เหนือความงามคือจิตวิญญาณ ‘ศาลเจ้าจีน’ ในเมืองไทย มรดกโพ้นทะเลสู่ยุคร่วมสมัย

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง แคะ
คือ 5 กลุ่มหลักของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในสยามนับแต่ครั้งอดีตกาล

ไม่เพียงสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามสะท้อนรากเหง้าตัวตน ผ่านภาษา อาหาร นาฏศิลป์ และอีกมากมาย หากแต่ยังสรรค์สร้างสถาปัตยกรรมแห่งจิตวิญญาณ ดังเช่น ‘ศาลเจ้าจีน’ ที่สถิตของเทพเจ้าตามความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเลบนผืนแผ่นดินไทย

เป็นศูนย์รวมจิตใจทั้งในวิถีชีวิตประจำวัน อีกทั้งเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะ ‘ตรุษจีน’ ซึ่งการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลในห้วงเวลาก้าวย่างสู่ปีใหม่คือสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมาอย่างยาวนาน

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คือเจ้าของงานวิจัยที่กลายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กปกสีแดงสะดุดตาในชื่อ ‘ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ’ เปิดเผยถึงเรื่องราวลึกซึ้งทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภูมิหลัง แนวคิด การปรับตัว ผสมผสาน และการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์
บอกเล่าที่มาที่ไปของศาลเจ้ามากมายที่ไม่ธรรมดา เช่นเดียวกับชีวิตของเจ้าตัวผู้เป็น ‘ลูกหลานจีนโพ้นทะเล’ เต็มตัว

Advertisement

บิดามีเชื้อสายไหหลำ มารดามีเชื้อสายแต้จิ๋ว

เฉินหลิ่วหลิง คือชื่อจีนตามสำเนียงจีนกลางที่ตั้งโดย ‘อากง’ ด้วยคำอธิบายว่า หมายถึง เสียงหยกชิ้นเล็กๆ ซึ่งเวลาโดนลมจะมีเสียงดังน่ารัก

จบปริญญาตรี จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ไปศึกษาด้านศิลปะจีน ณ สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จนจบปริญญาเอก

Advertisement

นับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจีนที่น่าจับตายิ่ง

จากสิ้นปีสู่ ‘ศักราชใหม่’ ไหว้ ‘ศาลเจ้า’ ในห้วงเปลี่ยนผ่าน

“ศาลเจ้าจีน แปลมาจากคำว่า เมี่ยว กง หรือถัง เป็นเหมือนบ้านของเทพเจ้า เกี่ยวข้องกับเทพในลัทธิเต๋า คนจีนเชื่อในการนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติและเทพเจ้าหลากหลาย มีเทพฟ้า เทพดิน เทพที่เกี่ยวกับการค้าขาย การเดินเรือ สมัยก่อนเมื่อต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล จะต้องไปบูชาเจ้าแม่มาจู่ หรือเจ้าแม่จุ้ยบ้วยเนี้ยและในเทศกาลต่างๆ อย่าง ตรุษจีน ช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากสิ้นปีสู่ต้นปีใหม่ ต้องไปไหว้ขอบคุณเทพเจ้าที่ช่วยเหลือมาตลอดปี หรือขอพรให้ปีใหม่นี้มีความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงการแก้ชง”

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ กล่าวท่ามกลางความงดงามของ ศาลเจ้าพ่อบ้านหม้อ เล่าปึงเถ่ากง หนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ย่านพระนคร กรุงเทพฯ โดยมีประวัติย้อนหลังนับร้อยปี พร้อมชี้ให้ชมโครงสร้างหลังคาซึ่งมีเสาเล็กๆ เชื่อมแผ่นไม้โค้งแกะสลักอย่างวิจิตร เรียกว่า โครงสร้างแบบ ‘ชาเหลียง’ ของกลุ่มชาวจีนตอนใต้ คือจีนอพยพ ที่เข้ามาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

มากกว่า 200 แห่ง คือ จำนวนศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูล กทม. แต่เชื่อว่าในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น

“ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นระหว่างสมัยรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นก็ยังมีการสร้างอยู่เรื่อยๆ ตามความศรัทธา ถ้าคนศรัทธาอยากจะสร้างก็สร้างได้”

ถามว่าองค์ประกอบสำคัญของศาลเจ้าจีน คืออะไรบ้าง?

