สศร.พัฒนาทุนวัฒนธรรมตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน 10%

สศร.พัฒนาทุนวัฒนธรรมตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน 10%

นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า   สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) วางนโยบายการดำเนินโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565   เน้นหลักสำคัญคือ การค้นหาตัวตนของแต่ละชุมชนจากมิติต่างๆ ทางวัฒนธรรม เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนาสินค้า และบริการทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ตราสินค้า โลโก้ โทนสี ลวดลายผ้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน ฯลฯ พร้อมทั้งให้นำความรู้ทางด้านศิลปะร่วมสมัยออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม โดยใน ปีนี้ สศร. ก็ตั้งเป้าหมายให้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และมีการขยายตัว ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10

นางเกษร กล่าวอีกว่า  ในปี 2565  สศร. ได้เลือก 3 จังหวัดนำร่อง ในการดำเนินงาน ได้แก่ จ. น่าน ,ฉะเชิงเทรา และประจวบคีรีขันธ์   ซึ่งคัดจากโครงการ 12  เมืองต้องห้าม…พลาด และ 12  เมืองต้องห้ามพลาด…PLUS เมืองรอง 54 จังหวัดตามนโยบายหลักของรัฐบาล  เพื่อพัฒนาพื้นที่ไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว  มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีศักยภาพ ในการพัฒนา และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้งนี้ สศร. จะมีการส่งเสริมชุมชน ให้มีความเข้าใจในการนำทุนทางวัฒนธรรมไปปรับใช้อย่างสร้างสรรค์ส่งเสริมพัฒนาต่อยอดสินค้า และบริการจากต้นทุนทางวัฒนธรรม  เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น  โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ  นักออกแบบชื่อดังของประเทศ  มาร่วมถ่ายทอดความรู้ อีกทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้จะร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในการให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อจะได้เข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“จากการดำเนินงาน  โครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564   พบว่า ได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่จะมีการสร้างสรรค์ ผลงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างสวยงามแล้ว ยังสามารถนำผลงานเชื่อมโยง และเเผยแพร่ ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยมี หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันระดมความคิดเห็น ให้สามารถพัฒนาต่อยอดสินค้า และบริการจากต้นทุนทางวัฒนธรรม  เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศหลัก 100 ล้านบาท “ รองผู้อำนวยการสศร. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image