จาก ‘โซเมีย’ ถึง ‘เยาวราช’ 3,000 ปีสัมพันธ์จีน-ไทย

แม้ทราบกันดีว่าสัมพันธ์ไทย-จีน ไม่ได้เริ่มต้นปักหมุดจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ทว่า ย้อนหลังไปไกลในเส้นเวลาประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดังปรากฏหลักฐานนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารลายลักษณ์ จนถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่สะท้อนอิทธิพลทางความคิดผ่านศิลปกรรม อีกทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่หลอมรวมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนบนแผ่นดินไทย

รวมถึง ‘ตรุษจีน’ ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนร่วมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาพ้นผ่าน การศึกษาประวัติศาสตร์ยิ่งเพิ่มพูน ปรากฏข้อมูลมากขึ้นตามลำดับ
สัมพันธ์แนบแน่นระหว่างจีน-ไทย ที่ทั้งลึกซึ้งและกว้างไกลไปกว่านั้น ถูกเปิดเผยและนำเสนอข้อคิดใหม่ๆ ดังเช่นประเด็นของ ‘โซเมีย’ ที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีน หรือทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซี พื้นที่อยู่อาศัยของ ‘เย่ว์’ ซึ่งเป็นคำเรียกรวมหลากกลุ่มของคนต่างภาษา หนึ่งในนั้นคือ ไท-ไต หรือ ไท-กะได ตระกูลภาษาที่คน ‘ไทย’ ในปัจจุบันใช้ในการสื่อสาร

จากห้วงเวลานับพันๆ ปี ที่ ‘โซเมีย’ ในวันนั้น ถึงไชน่าทาวน์ ‘เยาวราช’ ซึ่งเสียงประทัดแห่งการเฉลิมฉลองตรุษจีนดังขึ้นในชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนในวันนี้

Advertisement

ภาษา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี เกี่ยวโยงสัมพันธ์ ผนึกแน่นราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ย้ำชัดความเป็นมาจากเมื่อวาน ที่ส่งผลต่อปัจจุบัน จวบจนวันพรุ่งนี้

‘โซเมีย’ จีนตอนใต้ แหล่งเก่าสุดตระกูลภาษา ‘ไท-ไต’

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า เดิมสิ่งที่เคยเข้าใจกันมาคือ ‘คนไท’ ก่อตั้งหรือเป็นแกนกลางอาณาจักรใหญ่ 2-3 แห่งจากเสฉวนถึงยูนนาน แต่การศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์จีน พบว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะไม่มีตรงไหนเลยที่แสดงว่าคนไทยมีส่วนร่วมในนั้น แต่คนไทน่าจะอยู่ปนกับกลุ่มที่เรียกว่า ‘เยว่’ หลายเผ่าพันธุ์ทางตอนล่างของลุ่มน้ำแยงซีที่สามารถพัฒนาขึ้นมาสร้างรัฐหลายแห่ง แต่ไม่ใช่รัฐใหญ่

Advertisement

คนกลุ่มนี้ จีนเรียกว่า ‘คนป่าเถื่อน’ ราว พ.ศ.200 จีนยกทัพมาปราบปราม เยว่ส่วนหนึ่งหนีขึ้นเขา บนพื้นที่ซึ่ง เรียกว่าโซเมีย (Zomia) ซึ่งมาจากคำว่า ‘โซมี’ ในภาษาตระกูลทิเบต-พม่า แปลว่า ‘คนที่อยู่บนที่สูง’ ครอบคลุมพื้นที่ในอุษาคเนย์ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร

เมื่อกลุ่มเย่ว์หนีขึ้นเขาแล้ว ที่เหลือซึ่งไม่ได้ขึ้นเขาซึ่งเป็นจำนวนที่มีมากกว่าได้ปะปน กลมกลืนไปกับจีน
อีกราว 1,000 ปีต่อมา คือช่วง พ.ศ.1200-1300 (ตรงกับสมัยทวารวดี) จีนพัฒนาที่ราบ คนป่าเถื่อนกลายเป็นจีน มีทั้งการอพยพขึ้นเขาและลงเขา โดยพวกที่อยู่ข้างล่างคือที่ราบสร้างรัฐได้ และมีอำนาจเหนือกลุ่มที่อยู่บนเขา