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ เริ่มที่ทางเข้าโดยบอกเล่าว่าโดยทั่วไปมักมีลักษณะเป็นซุ้ม แต่หากเป็นศาลขนาดใหญ่มากๆ บางครั้งก็สร้างเป็นอาคารทางเข้า ศาลเจ้าจะเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ก่อสร้าง หากพื้นที่กว้าง อาจมีอาคารมากกว่าทั่วไป เช่น มีอาคารทางเข้ามุ่งสู่ลานกว้าง อาคารซ้าย-ขวาและอาคารประดิษฐานเทพเจ้าประธาน แต่ไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ก็เน้นความสมมาตร ไม่สร้างกระจัดกระจาย โดยปกติศาลมักบูชาเทพ 3 องค์ องค์ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงกลาง ส่วนทางซ้ายและขวาเป็นเทพที่มีความสำคัญรองลงมา

ศาลเจ้าพ่อบ้านหม้อ เล่าปึงเถ่ากง

ไม่ปิดกั้น ให้ความสำคัญ ‘เทพท้องถิ่น’

ปุนเถ้ากง คุ้นหูคนไทย ‘ไม่มีในเมืองจีน’

สำหรับเทพประธานของศาลเจ้าบ้านหม้อคือ ปุนเถ้ากง ซึ่งแม้คุ้นหูคนไทย ทว่า ในจีนไม่มีชื่อเทพเจ้าองค์นี้แต่อย่างใด

“รศ.ดร.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่านทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่า ปุนเถ้ากง หมายถึง หัวหน้าที่เป็นผู้ชายและอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีคำอธิบายว่า นี่คือ เทพเจ้าที่ ซึ่งในจีนก็มี แต่ใช้ชื่ออื่น เช่น แปะกง พอเข้ามาในไทย เปลี่ยนเป็นชื่อนี้ กลายเป็นเทพผู้ชายที่อยู่ตรงนี้ คอนเซ็ปต์เริ่มกว้าง มีรูปแบบหลากหลาย อาจเป็นเทพที่แต่งตัวแบบจีนก็ได้ ชุดทหารก็ได้ เป็นขุนนางฝ่ายบุ๋นก็ได้ ฝ่ายบู๊ก็ได้

ศาลเจ้าจีนบางแห่งใช้เทวรูปพระวิษณุ พระนารายณ์ ตั้งเป็นปุนเถ้ากงก็มี เป็นพระพุทธรูปแบบไทย แต่งตัวแบบเทวดาก็มี แสดงให้เห็นถึงการเปิดใจของคนจีนที่เข้ามาอยู่ในอาศัยในไทย น่าสนใจว่า คนจีนรักในความเชื่อของตัวเอง แต่พอมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ ก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องนับถือเทพของตัวเองเท่านั้น ท้ายที่สุดจึงเห็นการผสมผสาน อย่างศาลเจ้าบ้านหม้อ ก็มีท้าวมหาพรหมด้วย บางศาลเจ้ามีเจว็ดแบบไทยๆ เป็นการให้ความสำคัญกับเทพท้องถิ่น” ผศ.ดร.อชิรัชญ์อธิบายก่อนให้ข้อมูลว่าศาลเจ้าใดมีปุนเถ้ากงเป็นเทพประธาน ก็บ่งชี้ด้วยว่าน่าจะเป็นศาลที่ก่อตั้งโดยชาวจีนแต้จิ๋ว

“จริงๆ แล้ว หลายๆ ศาลของคนจีนหลายกลุ่มบูชาปุนเถ้ากงอยู่ แต่ศาลที่มีปุนเถ้ากงเป็นประธานเกือบทั้งหมดเป็นศาลที่ก่อตั้งโดยคนแต้จิ๋ว”

