เกาะติดบูรณะ ‘ตำหนักทองวัดไทร’

สกู๊ปหน้า 1 : เกาะติดบูรณะ ‘ตำหนักทองวัดไทร’

ผ่านมาถึง 3 อธิบดีกรมศิลปากร สำหรับงานบูรณปฏิสังขรณ์ “ตำหนักทองวัดไทร” บางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี หากนับจากวันที่ อนันต์ ชูโชติ ครั้งยังนั่งเก้าอี้หัวเรือใหญ่นำบุคลากรลงพื้นที่เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ตรวจสอบสภาพโบราณสถานดังกล่าวซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม นำมาซึ่งความปลื้มใจของ พระครูกิตติญาณวัฒน์ (ศรี ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดไทร ถึงขนาดนำ “ลิ้นจี่บางขุนเทียน” ที่ในขณะนั้นราคาแตะกิโลกรัมละกว่า 1,000 บาท มามอบให้ทั้งคณะ

ตำหนักทองวัดไทรตั้งอยู่ริมคลองสนามชัย เป็นศาลา หรือเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เดิมมีการลงรักปิดทอง โดยยังหลงเหลือภาพลายรดน้ำบนผนังด้านในฝั่งหนึ่ง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเคยเป็นที่ประทับของ “พระเจ้าเสือ” หรือพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 เมื่อครั้งเสด็จผ่านทางคลองด่าน ต่อมาทรงอุทิศให้แก่วัด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ถึงเรื่องเล่าดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้เสด็จไปชมตำหนักด้วยพระองค์เอง แล้วทรงบันทึกว่าเป็นตำหนักโบราณจริง

ครั้นถึงยุค ประทีป เพ็งตะโก รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมศิลป์ การบูรณะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ “โครงการบูรณะและอนุรักษ์ตำหนักทอง วัดไทร” ด้วยงบประมาณ 9,700,000 บาท ข้อมูลตามป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ต่อประชาชน ระบุระยะเวลาดำเนินงาน กดปุ่มเริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

เข็มนาฬิกาเดินมาจนถึงห้วงสมัยของอธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบัน กิตติพันธ์ พานสุวรรณ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2564 การบูรณะยังคงดำเนินต่อไป

Advertisement
ภาพปัจจุบันอยู่ระหว่างบูรณะ

พงศ์ธร เหียงแก้ว สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวถึงเป้าหมายใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.การทำให้กลับมามั่นคงแข็งแรง โดยคงลักษณะเดิมไว้

2.จัดทำฐานข้อมูลที่ได้จากการอนุรักษ์ให้เป็นระบบ เนื่องจากรอบ 200 ปี มีการบูรณะมาแล้ว 4-5 ครั้งแต่ยังไม่เคยมีการจัดทำฐานข้อมูลใดๆ

Advertisement

3.หาหลักฐานเพื่อตอบคำถามที่คลุมเครือทางวิชาการ เช่น อาคารหลังนี้สร้างสมัยอยุธยาจริงหรือไม่ จุดประสงค์การก่อสร้างคืออะไร บางตำนานบอกเล่าว่าเป็นพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าเสือ บางตำนานบอกว่ามีการรื้อย้ายมาจากพระราชวังหลวงอยุธยา แล้วนำมาประกอบที่นี่

ถามถึงความคืบหน้าล่าสุด ซึ่งข้อมูลตามป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ต่อประชาชน ระบุระยะวันสิ้นสุดสัญญาคือ 1 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทว่า วันนี้ดูเหมือนยังไม่เข้าใกล้เส้นชัย สถาปนิกชำนาญการกรมศิลป์ให้คำตอบว่า ปัจจุบันบูรณะไปแล้วราว 30 เปอร์เซ็นต์ โดยขยายเวลาออกไปจนถึงราวเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน 2565

เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ประเด็นสำคัญคือ การพบหลักฐานใหม่ระหว่างสำรวจ เก็บข้อมูล และบูรณะ นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ ด้วยวิธีถอดรื้อลงทั้งหลัง คล้ายระบบญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของกรมศิลปากร

“ที่ผ่านมาใช้เวลาไปกับการเก็บข้อมูล สิ่งที่เจอมีรายละเอียดน่าสนใจเพิ่มจำนวนมาก เช่น ร่องรอยเงาของลายรดน้ำบนหน้าบันซึ่งเป็นสาระสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เป็นอาคารของใคร ใครสร้าง และพอจะบอกอะไรในเชิงวิชาการได้เพิ่มขึ้น ร่องรอยที่พบเป็นรูปฉัตร เดิมไม่เคยรู้ว่ามี คิดว่าหายหมดแล้ว

นอกจากนี้ยังเจอเศษผ้าที่ตกค้างบนหัวเสา จากการถอดส่วนประกอบการบูรณะครั้งนี้ทำโดยละเอียด ไม้ทุกชิ้นมีการทำฐานข้อมูลทั้งหมดว่าชำรุดเสียหายตรงไหน เกิดจากอะไร ทำรูปแบบ ทำผังความเสียหายทั้งหมด รวมถึงสแกนด้วยกล้อง 3 มิติ ตอนนี้ถึงขั้นการซ่อมเสาไม้และโครงหลังคา ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้น่าจะประกอบตัวโครงสร้างหลักเข้าด้วยกันได้ ส่วนงานอนุรักษ์จิตรกรรม ลายรดน้ำ ซึ่งต้องใช้ผู้ชำนาญการ เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน” พงศ์ธรอธิบาย

ลายรดน้ำบนฝาปะกนที่ต้องใช้ความประณีตสูง

ด้าน ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ด้านอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร ให้ข้อมูลเสริมในประเด็นลายรดน้ำเกือบครึ่งชำรุดไปตามกาลเวลา ทั้งตัวไม้ที่ผุกร่อน “สมุก” (ถ่านทําจากใบตองแห้ง ใบหญ้าคา ฯลฯ ป่นผงผสมรักนํ้าเกลี้ยง สําหรับทารองพื้น) ที่หลุดล่อน ทำให้ลวดลายหลุดหายไป ในขณะที่บางส่วนซึ่งยังมีชั้นสมุกอยู่ ลวดลายทองก็ลบเลือนเช่นกัน ระหว่างการบูรณะจึงต้องพิถีพิถันตั้งแต่ขั้นตอนการถอดฝาปะกน

“หากฝาปะกนขยับจะทำให้ตัวรักสมุกขยับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลายรดน้ำ ดังนั้น สิ่งสำคัญมากคือการป้องกันก่อนถอดรื้อ โดยใช้กาวผนึกกับแผ่นผ้าใยสังเคราะห์ที่นำเข้ามาผนึกไว้ก่อนในส่วนที่บอบบางมากๆ เพื่อให้แข็งแรง ไม่แยกตัว จากนั้นจึงค่อยๆ ถอดฝาออกมา โดยไม่ให้ไม้ขยับเขยื้อน หรือขยับเขยื้อนน้อยที่สุด ขั้นตอนต่อไปคือการเสริมความมั่นคงชั้นสมุกเพื่อให้มั่นคงมากขึ้น แต่ตัวลายทองที่ลบเลือนมีการพูดคุยกันว่าจะไม่เติม เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ หากเติมเข้าไปสุนทรียภาพอาจไม่สอดคล้อง เราเน้นการสงวนรักษาในแง่มรดกความทรงจำ” นายช่างกรมศิลป์กล่าว

นอกจากนี้ ยังเล่าถึงข้อมูลจากภาพถ่ายฟิล์มกระจกสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทำให้ทราบว่าปูนปั้นรูปครุฑที่ประดับบนยอดจั่วปรากฏมาแล้วตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างน้อย และคาดว่ามีตั้งแต่แรกสร้าง โดยอยู่ระหว่างการพิสูจน์

เป็นโครงการสำคัญที่ต้องติดตามแบบตาไม่กะพริบ ไม่ใช่เพียงเพราะตำหนักทองคือโบราณสถานสำคัญ หากแต่การบูรณะโดยการรื้อถอนทั้งหลังแล้วประกอบขึ้นใหม่ อาจถูกใช้เป็นโมเดลบูรณะอาคารไม้อื่นๆ ต่อไป ที่น่าสนใจกว่านั้นคือฐานข้อมูลที่ย้ำชัดว่า การอนุรักษ์และบูรณะไม่ใช่เพียงการซ่อมแซม ทว่า คือการศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดความรู้จากเมื่อวานสู่วันพรุ่งนี้ของมรดกวัฒนธรรมของไทย

ก่อนบูรณะสภาพทรุดโทรม ตัวอาคารโย้เอียง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image