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลา 1,000 ปี ระหว่าง พ.ศ.200-พุทธศตวรรษที่ 13 คนไทอยู่ไหน มีคนไทหรือยัง ไม่มีหลักฐาน แต่ราว พ.ศ.1200-1300 คนจีนพูดถึงกลุ่มคนป่าเถื่อนที่มีอัตลักษณ์ เช่น กลุ่มที่ย้ายไปยังลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งก็คือพวก ‘ชาน’ ตรงไหนมีหุบเขา เป็นพื้นที่ไม่ใหญ่ เป็นที่อยู่ของพวกไต-ไทซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตามประเพณี เช่น เมื่อพ่อเสียชีวิตที่ดินจะถูกยกให้ลูกคนเล็ก แล้วลูกคนโตต้องย้ายออกไป ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เคลื่อนย้ายอย่างมากมาย

สำหรับประเด็นเรื่องภาษา ศ.ดร. นิธิ เผยว่า เป็นเรื่องที่พูดยากมาก นักภาษาศาสตร์ระบุว่ามีภาษาไทแล้ว โดยพยายามสร้างภาษาสมมุติที่เรียกว่า ‘Proto-Tai’ หรือ ‘ก่อนภาษาไท’ ขึ้นมา ในเวลาต่อมา ภาษาไท มีอิทธิพลในการค้าทางบกอย่างยิ่ง กลายเป็นภาษากลางทางการค้าในท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เชื่อว่า แหล่งเก่าสุดของตระกูลภาษาไท-ไต หรือ ไท-กะได อยู่ที่โซเมีย บริเวณซึ่งปัจจุบันคือมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง กับทางเหนือของเวียดนาม โดยชาว ‘ฮั่น’ เรียกกลุ่มคนซึ่งอาศัยในบริเวณดังกล่าวว่า ‘เย่ว์’ เป็นคำเรียกรวมคนหลายชาติพันธุ์และตระกูลภาษา แต่มีภาษาตระกูลไท-ไต เป็นภาษากลางดังเช่นที่ ศ.ดร.นิธิ ระบุข้างต้น ในห้วงเวลาต่อไปข้างหน้า ผู้คนในโซเมียมีการโยกย้ายหลายทิศทางตามเส้นทางการค้ากระทั่งลงไปตั้งหลักแหล่ง มีอำนาจทางภาษาและวัฒนธรรม อยู่ร่วมกับคนในตระกูลภาษาอื่น ต่อมา กลุ่มที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่จะกลายเป็นเป็นประเทศไทยในภายหลัง สืบมาจนปัจจุบัน เรียกตนเองว่า ‘คนไทย’

ใกล้ชิด ‘ฮั่น’ จีน-ไทยสัมพันธ์ ปฏิทิน ขวัญ ถึง ‘หม้อสามขา’

สำหรับหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมบ่งชี้การติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างฮั่น กับชาติพันธุ์ต่างๆ มีมากมาย ดังที่ ศาสตราจารย์เจีย แยนจอง ผู้เชี่ยวชาญไทศึกษาอันดับต้นๆ ของโลก เคยหยิบยกไว้เป็นตัวอย่างสำคัญ อาทิ ‘แม่ปี ลูกปี’ ปีหนไทที่ยังใช้อยู่ในปฏิทินล้านนา มีต้นแบบจากระบบปฏิทิน ‘กานจือ’ ของจีน, สิบสองนักษัตร, การนับถือ ‘แถน’ ซึ่งฮั่นเรียก ‘เทียน’ หมายถึง (ผู้เป็นใหญ่บน) ฟ้า รวมถึง ความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ ซึ่งเป็นคำเดียวกับ ‘เฮวิ๋น’ หรือ ‘หวั๋น’ (กวางตุ้ง) และ ‘ฮุ้น’ (แต้จิ๋ว) โดยเชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อเดียวกันมาแต่เดิม

นอกจากนี้ ยังปรากฏโบราณวัตถุสำคัญอย่าง ‘หม้อสามขา’ ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรม ‘ลุงชาน’ หรือ ‘หลงซาน’ ของจีน (Longshan culture) เมื่อหลายพันปีมาแล้ว กระจายตัวในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลงไปถึงมาเลเซีย
ปริวรรต ธรรมปรีชากร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยจีน เผยข้อมูลว่า มีการเครื่องปั้นดินเผาจีนยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ.341-551) ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทย

หม้อสามขา พบที่อำเภอบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และอีกหลายแหล่งโบราณคดีในไทย รูปแบบสอดคล้องกับภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมลุงชานหรือหลงซานของจีน (ภาพโดยกรมศิลปากร)

ราชสำนัก-ชาวบ้าน การค้า อาหาร ‘สำรับจีน’ สู่ ‘ความเป็นไทย’
ครั้นเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ภาพสัมพันธ์ยิ่งปรากฏชัด นอกเหนือจากหลักฐานเอกสารจากฝั่งจีนสมัยราชวงศ์ชิงที่กล่าวย้อนไปถึงราวราชวงศ์หมิงตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งระบุว่ามีชาวจีนจากมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และฝูเจี้ยนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสยามแล้ว ยังปรากฏจิตรกรรม ‘พ่อครัวจีน’ ที่ผนังฝั่งทิศใต้ของกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา สะท้อนว่าอาหารจีนมีบทบาทอย่างน้อยที่สุดในราชสำนักอยุธยา ทั้งยังแพร่เข้ามาใน’ความเป็นไทย ‘โดยมีหัวใจคือ ‘กระทะเหล็ก’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญ พบหลักฐานในสำเภาจีนอายุราว พ.ศ.1900 ที่จมทะเลใกล้เกาะคราม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี รวมถึงพืชผัก ซึ่งถูกขนจากจีนถึงไทยและบ้านเมืองในอุษาคเนย์โดยขบวนเรือสมุทรยาตราของแม่ทัพเจิ้งเหอ หรือซำปอกง

เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ การที่จีนหนุน ‘เจ้านครอินทร์‘ กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มสยามสุพรรณภูมิลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองให้ขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยา จึงสามารถควบคุมทั้งสุพรรณฯ อยุธยา นครศรีธรรมราช ฯลฯ ความมั่งคั่งของอยุธยาจึงชัดเจนขึ้น นับแต่นั้นกรุงศรีอยุธยากับจีนมีความสัมพันธ์ทางการเมืองในระบบบรรณาการหรือที่รู้จักทั่วไปในภาษาจีน สำเนียงไทยๆ ว่า ‘จิ้มก้อง’ แปลว่าเครื่องราชบรรณาการ หรือเครื่องถวายจักรพรรดิจีน

เจ้านครอินทร์ไปเมืองจีนและได้ขึ้นเฝ้าจักรพรรดิจีน เมื่อช่วง พ.ศ.1900 และ ‘สังคโลก’ ก็เป็นเทคโนโลยีที่เจ้านครอินทร์รับจากจักรพรรดิจีน แล้วเปิดพื้นที่สร้างเตาเผาแหล่งผลิตที่สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, สิงห์บุรี ส่งขายต่างประเทศ

จิตรกรรมชาวจีนในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา (ลายเส้นโดยพเยาว์ เข็มนาค)

ตลอดห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ คนจีนเดินทางอพยพสู่สยามอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยปัจจัยจากภาวะภัยแล้ง และความยากจน รวมถึงนโยบายของราชสำนักสยามที่ส่งเสริมให้ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

กรุงศรีอยุธยา มีตลาดคนจีนหลายแห่งทั้งเล็กและใหญ่ ปรากฏใน ‘เอกสารจากหอหลวง’ อาทิ ‘ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร’ บนถนนย่านในไก่ เชิงสะพานประตูจีนไปถึงเชิงสะพานประตูในไก่ มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีน ไทย นั่งร้านขายสรรพสิ่งของมีเครื่องสำเภา เครื่องทองเหลืองทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถโอชาม มีแพรสีต่างๆ อย่างจีน และไหมสีต่างๆ มีเครื่องมือเหล็กและสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีนมีครบ มีขายของรับประทานเป็นอาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีน

‘ตลาดน้อย’ ย่านสามม้า ตั้งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปถึงบริเวณประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง คนจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งจีนต่างๆ หลายชนิดหลายอย่างมีช่างจีนทำโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างๆ ขาย มีช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้และปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขายทำสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย และรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณตามใจชาวเมืองมาจ้าง
‘ตลาดวัดท่าราบ’ หน้าบ้านเจ้าสัวซี มีตึกแถว 16 ห้อง สองชั้น ที่ชั้นล่างตั้งร้านขายของ ชั้นบนให้คนอยู่
‘ตลาดบ้านจีน’ ปากคลองขุนละคอนไชย (คลองตะเคียน) เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด
จดหมายเหตุลาลูแบร์ บันทึกเรื่องราวของข้าวปลาอาหารในราชสำนักแผ่นดินพระนารายณ์มากกว่า 30 ชนิด ซึ่ง ‘ปรุงตามตำรับจีน’ เพื่อเลี้ยงรับรองคณะราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส
นอกจากนี้ อีกแง่มุมสำคัญคือชาวจีนได้นำความรู้ด้านการเดินเรือสู่คนพื้นเมือง ‘พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน’ คือหลักฐานเก่าสุดที่ระบุชื่อตำแหน่งพนักงานสำเภาล้วนมาจากภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็น จุ่นจู๊ (นายสำเภา), ต้นหน (ดูทางสำเภา), ล้าต้า (บัญชีใหญ่)

บางจีน-กรุงเทพฯ-ทั่วไทย จากโพ้นทะเลสู่สยาม จากวันวานถึงสังคมร่วมสมัย

ถัดมาในสมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ชาวจีนยังโยกย้ายเข้ามาอีกหลายระลอก เมื่อตั้งหลักปักฐานในกรุงเทพฯ ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยช่องทางหลากหลาย ตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน ช่างฝีมือ พ่อค้าแม่ขาย จนถึงรับราชการเป็นเจ้านายอากร

ปรากฏชื่อ ‘บางจีน’ ในเพลงยาวนิราศเมืองเพชรบุรี ของ หม่อมภิมเสน เมื่อกล่าวถึงบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือ ฝั่งพระนคร กรุงเทพฯ บ่งชี้การมีอยู่ของชุมชนคนจีนที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายในพื้นที่ดังกล่าว
กลุ่มคนจีนที่เข้ามาในไทยประกอบด้วย 5 กลุ่มใหญ่ที่แบ่งตามตระกูลภาษา ได้แก่ แต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ โดยในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสำรวจประชากรจีนเฉพาะในกรุงเทพฯ พบว่าจีนแต้จิ๋วมีมากที่สุด สืบมาถึงวันนี้

สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ย่านสาทร

ดร.แสงชัย โสตถีวรกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย คนที่ 15 ให้ข้อมูลว่า คนจีนที่อยู่ในเมืองไทย มี 20 ล้านคน เป็นจีนแต้จิ๋วถึง 12 ล้านคน มีการก่อตั้งสมาคมมานานกว่า 100 ปี แต่หากนับเมื่อจดทะเบียนก็ยาวนานกว่า 8 ทศวรรษ ที่ทำการปัจจุบันตั้งอยู่ย่านถนนจันทน์ เขตสาทร กรุงเทพฯ ให้ความช่วยเหลือชาวแต้จิ๋วในเมืองไทยแบบฉันพี่น้อง บรรพบุรุษชาวแต้จิ๋วที่เข้ามาตั้งรกราก ได้สร้างศาลเจ้า สุสาน โรงเรียน เช่น โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนโกศลวิทยา โรงเรียนนิพัทธ์วิทยา เป็นคุณูปการต่อลูกหลานจีนในไทย
ย้อนกลับไปในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนหลักของชาวจีนแต้จิ๋วอยู่ที่ย่าน ‘สำเพ็ง’ โดยย้ายมาจากท่าเตียนและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนจีนไหหลำ ส่วนใหญ่อยู่ในย่านราชวิถี สะพานเหล็กตอนล่าง ถนนเจริญกรุงฝั่งตะวันตก สำหรับจีนฮกเกี้ยน พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเล ระบุว่า ในยุคกรุงธนบุรี พากันตั้งรกรากทางกุฎีจีน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวฮกเกี้ยนส่วนหนึ่งย้ายไปสร้างบ้านเรือนในย่านที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘ตลาดน้อย’ ชาวจีนแคะ อยู่ในย่านสัมพันธวงศ์ ท่าดินแดง คลองสาน เยาวราช สำเพ็ง ชาวจีนกวางตุ้ง รวมตัวอยู่บริเวณซอยวัดกุศลสมาครและตลาดเก่าย่านสำเพ็ง วัดดวงแข สาทร บางรัก ตรอกจันทน์ เป็นต้น