(จีน)หลากกลุ่ม (สถาปัตย์)หลายสไตล์ ทุกรายละเอียดมีความหมาย

จากศาลเจ้าบ้านหม้อ หากมองในภาพกว้าง เทพเจ้าประธานของศาลเจ้าต่างๆ ก็บ่งบอกถึงกลุ่มชาวจีนที่ก่อตั้ง อีกทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมและงานประดับก็เช่นกัน

“แม้จีนมีเทพที่เป็นสากลอยู่ อย่างเทพกวนอูที่คนจีนทุกกลุ่มนับถือหมด แต่เทพบางองค์ก็เฉพาะกลุ่มเหมือนกัน เช่น ศาลเจ้าพ่อโรงเกือก มีเทพประธานคือ ฮ้อนหว่องกุง ซึ่งเป็นเทพหลักของจีนแคะ ถ้าเป็นไหหลำ อาจจะเคยได้ยินชื่อ จุ้ยบ้วยเนี้ย นอกจากเทพเจ้าแล้ว รูปแบบสถาปัตยกรรมก็เห็นชัด เช่น ศาลเจ้าของแต้จิ๋ว จะประดับด้วยกระเบื้องที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า เชี่ยนฉือ เป็นรูปดอกไม้บ้าง สัญลักษณ์มงคลบ้าง รูปบุคคลบ้าง มีการเจาะผนังเป็นช่องและเขียนภาพมงคลต่างๆ ส่วนศาลเจ้าของจีนกวางตุ้งจะเป็นอีกสไตล์หนึ่งเลย เขาจะใช้กระเบื้องเคลือบสำเร็จรูป การก่อผนังมักปล่อยให้เห็นแนวการก่อแบบเปลือยๆ ไม่มีการประดับลวดลาย” ผศ.ดร.อชิรัชญ์พรรณาอย่างเห็นภาพ

สำหรับประติมากรรมต่างๆ อีกทั้งภาพวาด และศิลปกรรมอื่นๆ แน่นอนว่าล้วนถูกรังสรรค์และจัดวางอย่างมีความหมาย อาทิสิงโตปากประตูที่อยู่คู่กันจนชินตา ข้างหนึ่งเป็นตัวผู้ ข้างหนึ่งเป็นตัวเมีย เป็นคติที่เดินทางผ่านกาลเวลาจากยุคโบราณ พบในสุสานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น โดยทำหน้าที่ ‘ผู้พิทักษ์’ ตลอดมาจวบจนวันนี้

 

ปะทะสังสรรค์ ศาล ‘รุ่นใหม่’ ในความเปลี่ยนแปลง

อีกแง่มุมชวนขบคิดคือการที่ศาลเจ้าจีนหลายแห่งมีภาพ ‘มังกร’ ฝั่งขวา ‘เสือ’ ฝั่งซ้าย โดยมักมีคำอธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์มงคล ทว่า ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ชวนวิเคราะห์เจาะมูลเหตุที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น

“ทำไมมังกรต้องอยู่ขวา เสือต้องอยู่ซ้าย มีแนวคิดน่าสนใจคือ จีนชอบหันสถาปัตยกรรมไปทางทิศใต้ ปัจจุบันเราเชื่อกันเรื่องฮวงจุ้ย แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของภูมิประเทศด้วย เพราะทางทิศใต้ได้แสงเยอะกว่า ให้ลองจินตนาการว่า ถ้าลองเดินเข้ามาในศาลเจ้าจีน ข้างหลังของเราคือทิศใต้ ฝั่งขวาจะเป็นทิศตะวันออก ดังนั้น เทพประจำทิศตามความเชื่อของคนจีน ทิศตะวันออกคือมังกรเขียว ทิศตะวันตกคือเสือขาว

แต่หากถามว่า ศาลเจ้าจีนในเมืองไทยหันไปทางทิศใต้ทั้งหมดหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่แล้ว เพราะขึ้นอยู่กับถนน แม่น้ำ แต่ท้ายที่สุดจะเป็นรูปแบบที่เขาจำว่ามังกรต้องอยู่ข้างนั้น เสือต้องอยู่ข้างนี้ กลายเป็นรูปแบบตายตัว ศาลเจ้าบ้านหม้อยังรักษาแบบแผนนี้อยู่ แต่บางศาลเมื่อมีการบูรณะก็เปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์มงคลอย่างอื่นแทน”

