วธ.ส่งดีไซเนอร์พลิกโฉมเพิ่มมูลค่าผ้าร่วมสมัยชายแดนใต้

นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้จัดทำโครงการ อบรมและพัฒนา ศิลปะลายผ้าร่วมสมัยให้แก่กลุ่มผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองในชุมชนต่างๆ เพื่อต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาประเภทสิ่งทอ และสร้างคุณค่า และมูลค่าความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 4 อำเภอของสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย โดยตั้งแต่กระบวนการหาข้อมูลใช้วิธีลงพื้นที่สำรวจปัญหาและจัดเก็บข้อมูลทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ ทั้งการจัดทำเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สนทนาปัญหาต่างๆ กับช่างทอและผู้ประกอบการในพื้นที่รวมถึงบุคคลทั่วไป จากนั้น นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่ง อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจากการสำรวจปัญหาที่พบ คือ กลุ่มทอผ้าส่วนใหญ่ขาดแนวคิด และขาดการชี้นำ แนวทางในการพัฒนาด้านการออกแบบ ลวดลายผ้า ทำให้ขาดทิศทางในการพัฒนารูปแบบผ้าทอมือ แนวประยุกต์ ให้มีความน่าสนใจและแตกต่าง ไปจากผลิตภัณฑ์ ผ้าทอแบบดั้งเดิม ส่งผลให้เกิด การผลิตซ้ำเป็นจำนวนมากจนเกิดปัญหาตามมาในเรื่องราคาและการตลาด โดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการของตลาดที่ลดลง การลดราคาผ้าทอ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ต่ำกว่าต้นทุน

นางเกษร กล่าวต่อว่า สศร. จึงได้ส่งนักออกแบบแฟชั่นเครื่องแต่งกายมืออาชีพ ได้แก่ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ธันย์ชนก ยาวิลาศ หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล เอก ทองประเสริฐ ปัญจพล กุลปภังกร ศรัณย์ เย็นปัญญา ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ ดาเนียล ซู ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ และเอ็ดวิน อาว เป็นต้น มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เทคนิคและประสบการณ์ให้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากชุมชนต่างๆ โดยพบว่า สามารถสร้างสรรค์และพัฒนารูปแบบของผ้าทอมือ จากแรงบันดาลใจในลวดลาย ผ้าโบราณให้เกิดลวดลายใหม่ ขึ้น ด้วยการใช้หลักการลดทอน เพิ่มขยาย รวมถึงการสลับตำแหน่งการจัดวางลวดลายใหม่ รวมถึงการให้เทคนิค แนวคิด การสร้างลวดลายโดยนำเอกลักษณ์ ท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบสิ่งทอได้ ทำให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นสามารถนำความรู้และความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดในการพัฒนาลายผ้ารูปแบบใหม่ๆให้เป็นผลิตภัณฑ์จากลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแฟชั่นเครื่องแต่งกายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เสริมสร้างรายได้ มียอดจำหน่ายต่อปีเพิ่มมากขึ้น ถึงร้อยละ 20 อีกทั้งสร้างความภาคภูมิใจ ให้ชุมชนต่างๆ จากการผสมผสาน ภูมิปัญญาสิ่งทอพื้นเมืองเข้ากับแนวทางศิลปร่วมสมัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

“นอกจากนี้ สศร. ยังได้นำข้อมูลและภาพผลงานการออกแบบผ้าไทยในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ และโครงการพัฒนาการออกแบบลายผ้าร่วมสมัยไทยชายแดนใต้สู่สากล โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เข้าร่วมโครงการอบรมฯ ได้แก่ รายาบาติก บาติกเดอนารา ตันหยงปาตานี ศรียะลาบาติก อาดือนันบาติก เก๋บาติก อิบรอเฮงบาติก ซาโลมา ปาเต๊ะ บาติกบ้านบาโง อ่าวมะนาวบาติก อัลฮามีนบาติก มีดีที่นาทับ นำมาเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และแนวคิดให้ผู้ที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ทางเพจเฟสบุ๊ก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ด้วย” รองผอ.สศร. กล่าว

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image