มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สวนสัตว์นครราชสีมาบริเวณสวนสัตว์และลานย่าโม และ3.พื้นที่ใน อ.พิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย กุฏิฤาษี (อโรคยศาลา)
ดร.วิมลลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานจัดงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช นั้น ได้ถูกเลื่อนมาหลายครั้งเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเตรียมงานไม่ราบรื่นนัก ในระหว่างขั้นตอนการวิจัยและสื่อสารแบบเสมือนจริงจำนวนมาก ศิลปินผู้รับเชิญหลายท่าน ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของข้อเสนอโครงการ แต่อย่างไรก็ดีพบว่าในท่ามกลางวิกฤติก็มีโอกาส ที่ทำให้ศิลปินเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การระบาดของโรคร้ายนี้ให้กลายเป็นประสบการณ์เชิงบวก สร้างผลงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยร่วมมือกับผู้ประสานงานและชุมชนท้องถิ่นของเมืองโคราชและอำเภอพิมาย อาทิ
 Nile Koetting ได้จินตนาการถึงสถานการณ์นี้ในภาพของเลานจ์ที่สนามบินซึ่งเที่ยวบินถูกยกเลิกและเลื่อนออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาจะเปลี่ยนจินตนาการดังกล่าวให้กลายเป็นศิลปะจัดวางแบบการแสดงของห้องพักคอย ณ พื้นที่ว่างตรงระเบียงของมทร.อีสาน  การสร้างศิลปะจัดวาง แบบจำลองโครงการเบียนนาเล่  เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของสะพานทอดข้ามคูเมืองใจกลางโคราช ที่จะสำเร็จในอนาคต  ซึ่งจะช่วยให้ชาวเมืองโคราชสร้างความผูกพันใหม่กับมุมมองอันซ่อนเร้นของธรรมชาติในเมืองภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน  Yllang Montenegro ได้วางแผนในตอนต้นว่าจะเดินทางมาลงพื้นที่และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติร่วมกับแรงงานข้ามชาติหญิง แต่ไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ เธอจึงตัดสินใจที่จะส่งสารให้แก่ชาวเมืองโคราชและแทนที่การเชื่อมการสื่อสารของการประชุมเชิงปฏิบัติจากมนุษย์ด้วยต้นไม้แทน เธอจึงสร้างศิลปะการจัดวางแบบประติมากรรมโดยใช้ต้นไม้และผ้ากันเปื้อนที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลจากชุมชนท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ ในศาลาใกล้ลานวีรสตรีของเมืองโคราช โครงการของ Yllang จะสำรวจรูปแบบใหม่ของการสื่อสารข้ามเขตแดนระหว่างประเทศในบริบทหลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) เมื่อการสัมผัสทางกายยังคงจำกัด ส่วน  Tsuyoshi Tane ได้ทำให้รากฐานและการพัฒนาภูมิภาคอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย) ซึ่งย้อนหลังไป3,000 ปีจนถึงปัจจุบันกลับมามีชีวิตและเด่นชัดอีกครั้ง โดยการ ฉายแสงไปยังความรู้จากผลงานสะสมทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์ อย่างนุ่มนวล
Charlotte Dumas จะเน้นไปที่ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสังคมมนุษย์กับสัตว์โดยใช้บริบททางประวัติศาสตร์แกะสลักบนกระเบื้องแบบดั้งเดิมเป็นรูปวาดช้างที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการสนทนาระหว่างตัวเธอกับลูกสาวในช่วงการล็อกดาวน์ ผลงานดังกล่าวจะนำเสนอความสัมพันธ์โดยสัญชาตญาณระหว่างเด็กกับสัตว์อีกด้วยและในขณะเดียวกันก็สร้างเสียงสะท้อนอันเข้มแข็งระหว่างพิพิธฯ กับสวนสัตว์นครราชสีมาที่จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งของงานเบียนนาเล่ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ในท้องถิ่นเพื่อพบเจอกับสัตว์ป่าและธรรมชาติ  ณ สวนสัตว์นครราชสีมา Zai Tang กำลังมีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยนกกระเรียนไทยเพื่อสร้างศิลปะการจัดวางแบบเสียงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงร้องอันพร้อมเพรียงของนกกระเรียนไทย ทำให้สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์และความพยายามในการอนุรักษ์ของภูมิภาคแห่งนี้โดดเด่นขึ้นมา
ขณะที่  ศิลปินท่านอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเดินทางมายังพื้นที่ได้ กำลังทำงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่จะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ ทรัพยากรทางวัฒนธรรม และบริบทของสถานที่นั้น ๆ ผ่านการวิจัยทางไกลอย่างเอาใจใส่  ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
อย่างไรก็ตาม งานเบียนนาเล่ครั้งนี้ยังว่าจ้างศิลปินไทยและผู้สร้างสรรค์ในท้องถิ่นให้ผลิตผลงานขนาดใหญ่ซึ่งช่วยดึงเสน่ห์ทางกายภาพของสถานที่นั้น ๆ ให้ออกมาอย่างชัดเจน งานศิลปะถาวรโดยศิลปินไทยหลากหลายท่านได้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง  ประติมากรรมรูปแมวโคราชของกฤช งามสม เน้นความผูกพันระหว่างวิญญาณนิยมกับความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ ปอม ชาน (ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง) สร้างกระเบื้องเซรามิคขนาดใหญ่โดยผสมผสานความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริงในสวนสัตว์นครราชสีมาด้วย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image