ส่งปีเก่า รับปีใหม่ มองจีน เห็น (ความเป็น) ไทย ในประเพณี ‘ตรุษจีน’

‘แผนของวันอยู่ที่ตอนเช้า
แผนของปีอยู่ที่ใบไม้ผลิ (ตรุษจีน)
แผนของชีวิตอยู่ที่ความขยัน’

คือภาษิตจีนที่ให้แง่คิดผ่านความลึกซึ้งของความหมาย

“เขาเน้นประโยคหลังว่าต้องขยัน ถ้าขยันก็ต้องกระตือรือร้นตั้งแต่เช้า ตรุษจีนก็ต้องกระตือรือร้นตั้งแต่ต้นปี จะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ความขยัน”

ผศ.ถาวร สิกขโกศล นักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณคดีและวัฒนธรรมจีนอันดับต้นๆ ของไทย อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ แห่งรั้วธรรมศาสตร์อธิบายเพิ่มเติม ก่อนเล่าถึงเรื่องราวของตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญและคึกคักที่สุดของชาวจีนทุกหมู่เหล่า โดยในจีนถือเป็นเทศกาลใหญ่กินเวลายาวนานเกือบ 1 เดือน ประกอบด้วยเทศกาลย่อยต่อเนื่องกันหลายเทศกาล มีคำเรียกเป็นภาษาจีนแตกต่างกันตามยุคสมัยหลายคำ แต่ที่สำคัญและบ่งบอกความเป็นมาของเทศกาลนี้มี 3 คำ ได้แก่ หยวนตั้น แปลว่า วันแรกในรอบปีหรือปฐมวาร, ชุนเจี๋ย หรือ ตรุษวสันต์ และ กั้วเหนียน หรือ กวยนี้ ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ผ่านปี ข้ามปีเก่าสู่ปีใหม่

Advertisement

“เทศกาลหลักของตรุษจีนคือวันสิ้นปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ ปัจจุบันในจีนยังแยกตรุษจีนออกเป็น 2 เทศกาล วันสิ้นปี เรียก ฉูซี่ ตัดปีในคืนสุดท้าย วันขึ้นปีใหม่เรียก ชุนเจี๋ย เทศกาลวสันต์ หรือหยวนตั้น ปฐมวาร ความจริงตัววันตรุษจีนคือวันสิ้นปี ซึ่งก็คือวันไหว้ใหญ่ของตรุษจีนเมืองไทย เพราะตรุษแปลว่าตัด คือ ตัดปี หรือสิ้นปี เช่น ตรุษไทยคือ แรม 15 ค่ำ สิ้นเดือน 4 ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นปีใหม่ เปลี่ยนนักษัตร

สำหรับประเพณีในเทศกาลนี้ นอกจากส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์ เก็บกวาดทำความสะอาดประจำปี แน่นอนว่าสิ่งสำคัญการเซ่นไหว้

Advertisement

ผศ.ถาวร ระบุว่า ในอดีตไม่มีของขายสำเร็จรูปมากมายเหมือนปัจจุบัน จึงต้องเตรียมการเนิ่นๆ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่คึกคักมาก

“กิจกรรมสำคัญในวันสิ้นปีเก่าคือ ไหว้เจ้า และบรรพชน ส่วนใหญ่ไหว้ตอนเข้าตรู่ ของไหว้สำคัญคือ ซาแซ สัตว์ 3 อย่าง หรือ โหงวแซ สัตว์ 5 อย่าง ชา เหล้า ข้าวสวย กับข้าว ผลไม้ และ ก้วย กอ เปี้ย ของกินทำจากธัญพืช เพื่อแสดงความอุดมสมบูรณ์ปัจจุบันใช้ขนมแทนได้ การไหว้บรรพชน ใช้ของเหมือนไหว้เจ้า เพราะบรรพชนมีฐานะเป็นพระเทพบิดรของวงศ์ตระกูล ของไหว้บรรพชนวันนี้จะขาดซาแซและเหล้าไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ผศ.ถาวร ยืนยันว่า หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย หรือเป็นช่วงเวลาที่ข้าวของขึ้นราคา อย่าง ‘หมูแพง’ ก็ลดทอน ปรับเปลี่ยนได้ เพราะประเพณีไม่ตายตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ศรัทธา’ และความตั้งใจ ดังนั้น แม้แต่ ‘ไข่ฟองเดียว’ ก็ไหว้ได้