นอกจากกรุงเทพฯ ชาวจีนกลุ่มต่างๆ ยังตั้งชุมชนกระจายตัวในจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย สร้างความมั่งคั่ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในท้องถิ่นสืบมาถึงปัจจุบัน

ดร.แสงชัย โสตถีวรกุล นายกสมาคมแต้งจิ๋วแห่งประเทศไทย คนที่ 15

ไชน่าทาวน์ ‘เยาวราช’ เขตเศรษฐกิจ พื้นที่วัฒนธรรม

เมื่อปฏิทินเดินทางมาถึงห้วงเวลาร่วมสมัย ภาพจำของคนไทยเกี่ยวกับแหล่งพำนัก ค้าขาย ส่งต่อและสืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมจีนคือ ‘เยาวราช’ ไชน่าทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร สถานที่จัดงานเฉลิมฉลอง ‘ตรุษจีน’ อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ก่อนจำต้องเว้นว่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในระลอกต่างๆ จนถึงสายพันธุ์โอมิครอน

ย่านดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อมีการตัดถนนเยาวราชเข้าไปในเขตชุมชนชาวจีนที่สำเพ็งในสมัยรัชกาลที่ 5 กินพื้นที่ทางตอนใต้ของพระนครในบริเวณถนนเยาวราชและถนนใกล้เคียง เช่น ถนนเจริญกรุงจนถึงสี่แยกราชวงศ์

การตัดถนนเยาวราชเข้าไปในชุมชนชาวจีนที่สำเพ็งสมัยรัชกาลที่ 5 นำมาซึ่งย่านสำคัญที่ขยายตัวกลายเป็นเขตเศรษฐกิจในเวลาต่อมา
ร้านของชำ เครื่องกระป๋อง สินค้าจากต่างแดน ฯลฯ ในเยาวราช มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จวบจนปัจจุบัน

วีระยุทธ ปีสาลี นักวิชาการเจ้าของผลงาน ‘ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2427-2488’ ค้นคว้าข้อมูลพบว่า บรรยากาศร้านค้าในย่านสำเพ็งและเยาวราชเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วยร้านขายหมู ขายผัก ร้านหนังสือ ร้านเครื่องประดับเงินและหยก น้ำหอม อาหารกระป๋อง สินค้าจากยุโรป และอีกมากมาย เปิดขายในเวลากลางวัน

ระหว่าง พ.ศ.2460-2480 สำเพ็งและเยาวราชเติบโตขึ้นกว่าเดิมด้วยการเป็นเขตเศรษฐกิจและย่านกลางคืนของเมืองสมัยใหม่มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร ร้านค้า ร้านกาแฟ และอื่นๆ แต่ที่ดึงดูดผู้คนได้มากที่สุดคือ ‘โรงงิ้ว’ รองลงมาคือภัตตาคาร เช่น ภัตตาคารหย่งซิน (ย่งเฮง) ตั้งอยู่ที่สี่แยกวัดตึก และภัตตาคารเยาวยื่นตั้งอยู่บนชั้นสามของตึกที่อยู่ตรงข้ามกับโรงงิ้วเทียนกัวเทียน (โรงงิ้วทีอ่วยที) เป็นต้น

เป็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีนอันแน่นแฟ้นทั้งสังคม การค้า วัฒนธรรม และมิติหลากหลาย จากที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีนบนเส้นทางยาวไกลถึง 3 สหัสวรรษ ยั่งยืนนานในหัวใจของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทยจวบจนศักราชใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาบรรจบ

งานศิลป์ร่วมสมัยกลิ่นอายวัฒนธรรมจีนในย่าน ‘ตะลัคเกียะ’ หรือ ‘ตลาดน้อย’ กรุงเทพฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image