นักวิชาการท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าศาลเจ้ารุ่นใหม่ๆ หลายแห่งสร้างขึ้นต่างจากรูปแบบที่เคยเป็นมา เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมก็เปลี่ยน

“บางครั้งจะเห็นศาลเจ้าจีนไหหลำที่ตั้งขึ้นใหม่มีหน้าตาเหมือนศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว ปักกิ่ง และศาลไทย บ้างก็นำรูปแบบอาคารฝรั่งและพระราชวังต้องห้ามมาสร้างด้วยซ้ำ”

แม้ไม่ได้เป็นไปตามขนบเดิม แต่ก็บ่งชี้ถึงการปะทะสังสรรค์ และความไม่ขาดสายของมรดกวัฒนธรรมอันสืบเนื่องยาวนาน ประจักษ์ชัดผ่านศาลเจ้าเก่าแก่ จนถึงศาลเจ้าแห่งใหม่ๆ ในยุคร่วมสมัย ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าหลักเพียงความงาม หากแต่สะท้อนจิตวิญญาณของชาวจีนโพ้นทะเลจากอดีตถึงปัจจุบัน จากเมื่อวานถึงวันนี้

เปิดบันทึก ‘คาร์ล บ็อค’ เล่าสัมพันธ์ศาลเจ้า-ชุมชนจีน-ชาวสยาม

ศาลเจ้าจีนในไทย การสร้างขึ้นในแหล่งชุมชนไม่ต่างจากในเมืองจีน ความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้าและชุมชนชาวจีนในไทยในอดีต ถูกจดจารผ่านบันทึกของ คาร์ล บ็อค นักสำรวจชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกล่าวถึงชุมชนชาวจีนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ความตอนหนึ่งว่า

‘ตามสองข้างทางเดินมี ศาลเจ้า ร้านเจ็กช่างไม้ ต่อตู้และต่อรถ ไม่ว่าจะเป็นกิจการอะไรก็ตาม จะต้องมียี่ห้อว่าชาวจีนเป็นเจ้าของเสมอ ไกลออกไปอีกเล็กน้อย ข้ามสะพานเหล็กที่ทอดยาวข้ามคลองคู…มีประตูใหญ่โตสวยงาม ตรงทางเข้าไปสู่ตึกใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพิเศษ สำหรับเป็นบ้านรับรองทูตที่เข้ามาในกรุงเทพฯ
ย่านนี้เป็นย่านที่น่าอยู่และสำคัญที่สุดในเมืองนี้ จะได้เห็นความสับสนวุ่นวายต่างๆ นับตั้งแต่โรงรับจำนำของชาวจีน ร้านขายอาหารไทยและจีน…นอกจากนี้ ยังมีร้านขายยาจีน โรงปั้นเครื่องปั้นดินเผาของไทย ร้านเหล้าของไทยและจีน…’
สะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างระหว่างชาวสยามและชาวจีนในชุมชน ทั้งยังฉายภาพชุมชนจีนที่สัมพันธ์กับศาลเจ้าอย่างแน่นแฟ้น

ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ เปิดให้ชาวจีนทุกกลุ่ม รวมถึงชาติพันธุ์อื่น เข้ากราบไหว้สักการะ แต่ผู้ดูแลศาลเจ้า มักจำกัดเฉพาะกลุ่ม เช่น ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว ย่านบางรัก อยู่ในความดูแลของชาวจีนไหหลำ ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง ถนนทรงวาด ดูแลโดยชาวจีนแต้จิ๋ว ศาลเจ้าฮกเลี่ยนเก็ง ย่านเจริญกรุง มีชาวจีนฮกเกี้ยนดูแล เป็นต้น
ขนบเช่นนี้สืบเนื่องยาวนานมาหลายชั่วอายุคน.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image