ไข่ 1 ฟองที่ว่านี้ คือสัญลักษณ์แทน ไก่ 1 ตัว สื่อความล้ำลึกสมเป็นชนชาติแห่งอารยธรรมที่ยาวนานนับเนื่องหลายพันปี

“สมัยก่อน การไหว้ เขาก็เอาของที่ปลูก ที่เลี้ยงไว้มาไหว้กัน มีอะไรก็ไหว้อย่างนั้น แต่ถ้ามีโอกาสก็คัดของดีที่สุดเท่าที่มี และชื่อเป็นมงคล เสียงพ้องกับคำที่เป็นสิริมงคลเท่านั้นเอง เดิมมีไม่กี่อย่าง เช่น ไก่ คือสัญลักษณ์ของความขยันทำมาหากิน เป็ด มาทีหลัง เป็นสัญลักษณ์ของการประสบความสำเร็จ ต่อมา เมื่ออุดมสมบูรณ์ขึ้น จึงเกิดความนิยมไหว้ให้ครบ ทั้งสัตว์ 4 เท้า คือหมู สัตว์ปีก คือไก่ หรือเป็ด และสัตว์มีเกล็ด คือปลา” ปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนอธิบาย

ส่วน ‘ขนม’ ที่ใช้ไหว้ในเทศกาลตรุษจีนมีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่มีชื่อเรียกร่วมกันว่า ‘เหนียนเกา’ แปลว่า ‘ขนมประจำปี’ ขนมไหว้ตรุษจีนในไทยที่เห็นคุ้นตา แน่นอนว่า คือ ‘ขนมเข่ง’ ซึ่งถือเป็น เหนียนเกาชนิดหนึ่ง

“เหนียนเกาทุกถิ่นมีลักษณะร่วมกันคือ ทำด้วยแป้งที่ได้จากข้าวชนิดใดชนิดหนึ่ง ขนมเข่งในไทย มาจากเหนียนเกาของจีนตอนใต้ แต่เปลี่ยนวัสดุห่อเป็นใบตอง เพราะหาง่าย (ในจีนใต้นึ่งในถาดใหญ่ ใช้ไหว้ทั้งถาด เวลากินจะตัดแบ่ง) เมื่อใช้ใบตอง จึงต้องทำเล็กลงเป็นกระทง ถ้าเป็นกระทงใบตองแห้งจะอ่อนย้วยไปมา ต้องใช้เข่งเล็กๆ รองด้านนอก จึงเรียกขนมเข่ง”

เป็นคำธิบายที่ไขปมความเป็นมาของชื่อขนมเข่งทั้งที่ใช้กระทงใบตอง

นอกจากนี้ ขนมอีกหนึ่งอย่างที่ได้รับความนิยมคือ ‘ขนมเทียน’ มาไหว้ด้วย โดยมีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นขนมที่คนไทยสร้างสรรค์ขึ้นมาเองจากการดัดแปลงดัดแปลงสูตรของขนมเข่ง โดยใช้แป้งข้าวเหนียวกวน ใส่ไส้ถั่วบด ปรุงรสเค็มมัน  ปรากฏใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ความว่า

‘รสรักยักลำนำ ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
คำนึงนิ้วนางเจียน เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม’

