วธ. จัดแสดงประติมากรรม ‘ไอ้จุด’ เปิดฉากสร้างสีสันหอศิลป์แห่งชาติ

วธ. จัดแสดงประติมากรรม ‘ไอ้จุด’ เปิดฉากสร้างสีสันหอศิลป์แห่งชาติ

นายวศินบุรี  สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เปิดเผยว่า ได้จัดแสดงประติมากรรม สุนัขพันธุ์ไทย นามว่า “ไอ้จุด” ด้านหลัง หอศิลป์แห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยได้พัฒนาและทดลองการทำ “ไอ้จุด” ในท่าใหม่ ตามลักษณะทางธรรมชาติของสุนัข นั่นคือ ท่วงท่า กำลัง “ยืนฉี่” สื่อความหมายได้ถึงการแสดงอาณาเขต หรือ เพื่อให้รู้สึกว่ากำลังอยู่ในพื้นที่ ที่ปลอดภัย ซึ่งการทำไอ้จุดในท่านี้ ยังเพราะต้องการแฝงถึงเหตุการณ์ และ เพื่อสื่อนัยยะของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพื้นที่แห่งนี้ ที่กำลังจะเป็นอีกพื้นที่สำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยโดยมีการทดลองทำพื้นผิวด้วยทองคำเปลวสังเคราะห์คุณภาพสูง และพ่นทับด้วยเคลือบพิเศษที่ผสมขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อความแข็งแรง ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และการถูกขูดขีดสัมผัสต่างๆ

นายวศินบุรี  กล่าวต่อว่า เดิมทำจากเซรามิกขนาดเท่าลูกสุนัข ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานชุด Coming closer ที่ประกอบไปด้วยปราสาทแบบเยอรมัน คนแคระ โถไทย เด็กไทย และ ไอ้จุด ที่เป็นลูกหมาพันธุ์ไทย ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของ Street culture ของไทย ซึ่งงานนี้ได้ถูกนำไปจัดแสดง ที่กรุงเทพฯ และ กรุงเบอร์ลิน ในปี 2550 และถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการ รอยยิ้มสยาม งานเปิด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี 2551 ที่ ไอ้จุดถูกเพิ่มบริบทเพิ่มขึ้น หลังจากการเริ่มมีคำว่าศิลปะร่วมสมัยเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากขึ้น และ ขยายเข้าถึงคนในวงกว้างกว่าเดิม ไอ้จุดกลายเป็นตัวแทนของความรู้สึกเหล่านี้ ความอยากรู้อยากเห็น ในงาน รอยยิ้มสยาม ประติมากรรมดินเผาไอ้จุด จึงได้กระจายไปตามงานศิลปะชิ้นต่างๆ ทั่ว หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้คนรู้จักประติมากรรมชิ้นนี้มากขึ้น

Advertisement

นายวศินบุรี เล่าต่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2555 โครงการที่จะสร้างประติมากกรรมให้จังหวัดราชบุรี ได้เริ่มขึ้น และ ในปี 2556 ประติมากรรม ไอ้จุด 4 ชิ้น ได้ถูกเลือกให้สร้างและนำไปติดตั้งที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เนื่องจากเป็นประติมากกรรม ที่ดูง่าย ไม่ซับช้อน ทำให้คนที่แม้ไม่ได้มีพื้นฐานและความสนใจทางด้านศิลปะมาก่อน สนใจและเข้าถึงได้ง่าย อันจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงโดยใช้งานศิลปะร่วมสมัย เพื่อเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้ชม ให้เข้าไปเรียนรู้กับงานที่เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชน ที่สะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์

นายวศินบุรี กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น ไอ้จุด ได้มีโอกาสได้เดินทางไปยังหลายๆ พื้นที่ทั้งไทยและต่างประเทศ สร้างความสนใจและดึงดูดผู้ชมต่างๆ ได้มากมาย และ ทุกครั้งหลังการเดินทาง จะมอบรายได้ที่ได้รับมาจากการเดินทางทั้งหมด ใช้เพื่อสนับสนุน สิ่งของวัสดุ อุปกรณ์ หรือ ซ่อมแซมอาคารหรือสิ่งต่างๆ ที่มีความจำเป็น เพื่อลดภาระของงบประมาณส่วนกลาง และเพื่อความสะดวกในการจัดการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

Advertisement

“ไอ้จุด คือจุดเริ่ม และสิ่งที่เราทำในวันนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น แต่เราหวังให้ราชบุรี เป็นโมเดลตัวอย่างให้กับชุมชนเล็กๆอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ให้มาเริ่มลงมือทำสิ่งที่ต้องการและเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน ด้วยตนเอง มากกว่ารอและหวังว่าทุกสิ่งจะเกิดขึ้นมาเอง หรือ รอให้ใครสักคนจะมาทำให้พวกเรา” ศิลปินศิลปาธร กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image