ถามว่า ตรุษจีนของชาวจีนในประเทศจีน และตรุษจีนในเมืองไทย เหมือนหรือต่างกันมากน้อยเพียงใด
ผศ.ถาวร บอกว่า มีความแตกต่างกันบ้าง แต่ถือว่าไม่มากนัก เทศกาลตรุษจีนในไทย ส่วนใหญ่เป็นไปตามคตินิยมของจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นจีนกลุ่มใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม มีความ ‘รวบรัด’ กว่าที่ทำกันในเมืองจีนมาก ช่วงเทศกาลมี 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันถือซึ่งเรียกอีกอย่างว่า วันเที่ยว มีลูกหลานจีนบางกลุ่มยังไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์อันเป็นกิจกรรมแรกสุดของเทศกาลตรุษจีนด้วย

นอกจากนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่าตรุษจีนเป็นเทศกาลที่แพร่หลายมาก แม้แต่คนไทยผู้ไม่มีเชื้อสายจีนบางส่วนก็ร่วมเฉลิมฉลอง รวมถึงเซ่นไหว้ และขอพรตามศาลเจ้าจีนต่างๆ อย่างไรก็ตาม รากเหง้าที่อันจริงแท้ของการเซ่นไหว้ในวัฒนธรรมจีน คือการ ‘ขอบคุณ’ เป็นหลักใหญ่

“คนจีนไหว้เพื่อขอบคุณ จึงไหว้ตอนสิ้นปี เพราะการทำมาหากินได้ผลอุดมสมบูรณ์มา เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ขอบคุณฟ้าดิน ธรรมชาติ บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้เพื่อขอความคุ้มครองให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข การทำมาหากินในปีต่อไปราบรื่นดี เน้นเรื่องความขยันของตัวเอง ไม่ใช่การขอหรือบนบานให้ได้สิ่งต่างๆ”

ทั้งนี้ เดิมการไหว้ตรุษจีนในเมืองไทย มีการไหว้ 3 เวลา
เช้า ไหว้เจ้า แสดงความเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สาย ไหว้บรรพชน แสดงถึงความกตัญญูและรักวงศ์ตระกูล
บ่าย ไหว้ผีไม่มีญาติ แสดงความเมตตาต่อผู้ยากไร้และรักผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังการไหว้ผีไม่มีญาติในช่วงบ่ายลดน้อยถอยลง ในขณะที่เกิดกระแสนิยมไหว้ ‘ไฉ่ชิ้ง’ เทพแห่งทรัพย์สินตอน 5 ทุ่มอย่างแพร่หลาย

ถัดจากนั้น ครอบครัว ลูกหลาน และผีบรรพชนกินข้าวร่วมกันในอาหารมื้อสำคัญที่สุดในรอบปีและเทศกาลตรุษจีน เรียกว่า ‘เหนียนเย่ฟั่น’ แปลว่า ‘อาหารค่ำประจำปี’ แต้จิ๋วนิยมเรียก ‘ถ่วงอี่ปึ่ง’ หรือ ‘ข้าวพร้อมหน้าสามัคคี’ ถือเป็นช่วงเวลาที่อยู่พร้อมหน้า จากบ้านไปไกลแค่ไหนก็ต้องกลับมา

ครั้นถึงวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีนซึ่งในไทยเรียก วัน ‘ชิวอิ้ก’ แปลว่า วัน 1 ค่ำ (เดือนอ้าย) คนนิยมไปเที่ยวฉลองตรุษจีน จึงเรียกอีกอย่างว่า วันเที่ยว เป็นวันถือเคล็ด ไม่พูดคำหยาบ ไม่เบาะแว้ง ไม่ทำของแตก ไม่กวาดบ้าน ไม่ใช้ของมีคม

ข้อห้ามเหล่านี้ ผศ.ถาวร บอกว่า ‘ไม่ใช่ความงมงาย’ ทว่า สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของคนจีน

“คนจีนเตรียมพร้อมเสมอ คิดการไกล ไม่ทำอะไรเฉพาะหน้า เรื่องข้อห้าม สมัยก่อนความรู้เรื่องการแพทย์ยังไม่มาก ก่อนตรุษจีน คนจึงทำตัวให้พร้อม ให้สุขภาพดี การทำความสะอาดบ้านมีกติกาว่าต้องทำก่อนตรุษจีนตั้งครึ่งเดือน ช่วงตรุษจีนในประเทศจีนยังเป็นหน้าหนาว เขาปิดบ้าน จึงไม่กวาดบ้าน วันชิวสี่ คือ วัน 4 ค่ำ หรือ 5 ค่ำ จึงกวาดออก โดยถือว่าสิ่งนั้นคือความยากจน ต้องขจัดออกไป แต่ถ้ามีสิ่งสกปรกที่คาดไม่ถึงเข้ามา ก็ทำได้ เพียงแต่ให้เตรียมพร้อม

ส่วนการห้ามด่า ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามทำของแตก คนจีนถือ เพราะสิ่งนี้คุณระวังได้ ในช่วงเวลาสำคัญ อะไรที่เป็นโทษ ควรงดเว้น จะเห็นว่าการถืออะไรของคนจีนอยู่ในช่วงเวลาจำกัด ซึ่งก็คือการฝึกวินัยเบื้องต้น”

เหล่านี้คือความหมายที่แฝงอยู่ในประเพณีอันรุ่มรวยจากวัฒนธรรมจีน สู่คนไทยเชื้อสายจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของ (ความเป็น) ไทยอันกอปรขึ้นด้วยความหลากหลาย

ตรุษจีนใน ‘ราชสำนักสยาม’ วัฒนธรรมสัมพันธ์ จีน-ไทย

ไม่เพียงการเฉลิมฉลองในภาคประชาชนและระดับรัฐ ทว่า ประเพณีตรุษจีนยังปรากฏในราชสำนักสยามครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หนังสือ ‘เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้’ โดย ผศ.ถาวร สิกขโกศล ระบุถึงประเพณีตรุษจีนในราชสำนักสยาม ความว่า ในราชสำนักมีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายว่า สาเหตุเกิดจากการที่ชาวจีนนำหมู เห็ด เป็ด ไก่ และขนมต่างๆ มาถวายรัชกาลที่ 3 ในเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมาก จึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์มาฉัน ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย 3 วัน วันละ 30 รูป โดยไม่มีการสวดมนต์

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

นอกจากนั้น ยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์จัดขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้ง 3 วัน หลังจากพระฉันแล้วเลี้ยงข้าราชการ และทรงจ่ายเงินซื้อปลาปล่อยวันละ 10 ตำลึง

อย่างไรก็ตาม ขนมจีนไม่ได้เป็นอาหารจีน เสฐียรโกเศศสันนิษฐานจากชื่อว่าน่าจะเป็นของมอญ ขนม แปลว่า แป้งเส้นหรือเส้นหมี่ จีน แปลว่าต้มสุก ขนมจีนคือแป้งต้มสุก กระบวนการทำและรสชาติมีเค้ามอญมากกว่า เส้นหมี่ของจีนใช้แป้งโรยเส้น แต่ขนมจีนต้องหมักข้าวถึง 3 วัน แล้วจึงนวดให้เละโดยไม่ต้องโม่ จากนั้นมีกระบวนการอีกหลายขั้นจึงจะได้เส้นขนมจีน ขนมจีนแป้งโม่เกิดขึ้นทีหลัง ไม่ใช่ขนานเดิมและดั้งเดิม

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ทำเกาเหลาเลี้ยงพระแทนขนมจีน และทรงปรับปรุงการพระราชพิธีบางส่วน เช่น ทรงสร้างศาลาหลังคาเก๋งขึ้นหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย พร้อมกับมีเทวรูปตั้งบูชา มีเครื่องเซ่นสังเวยตลอด 3 วัน
ต่อมา รัชกาลที่ 5 โปรดให้กลับไปเลี้ยงขนมจีนตามแบบเก่า
นอกจากนี้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐียังได้จัดโต๊ะจีนมาเลี้ยงถวายเจ้านายอีกด้วย.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image